ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

brandaudit01
กรีนพีซ ประเทศไทย มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters หรือ ผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุดจากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้า (Brand Audit) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ให้แก่แบรนด์ในประเทศ ๕ อันดับแรก (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัล “ผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด ๕ อันดับแรก” (Top 5 Corporate Plastic Polluters) ประเภทแบรนด์ไทย ขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายหลังจากจัดกิจกรรมเก็บขยะพลาสติกและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก หรือที่เรียกว่า “แบรนด์ ออดิด” (Brand Audit) ติดต่อกันมา ๕ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา

ผลจากการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลตลอดระยะเวลาร่วมครึ่งทศวรรษ กรีนพีซ ประเทศไทย พบว่าบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์ไทยที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะพลาสติกมากที่สุด ๕ อันดับแรกเป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์, ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข, และสิงห์ คอร์เปอร์เรชั่น ตามลำดับ

ขณะที่แบรนด์ข้ามชาติที่พบขยะเป็นพลาสติกมากสุด ๕ อันดับแรกเรียงตามลำดับ คือ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, และอาเจไทย

หากนับรวมทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ข้ามชาติ ที่พบเป็นขยะพลาสติกมากที่สุด ๔ อันดับแรก ได้แก่ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และดัชมิลล์

brandaudit02
อาสาสมัคร กรีนพีซ ประเทศไทย แต่งตัวและสวมหน้ากากเป็นตัวแทนบริษัทต่างๆ ขึ้นรับรางวัลบนเวที นี่เป็นรางวัลที่ไม่มีใครอยากได้ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
brandaudit04
นิทรรศการให้ความรู้และตั้งคำถามว่า “ใครกันที่ต้องลด ?” ภายในงาน “Reuse Revolution ลด (พลาสติก) ให้กระหน่ำ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ถึง ๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือ Brand Audit เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการเก็บสำรวจขยะพลาสติกในหลายพื้นที่

Brand Audit เป็นกิจกรรมที่ทำกันในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย)

ช่วงเวลาระหว่างปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ อาสาสมัครกรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันออกสำรวจและเก็บขยะพาสติกใน ๑๓ พื้นที่ ๑๑ จังหวัด ได้แก่ หาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี, ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่, แหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา, กรุงเทพมหานคร, บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดชุมพร, หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง, เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดระยอง, หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี, และเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

ขยะพลาสติกที่เก็บได้มีจำนวนทั้งหมด ๔๖,๙๒๙ ชิ้น ร้อยละ๗๐ หรือจำนวน ๓๒,๘๘๔ ชิ้น อยู่ในรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาจำนวน ๖,๘๓๑ ชิ้น เป็นผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน อาทิ ซองผงซักฟอก ท่อพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ ขณะที่อันดับสาม เป็นพลาสติกอื่นๆ ที่ไม่มีหมวดหมู่ เช่น เศษพลาสติกเป็นชิ้นๆ อุปกรณ์สื่อสาร นับได้ ๓,๓๕๗ ชิ้น 

ลักษณะผลิตภัณฑ์ที่พบมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด ฝาขวด ฉลาก และหลอด เป็นของบริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้า ๗๖๖ บริษัท จำนวนแบรนด์สินค้า ๒,๐๐๕ แบรนด์

brandaudit05
ขยะตกค้างบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๐ พรรษา คุ้งบางกระเจ้า ก่อนเริ่มกิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้า Brand Audit (ภาพ : จันทร์กลาง กันทอง / กรีนพีซ)
brandaudit06
บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด ฝาขวด ฉลาก และหลอด เป็นชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่พบได้มากที่สุดตามลำดับ (ภาพ : วสันต์ วณิชชากร / กรีนพีซ)
brandaudit07
อาสาสมัครช่วยกันคัดแยกขยะที่เก็บได้บริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพ : วสันต์ วณิชชากร / กรีนพีซ)

การมอบรางวัล “ผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด ๕ อันดับแรก” (Top 5 Corporate Plastic Polluters) เป็นส่วนหนึ่งของงาน “Reuse Revolution ลด(พลาสติก)ให้กระหน่ำ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีอาสาสมัคร กรีนพีซ ประเทศไทย แต่งตัวเป็นตัวแทนบริษัทต่างๆ ขึ้นรับรางวัลบนเวที พร้อมถ่ายภาพกับผลงานศิลปะ “Wire Puller” ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากขยะพลาสติกที่ส่วนหนึ่งถูกเก็บมาจากสถานที่ต่างๆ ทั้งป่าไม้ ชายทะเล ชุมชนเมือง ริมแหล่งน้ำ ระหว่างกิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบ Brand Audit

ถ้วยรางวัล Corporate Plastic Polluters ถูกจัดแสดงในงาน ร่วมกับนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวและข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่พบมากในสิ่งแวดล้อม จำแนกตามประเภทขยะพลาสติก และเจ้าของแบรนด์สินค้า เพื่อสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่พบในชีวิตประจำวันว่า มีแบรนด์ใดบ้างที่น่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหามลภาวะขยะพลาสติก ที่มีต้นทางจากการทำธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของตน

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการลดมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่าความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องพูดถึงกันในตอนนี้ .

