ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เรียกร้องลงสัตยาบันภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล

เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรม การปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื้อรังจากการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้เร่งนำเรื่องการให้สัตยาบันต่อภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองปกป้องประเทศไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นแหล่งรองรับขยะของเสียอันตรายจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

“อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน” (The Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) หรือ “อนุสัญญาบาเซลฯ” เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดน กำหนดห้ามไม่ให้ประเทศภาคีส่งออกหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนประเทศ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้รับมีการตกลงยินยอมร่วมกัน

วัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาบาเซลฯ คือห้ามส่งออกของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปกำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา

ต่อมามีการกำหนด “ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ” (The Basel Ban Amendment) เพื่อแก้ไข “จุดอ่อน” หรืออุด “ช่องโหว่” ที่เกิดจากการสมยอมกันระหว่างประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองประเทศกำลังพัฒนาจากการรับภาระของเสียอันตรายมากขึ้น โดยระบุห้ามไม่ให้ส่งออกหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนของประเทศที่ให้สัตยาบันในภาคแก้ไขนี้อย่างเด็ดขาด

อนุสัญญาบาเซลฯ เปิดให้ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ (ค.ศ.๑๙๘๙) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) หรือผ่านมาแล้วร่วมสามสิบปี ประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐

อย่างไรก็ดี ในส่วนภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

ปัจจุบันมีประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจำนวน ๙๘ ประเทศให้สัตยาบันภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ อาทิ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รวมถึงประเทศจีนที่ให้สัตยาบันเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนจีนจากการนำเข้าขยะ

การไม่เข้าร่วมในส่วนภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ ของไทย ถูกตั้งคำถามว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ของเสียอันตราย ของใช้แล้ว จากประเทศต่างๆ ยังคงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย อีกทั้งยังดึงดูดให้เจ้าของธุรกิจรีไซเคิลจากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานในไทย โรงงานเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน ขาดการควบคุมด้านมลพิษ โรงงานหลายแห่งดำเนินการโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีน

นับตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ปัญหามลภาวะจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการปนเปื้อนของสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายต่อระบบนิวเศ และสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดที่มีโรงงานรีไซเคิล บ่อฝังกลบ โรงงานคัดแยกจำนวนมาก อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ ฐานที่มั่นด้านความมั่งคงทางอาหาร หากปล่อยให้มีสารพิษปนเปื้อนในพื้นที่ ผู้บริโภคในจังหวัดอื่นๆ ก็จะได้รับอันตราย

การนำเข้าขยะ ของใช้แล้ว จากต่างประเทศยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ ผู้รับซื้อ ขายของเก่า ทำให้ผู้ประกอบกิจการระดับย่อยในประเทศเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับขยะปริมาณมหาศาลที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ และการเข้ามาของกลุ่มทุนที่มีอำนาจผูกขาด

tingkaya06
ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา กิจการคัดแยก ฝังกลบ และรีไซเคิลหลายต่อหลายแห่ง สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สาเหตุสำคัญเกิดจากการนำเข้าขยะอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้ว (ภาพ : 123rf)

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๓ประเทศไทยยังคงนำเข้าเศษพลาสติก (พิกัดศุลการ HS3915) ตลอดปี ๒๕๖๒ สูงเกือบ ๕๕๓ ล้านกิโลกรัม หรือสูงกว่าปี ๒๕๖๑ ถึง ๓.๕ เท่า ขณะที่ปี ๒๕๖๓ ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป กลับพบว่ายังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นปี และต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๖๔ นี้

ในส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste)แม้มีกฎหมายห้ามนำเข้าซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๓ แต่กลับปรากฏข้อมูลว่าระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๖๓ มีนาคม ๒๕๖๔ประเทศไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทเข้ามาหลายล้านกิโลกรัม แสดงให้เห็นว่าปัญหาการนำเข้าของเสียอันตรายยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ

แม้รัฐบาลไทยจะเคยแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ” มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามาได้อีกไม่เกิน ๒ ปี หรือห้ามไม่ให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓

และมีมติตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ว่าจะห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดศุลกากรทั้งหมด ๔๓๒ รายการ แต่ถึงวันนี้กลับยังคงมีเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำเข้ามาในประเทศจำนวนมาก

อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่ภาครัฐกำหนดนโยบายหรือกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งช่วยลดกระแสกดดันจากสังคมได้มาก แต่ประกาศห้ามหรือมาตรการที่มีช่องโหว่ ทำให้ยังคงมีการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์

ธมนวรรณ วรรณพิรุณ ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าว่านับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ชาวบ้านในพื้นที่ต้องประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารมลพิษในแหล่งน้ำ กลิ่นเหม็น ฝุ่นละอองจากโรงงานรีไซเคิลขยะ โดยเฉพาะโรงงานของผู้ประกอบการจากประเทศจีน ที่ผ่านมาเครือข่ายเคยเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม เรียกร้องให้ภาครัฐหันมาสนใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายนำเข้าขยะ การตั้งโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

ธมนวรรณ ให้ความเห็นถึงปัญหาการนำเข้าขยะของเสียเข้ามาในเมืองไทยว่า “คนไทยก็มีส่วนร่วมมือกับเขา เอาเข้ามา เพราะมันได้เงิน มันเป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล แต่เขาไม่ได้คำนึงถึงมลพิษที่เกิดขึ้น ก็ต้องถามว่าเอาเข้ามาได้อย่างไร ทำไมกฎหมายไทยถึงยอมให้เอาเข้ามา เมื่อเอาเข้ามาแล้วทำให้เกิดมลพิษทำไมไม่มีมาตรการแก้ไข ไม่ยกเลิก ไม่ปิดโรงงาน”

แม้การนำเข้าของเสียอันตราย การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม “รีไซเคิลสกปรก” จะทำให้ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็น “ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก” ต้นตอของปัญหามาจากประเทศพัฒนาแล้วส่งออกขยะ แต่ประเทศปลายทางอย่างประเทศไทยสามารถระงับยับยั้ง ไม่อนุญาตให้ขยะเหล่านี้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ

ถ้าประเทศไทยดำเนินนโยบายปิดกั้นธุรกิจการค้าขนส่งขยะข้ามชาติอย่างจริงจัง ปัญหาคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้