ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

“ปัจจุบันโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ได้ศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา จากนี้ไปกรมชลประทานจะดำเนินการส่งรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการฯ ต่อไปตามลำดับ

รายงานข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔

ผันน้ำยวมเข้าเขื่อนภูมิพล
น้ำแม่ยวมเป็นแม่น้ำในประเทศ มีต้นกำเนิดจากขุนเขาในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง มาบรรจบกับแม่น้ำเงา และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลที่ประเทศพม่า

-๑-

เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เว็บไซด์ thainews.prd.go.th ของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานความคืบหน้าของโครงการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในนาม “โครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล” ตามที่ปรากฏในเนื้อข่าวข้างต้น

โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เป็นอภิมหาโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๔๐ โดยในปี ๒๕๔๙ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแนวส่งน้ำอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล รวมทั้งวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวม

ก่อนเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๖๐ หลังจากโครงการถูกพับเก็บมานาน เมกกะโปรเจคมูลค่ามหาศาลกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หากแต่คราวนี้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเพิ่มเติมว่าโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพลจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนได้ถึงปีละกว่า ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลางได้อย่างยั่งยืน

สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า “ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำยวม ในแต่ละปีมีปริมาณมากก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลอันดามันโดยเปล่าประโยชน์ กรมชลประทาน จึงได้ศึกษาหาแนวทางนำน้ำส่วนนี้ไปเติมในเขื่อนภูมิพล ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวม เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ ๑๓.๘ กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ละนา ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ความจุประมาณ ๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำจากเขื่อนน้ำยวมเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาด ๘.๑-๘.๓ เมตร ความยาวประมาณ ๖๒ กิโลเมตร ไปเติมลงในเขื่อนภูมิพล รวมไปถึงการปรับปรุงลำน้ำแม่งูด ระยะทางราว ๒ กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้างประมาณ ๗๑,๑๑๐ ล้านบาท”

มีรายงานว่าการผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมไปเขื่อนภูมิพลจะดำเนินการเฉพาะช่วงฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนมกราคม โดยจะสามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งขึ้นราว ๑.๖ ล้านไร่ มีน้ำอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้นปีละ ๓๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งเพิ่มปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพลได้ปีละ ๔๑๗ ล้านหน่วย

สาเหตุที่ช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมจะไม่มีการผันน้ำเนื่องจากแม่น้ำยวมช่วงดังกล่าวมีปริมาณน้ำน้อย ผู้ผลักดันโครงการยังยืนยันว่าจะดำเนินการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำยวมเท่ากับปริมาณน้ำตามสภาพธรรมชาติในแม่น้ำยวมในแต่ละช่วงเพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำด้วย

วีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ให้รายละเอียดกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ว่า การผันน้ำจากแม่น้ำยวมในลุ่มน้ำสาละวินข้ามมาใช้ในลุ่มน้ำปิง เป็นเพราะประเทศไทยขาดแคลนน้ำ ที่ผ่านมาผู้คนในภาคกลางเดือดร้อนกันมากเพราะไม่ได้ทำนาโดยสูบน้ำจากแม่น้ำมา ๑๔ ปีแล้ว หลายๆ จังหวัดน้ำไม่พอใช้ โดยเฉลี่ยขาดน้ำประมาณปีละ ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อ กมธ.ได้มีโอกาสศึกษาจึงพยายามค้นหาว่ามีโครงการไหนน่าสนใจบ้าง กระทั่งพบว่าน่าจะผันน้ำมาจากแม่น้ำยวมได้

“กว่าที่อีไอเอจะผ่าน คชก.ได้ เขาต้องพิจารณากันหลายรอบ ผมติดตามเรื่องนี้นานเกือบสองปี คชก. สั่งให้แก้ไขนานมาก แต่ผมคิดว่าทันรัฐบาลชุดนี้แน่นอน เพราะอธิบดีประพิศ (ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน) บอกว่าหากผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สิ้นปีเริ่มดำเนินการได้เลย แต่ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงเริ่มอย่างไร เริ่มที่หัวงานเลย หรือเริ่มสำรวจพื้นที่”

สส.วีระกร ชี้แจงว่าช่วงที่ผ่านมา ตนเองพยายามประสานงานผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร เรืองสุวรรณ รวมทั้งอธิบดีประพิศ จันทร์มา ให้เห็นชอบโครงการนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ

“โครงการนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำลุล่วงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง สำหรับลุ่มน้ำอื่นๆ เช่น ลุ่มน้ำน่าน หากมีน้ำมาเติมจากแม่น้ำปิง ลุ่มน้ำน่านก็จะใช้น้ำน้อยลง ตั้งแต่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นไปอาจจะอัดน้ำให้ใช้ในลุ่มน้ำน่านให้มากขึ้นอีก ลุ่มน้ำยมก็เช่นเดียวกัน เราสามารถอัดน้ำไปช่วยแม่น้ำยมได้ พูดง่ายๆ ว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีน้ำเพียงพอ”

ผลักดันโครงการใหญ่ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ผันน้ำยวมเข้าเขื่อนภูมิพล
สบยวม บริเวณที่แม่น้ำยวมไหลมาบรรจบแม่น้ำเมย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

-๒-

ประเด็นที่น่าสนใจหากโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลผ่านการพิจารณาเกิดขึ้นสืบเนื่องจากรายงานข่าวว่ารัฐบาลจีนยินดีให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องงบประมาณและกระบวนการก่อสร้าง

“เมื่อ กมธ.ศึกษาโครงการนี้ประสานไปทางบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลจีน จึงทราบว่าเขาให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่ ประเทศจีนมีวิสาหกิจประมาณ ๕ บริษัทที่รับทำเขื่อนทั่วโลก สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ งานนี้เหมือนเขารับงานโดยไม่เอากำไรมากเพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีพร้อมสำหรับทำโครงการใหญ่ๆ และอยากช่วยประเทศไทย”

สส.วีระกร ให้รายละเอียด “กรมชลประทานออกแบบคร่าวๆ ไว้ จากเดิมใช้งบประมาณ ๗ หมื่นล้านบาท ใช้เวลาสร้าง ๗ ปี แต่ทางวิสาหกิจจีนตอบมาว่าเขาใช้งบเพียง ๔ หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียง ๔ ปี จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งราคากลางก็ถูกกว่าที่เราคิดตั้งเยอะ เรื่องนี้ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ และท่านประวิตรที่นั่งอยู่ด้วยกัน ท่านบอกว่าเอาเลย ถ้าเขาทำให้เราก่อน เราไม่ต้องเสียอะไร เราไม่ต้องลงทุนเอง หากต้องลงทุนเอง ตอนนี้รัฐบาลไม่พร้อม หากทางจีนจะทำ ท่านบอกเดินหน้าเต็มที่เลย ผมไฟเขียวให้เลย บอกให้บริษัททางจีนประสานงานกับคุณสมเกียรติ (สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.) ได้เลย ทำให้โครงการได้รับการผลักดันจากระดับสูง ทางกรมชลประทานก็ตื่นเต้นกัน เดินเรื่องกันเต็มที่ แม้กระทั่ง อีไอเอ ก็ผ่านกันเต็มที่ ในขณะที่ทำอีไอเอ ทางกรมชลก็ออกแบบคู่ขนานกันไป แบบใกล้เสร็จแล้ว ที่ผมได้คุยกับท่านอธิบดีประพิศล่าสุด ท่านบอกว่าถ้าผ่าน คชก. ก็คงไม่เกินปลายปีเราคงเริ่มงานได้”

ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่รัฐวิสาหกิจจีนที่มาลงทุนและดำเนินการอาจเป็นกำไรจากการขายน้ำ

สส.วีระกร ให้รายละเอียดต่อไปว่า “เขาขายน้ำให้เราในราคา ๑ คิว ไม่ถึง ๑ บาท ซึ่งถูกมาก ต่อให้เราทำเองก็ทำไม่ได้ เขาคงมีกำไรบ้าง ถ้าไม่ดีเขาคงไม่ทำ แต่เขาไม่ได้เอากำไรมากเกินไป และเมื่อกรมชลประทานได้ยินว่าไม่ถึง ๑ บาท ก็เลยดีใจ ทุกคนดีใจ เป็นราคาที่ดีมากๆ

“เขาขายให้รัฐบาลไทย เมื่อน้ำไหลลงอ่างเขื่อนภูมิพล เราปั่นไฟขาย ก็ได้อยู่แล้ว อาจมีส่วนเกินต้องจ่ายนิดหน่อย ก็อาจเป็น กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) รัฐบาลก็มอบหมาย กฟผ. ตัดเอางบกำไรไปคืนเขา ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มันนิดเดียว ไม่ได้มากมาย คิวหนึ่งเมื่อหักค่าไฟแล้ว ผมว่าไม่ถึง ๕๐ สตางค์ ปีหนึ่ง ๒,๐๐๐ ล้านคิว ก็ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท รายได้ กฟผ. หลายหมื่นล้านบาท เยอะกว่านี้มาก”

