ปัน หลั่งน้ำสังข์ : เรื่อง
ณัฐรัตน์ ธรรมวงค์: ภาพ

เสียงนกร้องโบยบินยามเช้าดังฟังชัด บรรยากาศสดชื่นจากพืชผักนานาพรรณรายล้อม พื้นที่ให้เดินเล่นกับความเงียบสงบจนได้ยินเสียงหัวใจเต้น เหมือนทั้งโลกมีแต่เราเพียงผู้เดียว

ดูไม่ใช่คำบรรยายของสถานที่ในเมืองหลวงอันเร่งรีบวุ่นวาย แต่พื้นที่เช่นนี้มีอยู่จริงในกรุงเทพมหานคร ณ ชุมชนนิเวศสันติวนา ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรเชิงผสมผสานราว 33 ไร่ ย่านถนนสรงประภา เขตดอนเมือง ที่เปิดต้อนรับผู้ใคร่รู้ให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ทำงานอาสาสมัคร ซื้อผักสดปลอดสารเคมีจากทั้งแปลงกลางแสงแดดจ้าและแปลงภายในโรงเรือนที่ดูแลอย่างพิถีพิถัน พร้อมเดินเล่นฟังเสียงนกกว่า 50 สายพันธุ์ 

เดิมพื้นที่นี้เคยว่างเปล่า แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นช่วงปี 2563 เมื่อมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา นำโดย คมสัน หุตะแพทย์ และฝ้าย-กรชชนก หุตะแพทย์ ลูกสาวคนโต เข้ามารับพัฒนาดูแลพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน

“เราคิดเสมอว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นพื้นที่ที่หลายคนเข้ามาใช้ได้ เราอยากเก็บพื้นที่สีเขียวแบบนี้ไว้ คนได้เข้ามาใช้พื้นที่พัฒนาอาชีพ มีเด็กๆ เข้ามาวิ่งสูดอากาศบริสุทธิ์ ทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว มันเป็นอะไรที่ตีเป็นมูลค่าไม่ได้เลย” คมสันกล่าว

ในวันที่อาณาเขตเมืองเริ่มเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง รถติดบนท้องถนนจนน่าฉุนใจ การเข้ามานั่งพูดคุยกับคู่พ่อลูกภายในศาลาไม้ที่ร่มเย็นกลางชุมชนนิเวศสันติวนา เป็นเสมือนของขวัญให้กายใจที่เหนื่อยล้า

เมื่อลองพูดคุยกับตัวแทนของอาสาสมัครทั้งสองรุ่นที่แวะเวียนมาช่วยทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกัน มีตั้งแต่นักศึกษาจบใหม่จนถึงคนวัยเกษียณ เราอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่ศูนย์การเรียนรู้เท่านั้น แต่เป็นชุมชนที่คนเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์ให้มีชีวิตชีวา และเป็นดั่งแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะไปเติบโตต่อตามวิถีของตัวเอง

ชุมชนนิเวศสันติวนา : พื้นที่เรียนรู้เกษตรฉบับลงมือทำจริง
ชุมชนนิเวศสันติวนา เป็นศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่สีเขียวในละแวกเมือง การเรียนการสอนของที่นี่จะเน้นการลงมือด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถนำไปบริโภค ขาย และแบ่งปันให้ผู้อื่น
santiwana02
นอกจากเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานด้านการเกษตร พื้นที่นี้ยังต้อนรับบุคคลทั่วไปที่อยากเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาการเกษตรในเมืองด้วย

พึ่งพาตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น

“ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรมีหน้าที่ทำการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตัวเองและครอบครัวเท่าที่จะทำได้ คิดว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต” คมสัน เกษตรกรและอาจารย์ที่คร่ำหวอดในวงการเกษตรอินทรีย์เผยแนวคิดที่เขายึดถือเสมอมาในชีวิต สิ่งนี้คือความเชื่อรากฐานของพื้นที่ที่เรานั่งอยู่

คมสันเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เรียนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แต่คลุกคลีอยู่กับงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่สมัยเรียน จนต่อมาร่วมก่อตั้งศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จัดงานอบรมและตีพิมพ์วารสาร เกษตรกรรมธรรมชาติ ที่ลงรายละเอียดให้คนเมืองปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างง่ายดาย 