“ขยะพลาสติกนับวันยิ่งทวีคูณ โดยเฉพาะขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มาจากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร ในแต่ละวันมีการผลิตและใช้เป็นจำนวนมาก บรรจุภัณฑ์เหล่านี้บางส่วนหลุดรอดออกสู่ธรรมชาติ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศและชุมชน กลายเป็นภาระการกำจัดและภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐ ทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น เทศบาล และชุมชนในการจัดการปลายทาง”

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์จึงไม่มีภาระรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ของตนหลังใช้งาน 

การป้องกันและกำจัดมลภาวะขยะพลาสติกต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ตลอดทั้งห่วงโซ่ทั้งอุปสงค์และอุปทาน ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดหรือต้นทางของสายธารขยะ

หากการลดใช้พลาสติกไม่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่ม หากผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในฐานะคนต้นน้ำไม่มีความตระหนักไม่หันมาใส่ใจห่วงโซ่อุปทานของตนก็คงยากที่จะต่อกรกับมลภาวะขยะพลาสติกได้

การลดจำนวนพลาสติกควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ปลายทางอย่างชั้นวางของ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องลดใช้พลาสติก แต่ผู้ผลิตต้องมีส่วนช่วยลดด้วย ถึงเวลาหรือยังที่ผู้ผลิตสินค้าต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้น

ระหว่างพิธีมอบรางวัล ธารา บัวคำศรี ผู้อำนายการ กรีนพีซ ประเทศไทย ผู้มอบรางวัล “ผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด ๕ อันดับแรก” บนเวที เรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของสินค้าแบรนด์ไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบจัดเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืนสู่บริษัท การใช้ซ้ำและรีฟิลโดยภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

หมายเหตุ :

  • ดาวน์โหลดรายงานผลการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ https://act.gp/brand-audit-report-2022 
  • ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก เพื่อรวบรวมข้อมูลพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม ดูข้อมูลเพิ่มเติม https://act.gp/ba-information

ขอขอบคุณ :

  • กรีนพีซ ประเทศไทย, คุณสมฤดี ปานะศุทธะ 

ผลการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล Brand Audit ระหว่างปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ที่น่าสนใจ

>> เมื่อพิจารณาเป็นรายปี พบขยะพลาสติกจากเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นอันดับ ๑ ในปี ๒๕๖๒ และเมื่อรวมข้อมูลทั้ง ๕ ปี พบขยะพลาสติกจากเครือเจริญโภคภัณฑ์มากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในประเภทแบรนด์สัญชาติไทย

>> ดัชมิลล์เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่พบขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๓ ส่วน เสริมสุข พบขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในปี ๒๕๖๔ และ ๒๕๖๕

>> พบขยะพลาสติกจาก เสริมสุข ผู้ผลิตแบรนด์สินค้าน้ำดื่มคริสตัล, เครื่องดื่ม 100พลัส, เอส, และจับใจ มากที่สุดใน ๑๐ อันดับแรก ตลอดทั้ง ๕ ปี โดยอยู่ในอันดับ ๑๐ ในปี ๒๕๖๑, อันดับ ๘ ในปี ๒๕๖๒, อันดับ ๑๐ ในปี ๒๕๖๓ และอันดับ ๑ ในปี ๒๕๖๔ กับ ๒๕๖๕

>> พบขยะพลาสติกจาก โอสถสภา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อยู่ใน ๕ อันดับแรก ในปี ๒๕๖๑-๒๕๖๓ จากการเก็บขยะในพื้นที่หาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี, ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่, แหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา และพบอีกครั้งในปี ๒๕๖๕ ในพื้นที่หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี, เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี, บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ (ไม่พบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าของโอสถสภาในปี ๒๕๖๔) ทั้งนี้ แบรนด์สินค้าของโอสถสภาที่พบ ได้แก่ คาลพิส แลคโตะ, เบบี้ มายด์, ทเวลพลัส และโฟมใต้ฝาของลิโพ, เอ็ม150, เอ็มสปอร์ต และซี-วิต

>> พบขยะพลาสติกจากกลุ่มธุรกิจทีซีพี ผู้ผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อกระทิงแดงใน ๑๐ อันดับแรกตลอด ๕ ปี ในพื้นที่หาดวอนนภา, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดสงขลา, หาดเจ้าหลาว, เกาะสีชัง, บางกะเจ้า ยกเว้นในปี ๒๕๖๔