โดย ศรัณย์ ทองปาน

 กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๙ - พันธกิจแห่งขัตติยะ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริว่าจะส่งพระโอรสทุกพระองค์ไปทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาชั้นสูง ณ ทวีปยุโรป โดยหลังจากเรียนรู้ภาษาและวิชาชั้นต้นที่ประเทศอังกฤษแล้ว พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าให้ทรงศึกษาวิชาทหารตามประเทศต่างๆ ที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุข ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ อังกฤษ) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ (โรงเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก รัสเซีย) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (เสด็จกลับมาทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าของสยาม) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (โรงเรียนนายร้อยวูลลิช อังกฤษ) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (ทรงศึกษาวิชาทหารเรือในเยอรมนี) และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (ทรงศึกษาวิชาการทหารบกในเยอรมนี)

ส่วนพระโอรสชั้นพระองค์เจ้า แม้มิได้มีข้อกำหนดชัดเจนเหมือนกับพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้า แต่ก็มีหลายพระองค์ที่ทรงเลือกศึกษาวิชาทหาร เช่น พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (โรงเรียนนายร้อยของเดนมาร์ก) พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (วิชาทหารเรือในอังกฤษ) และพระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (วิชาทหารเรือในอังกฤษ)

สาเหตุสำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอโดยเน้นวิชาทหารเช่นนี้ คือ “กรณี ร.ศ. ๑๑๒” ดังข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐ ว่า แต่แรกเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นใหญ่สี่พระองค์ เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อในยุโรปนั้น ยังมิได้มีแผนการให้ไปศึกษาวิชาด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ แต่ละพระองค์จึงทรงเลือกเล่าเรียนได้ตามความสนพระทัย ทว่านับแต่รุ่นที่สมเด็จฯ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธและพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จไปทรงศึกษาในปี ๒๔๓๖ ปีที่เกิด “กรณี ร.ศ. ๑๑๒” เป็นต้นมา

“ความเห็นที่จะจัดการทรงศึกษาจึงรื้อขึ้นเป็นการทหารเกือบจะหมด โดยมูลเหตุที่ได้รับความเจ็บแสบมาสดๆ ประกอบกับทางประพฤติของฝรั่งซึ่งหยิบเอามาใช้เป็นถ้อยคำว่า ‘ขัตติยต้องเป็นทหารหมด’…”

พระเจ้าลูกยาเธอบางพระองค์แม้มิได้ทรงสนพระทัยวิชาทหาร ทว่าด้วย “พันธกิจแห่งขัตติยะ” ทำให้ต้องทรงฝืนศึกษาไปอย่าง “ไม่มีทางเลือก” ดังที่ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเล่าประทานในภายหลัง แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ว่าหากสามารถเลือกวิชาเรียนได้ตามพระประสงค์ส่วนพระองค์ จะทรงศึกษาวิชาดนตรีและภาษา โดยจะมุ่งทำงานทางดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ทรงมีพระราชประสงค์เจ้าฟ้าทุกพระองค์ต้องสำเร็จวิชาทหาร พระองค์ย่อมต้องทรงปฏิบัติตาม ทว่า

“บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

ในกรณีพระองค์เจ้าอาภากรฯ แม้ต้องศึกษาวิชาทหารเรือตามพระราชประสงค์เช่นกัน ทว่าพระองค์กลับทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ดังเมื่อเดือนมีนาคม ปลายปี ๒๔๔๐ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จนิวัตพระนครแล้ว พระยาวิสุทธฯ กล่าวถึงพระองค์เจ้าอาภากรฯ ไว้ในหนังสือกราบบังคมทูล ฉบับวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๔๐ ว่า “…เหมือนพระองค์อาภาที่หลงทหารเรือ ใครว่ากลาสีไม่ดีไม่ได้…”

ในพระราชหัตถเลขาฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม พระราชบิดาทรงตอบความข้อนี้ว่า

“…ชายอาภากรนั้นอัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัยที่จะใช้ฝีปากได้ในการฝ่ายพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียวซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น แลตรงไปตรงมา การที่ได้ไปพบคราวนี้ เห็นว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