ด้วยข้อมูลที่มีความลึก ปฏิบัติตามได้จริง และเป็นวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ได้รับความสนใจจากทั้งเกษตรกรและคนเมืองที่อยากดูแลอาหารการกินของตัวเองยาวนานถึง 2 ทศวรรษ เกิดเป็นฐานผู้ติดตามจนมีคนเข้าอบรมรวมแล้วนับหมื่นคนต่อปี และทำให้คมสันเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองตามไปด้วย

“เมื่อก่อนผมจัดอบรม สื่อสารกับชาวบ้านว่าไม่ให้ใช้สารเคมีปลูกผัก แต่ยังไม่ได้มีแปลงปลูกผักอะไรเองเลย ก็คิดว่าเราต้องทำเองด้วยเหมือนกัน” คมสันกล่าว 

“พ่อสนใจด้านนี้อยู่แล้ว แต่หันมาทำจริงจังของตัวเองด้านนี้ตอนที่มีเราพอดี” ลูกสาวคนโตเสริมสิ่งที่เธอสังเกตเห็นจากพ่อตั้งแต่เล็ก

“เริ่มจากการปลูกผักกินเองในบ้านเล็กๆ ทำของใช้ในครัวเรือนแบบปลอดสารเคมี พ่อเป็นคนทำอะไรเองหมด เช่น ตอกชิงช้า สร้างบ้านให้ลูกเล่น ทำสบู่ เราซึมซับจากการเข้าไปช่วย ไปแปลงผักทุกเสาร์อาทิตย์ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจหรอกว่าการทำเกษตรคืออะไร” ฝ้ายเล่าต่อ การหัดลงมือทำด้วยตัวเองดูเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวหุตะแพทย์

“เพราะอาหาร สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็น” คมสันเล่าว่าทำไมเขาเชื่อเช่นนั้น “ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หรือเกิดวิกฤตอะไรขึ้น ถ้าเราสามารถดูแลและตั้งฐานที่มั่นของตัวเองก็ไม่ต้องกลัวอะไร มีอาหารที่ปลอดภัยให้กิน ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ และเกิดความมั่นใจในชีวิต

“ที่สำคัญคือเมื่อคุณสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง คุณสามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อ ไม่มีใครอยู่รอดได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว และความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นจากความรู้และไมตรีจิตนี้”

santiwana03
ฝ้าย-กรชชนก หุตะแพทย์ ผู้ดูแลชุมชนนิเวศสันติวนา กำลังอบรมให้ข้อมูลเรื่องดินและส่วนผสมแก่อาสาสมัครเพื่อใช้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์
santiwana04
อาสาสมัครชาวแม่กลองผู้ช่ำชองด้านการพายเรือ กำลังเก็บจอกในสระน้ำเพื่อนำมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์

ชุมชนแห่งใหม่ที่คุ้นเคย

เมื่อปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ครอบครัวหุตะแพทย์ย้ายบ้านมาอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 62 ซึ่งเคยเป็นบ้านของพี่ชายคุณตาของฝ้าย และตัดสินใจเนรมิตพื้นที่ขนาด 100 ตารางวาที่ถูกล้อมรอบไปด้วยตึกไร้ชีวิตให้กลายเป็น “สวนผักบ้านคุณตา” แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรสำหรับคนเมือง ที่มีคนเข้ามาศึกษาอยู่เรื่อยๆ จากความช่ำชองที่เป็นที่รับรู้ในแวดวง

“ช่วงแรกสวนผักบ้านคุณตาเน้นเรื่องเกษตรในเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่เรานำองค์ความรู้อื่นๆ ที่มีและทำมาอย่างต่อเนื่องมาถ่ายทอดด้วย เช่น การทำแชมพู ยาสีฟัน สกัดน้ำมันหอมระเหย

“พอทำมานานๆ และมีเครือข่ายในวงกว้าง มูลนิธิคณะอุร์สุลินเพื่อการศึกษาแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตรงที่เรานั่งอยู่นี้ ติดต่อเข้ามาว่าหาคนช่วยจัดการดูแลพื้นที่ ไม่อยากให้รกร้างว่างเปล่า และไม่อยากให้ขายไปทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร แต่อยากให้ใช้เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ เกิดกิจกรรมที่คนอื่นเข้ามาเรียนรู้ได้