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอตัวเข้ามาลงทุนของจีนในโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลอาจมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง เนื่องจากมีรายงานข่าวว่ารัฐบาลจีนกำลังจะลงทุนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมในประเทศพม่าบริเวณสบเมยฝั่งตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากกรุงเนปิดอว์เมืองหลวงของพม่าประมาณ ๘๐ กิโลเมตร คาดว่ารัฐบาลจีนเดินเรื่องประสานกับทางรัฐบาลพม่าแล้ว นอกจากนี้ จีนและพม่ายังมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ได้จะถูกส่งไปใช้ในเมืองอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งขายให้กับรัฐบาลไทย

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งติดตามโครงการนี้มานานให้ความเห็นว่าตามปรกติแล้วการเจรจาร่วมทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีการเจรจาหลายครั้ง และตามธรรมชาติของประเทศจีนที่ส่งออกองค์ความรู้ในการสร้างเขื่อนรวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งของจีน ไม่มีทางที่จีนจะสร้างให้ฟรีๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการเมืองจะต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ประกอบการพิจารณา

“กมธ. ควรรู้ว่าหากกรมชลประทานจะเอาน้ำมา หรือจะร่วมทุนกับประเทศใดก็ตาม กรมชลประทานมีสิทธิในการเก็บค่าน้ำไม่เกิน ๕๐ สตางค์ การโอ้อวดว่าจะร่วมทุนและเก็บค่าน้ำไปคืนผู้ก่อสร้าง ถือว่าไม่ทราบข้อกฎหมายของไทย

การให้ภาครัฐลงทุนทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ว่ารัฐไทยจะมีเงิน เพราะโครงการซับซ้อนหลายขั้นตอนหลายสเต็ป บอกว่าใช้เวลาก่อสร้าง ๔-๗ ปี คิดว่าเป็นไปไม่ได้ การที่รีบเร่งผลักดันโครงการจนดูว่าผิดปกติ มีการคาดหวังอะไรมากกว่านี้หรือไม่ น่าสงสัย” หาญณรงค์ให้ความเห็นอีกด้าน

namyuam03
แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ และแนวอุโมงผันน้ำความยาว ๖๑.๕๒ กิโลเมตร ที่จะสูบน้ำแม่น้ำยวมไปลงเขื่อนภูมิพล แม้อุโมงอยู่ใต้ดินแต่มีจุดวางกองดินที่ถูกขุดขึ้นมาระหว่างทาง ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและอุโมงผันน้ำเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 
namyuam04
เจ้าของโครงการวางแผนสร้าง “บันไดปลาโจน” ในภาพเป็นรูปแบบขั้นต้นของทางผ่านปลา ประเด็นเรื่องสัตว์น้ำยังมีข้อห่วงกังวลว่าอุโมงผันน้ำจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของพันธุ์ปลาจากลุ่มน้ำสาละกับพันธุ์ปลาลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน

-๓-

น้ำแม่ยวม มีต้นกำเนิดในขุนเขาอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง มาบรรจบกับแม่น้ำเงาที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน การดำเนินโครงการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่มีแม่น้ำหลายสายและป่าไม้เข้ามาเกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน

“ตนรู้สึกตกใจที่โครงการอยู่ที่ คชก. และจะส่งไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เราเห็นความพยายามในนามส่วนตัวและในนาม กมธ. ผู้ผลักดันโครงการ ในช่วงที่ทำการศึกษาและ กมธ. ลงพื้นที่ ตนเองก็ได้ไปลงพื้นที่เดียวกัน พบว่าชาวบ้านยืนยันว่าเมื่อ กมธ. มาจะพบเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นสอดคล้องกับโครงการ แม้แต่ผู้นำท้องถิ่นจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายข้อห่วงกังวลต่อ กมธ. และกรมชลประทาน แต่ก็ไม่มีการรับฟัง หน่วยงานบอกแค่ว่าไม่ต้องกังวล เป็นการขุดอุโมงค์ใต้ดิน แต่ในอีไอเอ พบว่าจุดทิ้งดิน อย่างน้อย ๔ แห่งตลอดแนวอุโมงค์เกือบ ๗๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าที่มีชุมชนชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ ข้อมูลที่พบในอีไอเอก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการกล่าว

หลังเห็นว่าอีไอเอไม่สมบูรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตอบคำถามเรื่องผลกระทบได้อย่างชัดเจน มีการนำชื่อและรูปของชาวบ้านไปกล่าวอ้าง อีกทั้งชุมชนชาติพันธุ์ไม่ได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็น ชาวบ้านในพื้นที่จึงทำจดหมายคัดค้านส่งถึงหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน รวมถึง คชก. โดยชาวบ้านอ้างว่า คชก. ไม่ได้เชิญชาวบ้านที่ทักท้วงมาให้ข้อมูลใดๆ และมีเพียงเจ้าของโครงการเท่านั้นที่มาให้ข้อมูล

