สัมภาษณ์ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
วันสัมภาษณ์ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔
ประเทศไร้คอร์รัปชันที่ไม่มีการตรวจสอบ ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ ประเทศที่ขบถเจออำนาจราดจนหัวหด ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด ประเทศกูมี ประเทศกูมี
- เพลง “ประเทศกูมี”
-
![“ผมเชื่อว่าจะมีแสงสว่างอีกครั้งหนึ่ง” - Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง “ประเทศกูมี” 1 Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง “ประเทศกูมี”](https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/rad-01.jpg)
เพลงแรป “ประเทศกูมี” เผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ จากศิลปินที่รวมตัวเฉพาะกิจในนามกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) และได้รับเสียงตอบรับทั้งคำชื่นชมและตำหนิอย่างล้นหลามตั้งแต่วันแรก
หากดูในรายชื่อผู้มีส่วนทำเพลงจะพบนามแฝงว่า “Lady Thanom” “Gentle Prapas” “HomeBoy Scout” ฯลฯ ซึ่งกลุ่ม RAD บอกว่าไม่ได้มีเจตนาปกปิด หากจะหาชื่อคนทำคนร้องว่าเป็นใครนั้นทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว แค่ใส่เป็นมุกกวน ๆ เพื่อโยงกับบุคคลทางการเมืองในอดีต
แม้เพลงที่มีเนื้อหาเคร่งเครียดจะถูกมองเป็นงานขายยากในธุรกิจเพลง แต่นับถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ เพลงนี้มียอดผู้ชมทางยูทูบกว่า ๙๘ ล้านครั้ง ติดอันดับ ๒ ของ Google ในคำค้นหาประจำปี ๒๕๖๑ หมวดเพลง และยังได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ซึ่งมอบให้กับผู้กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรมเมื่อปี ๒๕๖๒ ที่ประเทศนอร์เวย์ บอกได้ดีถึงผลตอบรับของเพลงนี้
สองคนจากสมาชิกกลุ่มคือ “นัท” ณัฐพงศ์ ศรีม่วง (ชื่อในวงการเพลง “Liberate P”) และ “ฮอค” เดชาธร บำรุงเมือง (ชื่อในวงการเพลง “Hockhacker”) เปิดเผยถึงที่มาความเป็นไปและผลตอบรับ