“เมื่อคุยแล้วมีความคิดตรงกัน เราเลยได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการพื้นที่ ถือว่าเป็นปีแรกของพวกเราเหมือนกันที่ได้ลงมือทำการเกษตรในพื้นที่ใหญ่ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง” ฝ้ายเล่า

พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเหมือนสวนป่าที่เต็มไปด้วยต้นหญ้าและต้นไม้สูง ไม่ได้มีการจัดสรรแบ่งส่วนใด ไม่มีโรงเรือนเหมือนปัจจุบัน แต่มีศาลาและบ้านไม้อันเรียบง่ายเย็นสบายอยู่ เป็นพื้นที่สำหรับให้ชาวคริสต์คาทอลิกเข้ามาทำกิจกรรมทางจิตวิญญาณด้วยความเงียบสงบ บุกเบิกพื้นที่โดยบาทหลวงวิชัย โภคทวี และคณะ

“เราเคยเข้ามาปลูกต้นไม้ นอนค้าง ทำกิจกรรมนักศึกษากันที่นี่สมัยอยู่ชมรมคาทอลิกตอนเรียนมหาวิทยาลัย ถือว่าคุ้นเคยกับพื้นที่มานาน แต่ก็ตื่นเต้นที่ตัวเองและครอบครัวจะได้เข้ามารับช่วงในการพัฒนาพื้นที่นี้” ฝ้ายซึ่งจบด้านวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าความรู้สึก

หลังจากพูดคุยกันเรียบร้อย บาทหลวงวิชัยทำการตั้งชื่อพื้นที่แห่งนี้ว่า “สันติวนา” มาจากคำว่าสันติ ผสมกับคำว่าวน- ที่แปลว่า ป่า เพื่อเป็นพื้นที่แห่งสันติสุขทางใจท่ามกลางสภาพแวดล้อมเสมือนป่า

ส่วนทางครอบครัวหุตะแพทย์ขอขยายเพิ่มคำว่า “ชุมชนนิเวศ” เข้าไป เพื่อเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายแห่งความเกื้อกูลกัน เกิดเป็น “ชุมชนนิเวศสันติวนา”

santiwana05
เมื่อเก็บจอกได้เต็มตะกร้า อาสาสมัครช่วยกันนำมาเทตากไว้ แล้วจึงใส่ลงหลุมที่ขุดไว้ให้ทับถมกัน หลังจากนี้อีก 2 เดือน จอกเหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติ
santiwana06
อาสาสมัครนำต้นกล้าใส่ถาดที่มีปุ๋ยและดินอินทรีย์ ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความประณีต ทั้งการคัดเลือกต้นกล้าและปักต้นกล้าลงดินอย่างมั่นคงเพื่อให้เจริญเติบโตได้อย่างงดงาม

ธรรมชาติเกื้อกูล

เมื่อเข้ามาดูแลพื้นที่ โจทย์ที่พ่อ ฝ้าย รวมถึงน้องสาวอีกสองคน (ฝน-กฤดิ์ชนา และปลายฟ้า-กรรณชนิก หุตะแพทย์) ที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นระยะ ตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ จะไม่ปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยเด็ดขาด แม้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมช่วงหน้าฝนก็ตาม

“เราไม่ได้ทำงานด้วยทุนที่มากมาย และอยากลองพิสูจน์ว่าการทำเกษตรผสมผสานกับระบบนิเวศเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว มีทั้งน้ำ ต้นไม้ นก จะทำอย่างไรให้เลี้ยงชีพและพออยู่ได้ ไม่ใช่โค่นต้นไม้ทั้งหมดแล้วมาทำโรงเรือนเต็มพื้นที่ ถมที่ด้วยการทุ่มเงิน ขายผักให้ได้เยอะๆ แต่มองว่าจะจัดสรรพื้นที่ให้เข้ากับพื้นที่เดิมอย่างไร และใช้ระบบการเกษตรแบบเกื้อหนุน (permaculture) ให้ธรรมชาติช่วยจัดการกันเอง” ฝ้ายเล่า

permaculture เกิดจากการรวมคำสองคำ คือ permanent ที่แปลว่าถาวร และ agriculture ที่แปลว่าเกษตรกรรม นิยามขึ้นโดย Bill Morrison และ David Holmgren สองนักนิเวศวิทยา ซึ่งหลักการสำคัญคือการออกแบบระบบนิเวศให้ดูแลกันและกันได้เองเสมือนอยู่ในธรรมชาติ