“หลังจากมีอีไอเอของโครงการนี้เผยแพร่ออกมา พบว่ากรมชลประทานทำการประชาสัมพันธ์โดยตัดตอนข้อมูล นำเสนอเฉพาะข้อดี ว่าจะได้พื้นที่ชลประทานหลายล้านไร่ แต่การเพิ่มน้ำ ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ชลประทานทับซ้อนในลุ่มเจ้าพระยาอยู่แล้ว เป็นการใช้ตัวเลขจำนวนมาก ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งต้องคำนวนการใช้น้ำต่อไร่”

ที่สำคัญ การอนุมัติให้โครงการผ่านความเห็นชอบจาก คชก. แม้อยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ยังทำให้เกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลใดในการประชุมพิจารณา และมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ที่จะได้รับผลกระทบ

“หากบอกว่าเป็นโครงการระยะหนึ่ง ขุดอุโมงค์ยาวเกือบ ๗๐ กิโลเมตร และอ้างเทคโนโลยีจีน แต่เราไม่เคยเห็นผลงาน เคยมีตัวอย่างกรณีโครงการผันน้ำแม่แตงแม่งัด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าการก่อสร้างล่าช้ามาก เกิดอันตรายและมีผู้เสียชีวิต ต้องใช้เวลาก่อสร้างนับสิบปี แต่โครงการนี้มีอุโมงค์ยาวกว่า ทำให้ตกใจว่าอีไอเอผ่านได้อย่างไร

“ในระยะที่สอง ที่บอกว่าจะมีการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไทยใช้ร่วมกับจีนและพม่า แม้อ้างว่าใช้น้ำไม่มาก แต่เราได้แจ้งประเทศในลุ่มน้ำหรือยัง ทราบมาว่าไม่นานมานี้พม่าได้ทำหนังสือถึงองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งเพราะเขาเป็นห่วงผลกระทบ กรมชลประทานและนักการเมืองได้คิดเรื่องนี้หรือไม่ หรือต้องรอจนกว่าจะเกิดปัญหาก่อน”หาญณรงค์ในฐานะประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการท้วงติง

จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามว่าโครงการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล” จะคืบหน้าไปในทิศทางใด โครงการผันน้ำข้ามลุ่มจากลุ่มน้ำสาละวินมายังลุ่มน้ำปิง จากแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะมีประเทศมหาอำนาจอย่างจีนเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญหรือเปล่า

namyuam05
หน้าปกรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานชี้แจงเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔
namyuam06
แนวเขตก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมอยู่บริเวณรอยต่อ ๓ อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เขื่อนและอุโมงอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ศึกษาโครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ๕ แห่ง อุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง

ปลายทางของดินจากการขุดเจาะอุโมงคือแห่งหนใด ?

การขุดอุโมงใต้ดินเป็นระยะทางประมาณ ๖๒ กิโลเมตร จะทำให้เกิดกองดินปริมาณมหาศาล และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าจะนำดินไปไว้ที่ไหน เบื้องต้นมีการเสนอให้กรมชลประทานเอาดินไปถมพื้นที่ลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง คือ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำเงา

วีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ให้รายละเอียดเบื้องต้นว่า การขุดอุโมงความยาวมากกว่าหกสิบกิโลเมตรครั้งนี้จะไม่ทำให้เสียพื้นที่ป่า เพราะใช้เทคโนโลยีหัวเจาะทะลุทะลวงเข้าไปในภูเขา ใต้พื้นดินลึกลงไป ๒๐-๓๐ เมตร

“เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ใช่วิธีระเบิดแล้ววางท่อกลบดิน แต่เป็นการใช้หัวเจาะขุดเอาดินออก เจาะลงไปโดยที่ข้างบนไม่รู้เรื่อง สัตว์ป่า ต้นไม้ ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้มีกระทบ ปัญหาทั้งหมดถ้าจะมีก็คือเรื่องของดินที่ขุดออกมา ซึ่งก็จะบอกว่าจะเอาไปทิ้งที่ลุ่มๆ ที่ไม่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อาจทำร่วมกับพวกเอ็นจีโอก็ได้ เรื่องนี้เนื่องจากไม่ได้ทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป ถ้าบอกว่าไม่มีผลกระทบเลยก็คงไม่ได้ คงมีบ้าง แต่คุ้มแน่นอน เพราะว่าในอนาคตเราอาจจะทำท่อส่งน้ำจากแม่น้ำสาละวินซึ่งห่างไปไม่ไกล ประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลเมตรส่งต่อเข้ามาในอ่างหรือในประตูน้ำที่เราปิดน้ำยวม”