เช่น ในชุมชนนิเวศสันติวนาเดิมมีต้นกล้วย ฝ้ายจึงนำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นวงกลมกล้วย (banana circle) ปลูกกล้วยล้อมรอบหลุมที่ขุดไว้ตรงกลาง สำหรับเศษใบไม้และขยะอาหาร ปล่อยทิ้งไว้แล้วจะเกิดการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในหน่อกล้วย กลายเป็นปุ๋ยให้เราได้ใช้งานต่อ และตรงขอบวงสามารถปลูกพืชอื่นๆ ให้เจริญงอกงาม เช่นพริก สร้างคุณค่าได้มากกว่าแค่การปลูกกล้วยโดดๆ ที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุนด้วย เพียงแต่ต้องวางระบบอย่างประณีต

จากพื้นที่ทั้งหมด ครอบครัวหุตะแพทย์พยายามจัดสรรพื้นที่ให้มีความหลากหลาย มีทั้งปลูกผักตามร่องดิน สร้างสองโรงเรือนที่ผ่านการทำวิจัยและร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ติดตั้งเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ไว้เก็บบันทึกข้อมูลและกำหนดการจ่ายน้ำ มีทั้งแปลงที่ปลูกบนดินกับตั้งโต๊ะยกระดับขึ้นมา ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพดินและปลอดภัยจากน้ำท่วมมากกว่า แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนและการเตรียมการ

ส่วนผักที่ปลูกภายในมักเป็นผักที่นำไปใช้ทำกับข้าวทั่วไปและตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักสลัด ให้คนเข้ามาตัดซื้อเก็บกลับบ้าน และมีการนำไปบริจาคให้กับโรงเรือนในเครือข่ายอีกด้วย

นอกจากจะดำเนินงานเป็นไปตามแนวคิดของ permaculture แล้ว วิธีคิดเช่นนี้ยังตอบโจทย์ความเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย

“เราต้องการสร้างรูปแบบการปลูกผักที่หลากหลาย เวลาคนเข้ามาศึกษาจะเห็นข้อแตกต่าง เช่นถ้าเขามีพื้นที่ไม่มาก เราก็มีตัวอย่างให้เขาดูว่าทำแบบนี้ได้นะ ถ้าไม่มีโรงเรือนก็ปลูกผักลงภาชนะแบบในโรงอาหารได้เหมือนกัน” 

ปัจจุบันฝ้ายและครอบครัวยังไม่ได้พัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ยังมีอีกหลายความเป็นไปได้ที่รอผู้คนเข้ามาช่วยแต่งแต้มให้เป็นจริง

santiwana07
เมื่อพืชเริ่มเจริญเติบโตในถาดเพาะจะมีการย้ายมาปลูกต่อที่ผืนดินด้านนอก โดยมีระบบรดน้ำอัตโนมัติที่ตั้งเวลาไว้ทุกเช้าเย็นกับจักรยานที่ให้ปั่นสูบน้ำเอง เป็นทางเลือกในการดูแลรักษาพืช
santiwana08
ชุมชนนิเวศสันติวนาเน้นการเกษตรผสมผสานแบบพึ่งพาตนเอง มีระบบการจัดการน้ำภายในและใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงาน

สัมพันธ์ที่สันติวนา

“เรามาอาสาทำงานที่นี่เพราะเขาไม่ได้เน้นวิชาการมาก แต่เน้นให้ลงมือปฏิบัติจริง ทำบ่อยจนชิน รู้สึกว่าสอนแบบนี้ดีมากเลย เราไปทำเองแล้วจะได้รอด” แคท-แคทรียา ดวงแก้วมณี หนึ่งในอาสาสมัครรุ่น 2 ของชุมชนนิเวศสันติวนา ที่ปรกติเป็นนักออกแบบวัยเลข 4 ในโลกการทำงานและแวะเวียนมาเป็นกิจวัตรกล่าว

“เราอยากมาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นจริงๆ ไม่ใช่ปลูกใส่กระถางแบบในเมืองอย่างเดียว ที่นี่สอนให้รู้วงจรชีวิตของพืชตั้งแต่ต้นจนถึงเก็บดอกแล้วกลับมาเป็นเมล็ดอีกครั้ง ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งและมั่นใจขึ้น” แคทเล่าต่อ พร้อมบอกว่าแม้บ้านเธอจะอยู่ย่านห้วยขวางที่ห่างไกลออกไปกว่า 20 กิโลเมตร เธอก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้มาฝึกปรือฝีมือ

ที่สันติวนามีการเปิดรับอาสาสมัครเป็นรุ่นอยู่เป็นระยะ โดยจะได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงในวันเวลาที่สะดวกตามตกลงกัน มีกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น พายเรือเก็บจอกในหนองน้ำเพื่อมาหมักเป็นปุ๋ย ปรุงดินสูตรที่เป็นมิตรต่อแวดล้อม เป็นต้น

“คนที่มาเป็นอาสาสมัครส่วนมากชอบเรื่องเกษตรและต้นไม้อยู่แล้ว เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่มีร่วมกัน สิ่งที่ได้คือการเรียนรู้ และมีส่วนช่วยให้พื้นที่นี้มีศักยภาพต่อคนอื่น”

นอกจากเปิดรับอาสาสมัคร สันติวนายังจัดกิจกรรมอบรมอย่างที่เคยทำมาเนิ่นนาน โดยยึดสามเรื่องเป็นแกนหลักของเนื้อหา 

หนึ่ง-เรื่องอาหาร พวกเขาเปิดสอนการปลูกผักให้คนที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็เรียนได้ มีจัดเป็นหลักสูตรเร่งรัด 1 วัน ตั้งแต่เรื่องการเพาะกล้า ปรุงดิน ทิศทางแสง ทำปุ๋ย ให้พอเห็นภาพและมีประสบการณ์ลงมือทำ

สอง-เรื่องพลังงาน พื้นที่นี้มีการใช้โซลาร์เซลล์ เป็นสิ่งที่คมสันศึกษาหลักการเบื้องหลังมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยจะสอนเน้นหลักการพื้นฐานให้เข้าใจและสามารถนำไปต่อยอด หากต้องการใช้โซลาร์เซลล์ในพื้นที่ของตัวเอง

และสาม-การบริหารจัดการทรัพยากรในครัวเรือน เช่น สอนทำปุ๋ยชีวภาพ ระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตรและโรงเรือน การผลิตสิ่งที่ใช้เองในครัวเรือน เน้นให้เข้าใจถึงแหล่งที่มาของแต่ละวัตถุดิบอย่างชัดเจน รวมถึงช่วยสอนจดทะเบียนการค้า หากต้องการนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ

“ตั้งแต่ 30 ปีที่ผ่านมา เราอบรมเผยแพร่ความรู้เพื่อให้คนนำไปต่อยอด เป็นการสร้างคน มีทั้งไปเป็นเจ้าของศูนย์การเรียนรู้ กลับบ้านไปพัฒนาตามสิ่งที่ตนถนัด เปลี่ยนมุมมอง แล้วไปขยายความคิดต่อในสังคม ได้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรายินดีมากๆ” ฝ้ายกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่ายินดีเปิดต้อนรับทุกคน แต่ขอให้มาเพราะอยากเรียนรู้การเกษตรจริงๆ ถ้ามาเพราะอยากเช็กอินแหล่งท่องเที่ยว คาดหวังการบริการเหมือนร้านกาแฟ อาจต้องผิดหวัง

“เราอยากให้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด สัมผัสกับสิ่งที่ได้กิน เห็นที่มาที่ไปของอาหาร และหวังว่าคนจะได้ซึมซับไปจากกิจกรรมเหล่านี้” 

santiwana09
ฝ้าย-กรชชนก หุตะแพทย์ ผู้ดูแลชุมชนนิเวศสันติวนา เก็บผักสลัดและผักโขมแดงที่ลงมือปลูกเองให้เป็นของฝากจากชุมชนแห่งนี้ด้วยรอยยิ้ม
santiwana10
ผลิตผลสดใหม่ที่ปลูกได้บางส่วนจะถูกนำมาเป็นตัวอย่างให้อาสาสมัครได้เรียนรู้อย่างละเอียด

เหตุผลของการทำงาน

“มาทำตรงนี้ บางทีก็เหมือนอยู่เวิ้งว้างอันไกลโพ้นนะ” ฝ้ายพูด หญิงวัยเลข 3 เพิ่งลาออกจากงานประจำเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อมาดูแลพื้นที่อย่างเต็มตัว

“สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทำงานในออฟฟิศเย็นๆ มีหัวหน้าสั่งให้ทำงานตามโจทย์ แต่ตอนนี้เราต้องบริหารจัดการ จะขายผักเท่าไร อย่างไร จะจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์อย่างไรดี มีรายละเอียดจุกจิก เพราะผักต้องการดูแลเอาใจใส่

“และเราเองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเหมือนกัน จากมีความมั่นคงทางการเงินจากการทำงานบริษัท กลายเป็นมาทำงานตรงนี้แบบพึ่งพาตัวเอง ก็ต้องปรับความคิด มีบางช่วงเหมือนกันที่ไม่มั่นคงในจิตใจ

“แต่มันมักเกิดตอนเราเหนื่อยมาก ๆ พอสังเกตตัวเอง หลับแล้วตื่นมาก็หาย ตอนนี้พูดได้เต็มปาก มั่นใจว่าเราทำได้ รู้สึกว่าเรามีหน้าที่ในการสร้างอาหารดีๆ เป็นคนปลูกและส่งต่อพวกนี้ต่อไป” ฝ้ายกล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมเสริมว่าช่วงปีที่ผ่านมา คนให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินมากขึ้นและโหยหาธรรมชาติ รวมถึงภาคธุรกิจหลายแห่งต้องการเข้ามาพัฒนาการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่โล่งๆ ของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรไม่รกร้าง ไม่เสียภาษีโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งฝ้ายเองก็รับไปช่วยออกแบบแปลงเกษตรให้ด้วย ด้วยกำลังที่ตัวเองทำไหว

“ถึงจุดนี้ เราไม่ได้คิดว่าเลยว่าจะสร้างที่นี่เป็นองค์กร” พ่อของฝ้ายกลับมาร่วมพูดคุย หลังจากแวะเวียนไปคุยกับผู้มาเยี่ยมชม “เจ้าของที่ให้เราใช้สถานที่นี้ฟรีๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตัวเราเองก็ไม่ได้ต้องการหารายได้เยอะๆ คือเงินจำเป็นต่อการดำรงชีวิตนะ แต่สำหรับสถานที่นี้ เราไม่ต้องการให้เป็นธุรกิจแน่นอน

“เมื่อก่อนทำมูลนิธิ คนอบรมเป็นหมื่นต่อปี แต่ความสัมพันธ์เป็นคนรู้จักหรือเพื่อน แต่เราอยากให้ความสัมพันธ์ที่นี่เป็นแบบชุมชน ให้คนได้มาอยู่ตรงนี้และใช้ชีวิตร่วมกัน ทุกวันนี้ตัวเราเองเข้ามาก็เหมือนได้ทั้งทำงานและใช้ชีวิต”

ชุมชนนิเวศสันติวนาเพิ่งผ่านการเข้ามารับดูแลต่อเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ช่วงนี้พวกเขากำลังรอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และจะดำเนินการจัดอบรม กิจกรรมชวนคนดูนก รวมถึงพัฒนาแนวคิดของการใช้พื้นที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์

“อีกโครงการที่คิดไว้คือแชร์ฟาร์ม เรามีพื้นที่ตรงนี้เยอะ ถ้ามีใครที่อยากทำการเกษตร แต่ยังไม่อยากออกไปที่ต่างจังหวัด หรือยังไม่มีพื้นที่ ก็มาทดลองใช้พื้นที่ในนี้ดู อยากปลูกก็อะไรก็มาคุยตกลงกันว่าจะแบ่งปันกันอย่างไร แล้วเราแบ่งพื้นที่ให้เลย และจะมีคนที่เป็นเหมือนโค้ชคอยช่วยดูแล” ฝ้ายเปรยภาพอนาคตที่น่าติดตามสำหรับคนเมืองที่อยากทำเกษตร

ก่อนลาจากกัน ฝ้ายชวนเราเข้าไปเยี่ยมชมผักในโรงเรือน ตัดผักสลัดและผักโขมแดงสีสวยที่ฝ้ายปลูกเองกับมือให้เราเก็บกลับบ้านไปกินรสชาติจากธรรมชาติ พร้อมความรู้และมิตรภาพใหม่ที่เกิดขึ้นจากชุมชนนิเวศสันติวนาแห่งนี้