เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เมื่อการเมืองบีบบังคับผู้คน “ให้พูดในสิ่งที่พูดไม่ได้”

จนเกิดการต่อสู้ของเหล่าเยาวชนที่ต้องการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงบางสิ่ง ขณะที่มีกลุ่มสนับสนุนให้ใช้กำลังปราบปรามนักต่อสู้อย่างไร้ไมตรีออมชอม ผู้เห็นต่างถูกทำให้กลายเป็นวายร้ายทำลายชาติ ปลิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สิ้นอิสรภาพในสังคมโดยกระบวนการ “สองมาตรฐาน” และจัดการด้วย “วิธีลับ”

ตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้จับจ้องความเป็นไป อาศัยการเดินทางที่กระทบเรื่องราวใช้ฝีแปรงสัมผัส “ชั่วขณะนั้น” ออกมาเป็น “ภาพสด” ของผู้เกี่ยวข้อง แล้วจับมือภัณฑารักษ์หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จัดแสดงนิทรรศการภาพวาดสีน้ำ Keep in the dark

ฉายแสงสว่างให้สังคมมองเห็นผู้ถูกกักขังใต้เงามืด

Keep in the dark ตะวัน วัตุยา แสงสว่างที่ (ไม่ยอม) ถูกขังใต้เงามืด

:: คนชายขอบ::

บันไดใหญ่จากทางเข้าด้านหน้า นำทางสู่ท้องพระโรง วังท่าพระ

เดินผ่านเรือน ๕ ห้อง ที่เริ่มจากรูปศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ และจอมพลแปลก พิบูลสงคราม สองรัฐบุรุษสัญลักษณ์ “ต่อต้านเผด็จการทหาร” นับแต่ปี ๒๔๗๕ ครั้ง “คณะราษฎร” ทำการปฏิวัติสยาม เปลี่ยนระบอบปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย กระทั่งนำมาสู่การรวมตัวคัดค้านบางสิ่งในปัจจุบัน มุ่งสู่เฉลียงรอบที่หันหน้ายาวออกหน้าวัง อันเป็นจุดเริ่มของนิทรรศการ “Keep in the dark”

tawanwatuya02

“มันเริ่มจากผมมีโอกาสเดินทางไปจัดนิทรรศการหลายแห่งทั่วโลก และชอบคลุกคลีกับผู้คน สนใจคนกลุ่มน้อย คนชายขอบ หรือกลุ่มคนที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ผมเคยวาดรูปเด็กที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น คนงานก่อสร้างในเม็กซิโก ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในอัฟกานิสถาน อย่างที่ไทยเองผมก็เคยวาดเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง หรือแม้แต่คนทำงานกลางคืนย่านพัฒน์พงศ์”

ตะวัน วัตุยา ย้อนที่มาก่อนเป็นภาพใบหน้าบุคคลที่เรียงรายอยู่ตรงหน้า เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ หลังเสร็จจากจัดแสดงนิทรรศการหนึ่งในนิวยอร์กและเพียงไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่ลอสแอนเจลิส

tawanwatuya03

“ปรากฏว่าเขากำลังจะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงผมจึงขอติดตามไปด้วย อยากวาดรูปผู้คนที่มาชุมนุม แล้วก็ไปหาซื้อกระดาษกับสีชุดใหม่ที่นั่นเพราะไม่ได้พกอุปกรณ์อะไรไปหาเพื่อน ไปถึงก็พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเป็นคนไทยที่มาพูดคุยเรื่องประชาธิปไตยและสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมที่ไปอยู่อเมริกานานแล้วตั้งแต่ยุค 60s 70s ในจำนวนนั้นมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองรวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีคนรุ่นผมเลยเนื่องจากลูกๆ ของพวกเขามีความเป็นอเมริกันไปหมดแล้ว”

tawanwatuya04

น่าสนใจสาระที่หยิบเรื่อง “ศีลธรรมของความเป็นมนุษย์” มาแทรกอยู่ในเนื้อกระดาษ

ตัวศิลปินก็ดั่งศิลปะ เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทที่ชอบเข้าถึงสถานการณ์โดยนำตนไปคลุกวงใน แทรกตัวเข้าไปครอบครองหัวใจคนเพื่อถ่ายทอดแสง สี รูปหน้า อารมณ์ที่เกิดชั่วขณะก่อนทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

จุดเริ่มการเดินทางนำมาสู่การจัดแสดงใบหน้าผู้ชุมนุมเรื่องการเมืองไทยในอเมริกาไว้บริเวณโซนปีกหลังสุดของอาคาร สะท้อนปัญหาการผลักดันผู้คิดต่างกับคนหมู่มากให้ออกจากสังคมไปอยู่ชายขอบ ถูกขับไล่ออกนอกผืนดินบ้านเกิด ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและยังทำกันอยู่

วิธีประดับรูปให้ใบหน้าเหล่านั้นหันออกนอกอาคารสู่ทิศรับแสงสว่างเจิดจ้าไปทั่วห้อง ชวนให้ดูแล้วแยงตา แต่ลึกๆ แล้วน่าคิดว่าคือนัยให้มีใครข้างนอกมอง “เห็นหัว” พวกเขาบ้าง

แล้วถ้าลองหรี่ตามองดีๆ จะเข้าใจในที่สุดว่า “แสงพวกนั้น” มาจากไหน

tawanwatuya05

:: หมู่ดาวเปล่งแสง “ทะลุฟ้า”::

แม้จิตรกรรมจะนำชีวิตเดินทางสู่ต่างถิ่นเสมอ แต่ท้ายที่สุดไทยยังคงเป็นแผ่นดินที่กลับมา

กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ราษฎรหลายสิบชีวิตสร้างประวัติศาสตร์ผ่านกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชน” ไผ่ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นำทัพ ๒๔๗.๕ กิโลเมตร จากโคราชถึงกรุงเทพฯ เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปล่อยตัวแกนนำ ๔ คน ที่ขังอยู่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ

ชายเจ้าของรูปวาดสีน้ำผู้มีลายเซ็นเฉพาะตัวร่วมติดตามขบวนในครั้งหนึ่งเมื่อผ่านจังหวัดสระบุรี และอีกครั้งเมื่อถึงกรุงเทพฯ บันทึกเหตุการณ์ความรู้สึกหนักหน่วงออกมาเป็น “ภาพสด”

“ทั้งหมดเป็นการวาดขึ้นจากตัวจริง คนละประมาณ ๑๕ นาที จะสังเกตเห็นว่าบนรูปนั้นมีชื่อจากลายมือเจ้าของใบหน้ากำกับอยู่ หลังวาดเสร็จผมก็ให้เขาเซ็นเลย เพราะอยากให้เรามี ๑๕ นาทีนั้นร่วมกัน”

  • tawanwatuya06
  • tawanwatuya06 1

แต่ละใบหน้าที่เหมือนมีใครทำสีเหนอะหนะหกเลอะทั่วกระดาษ สะท้อนความรู้สึกปนเปทั้งจ้องเขม็ง ท้าทาย ยั่วล้อ ฯลฯ คือผลจากบทสนทนาหลากมิติขณะพูดถึงความเป็นไปของการเมืองไทย

“ผมอยากล็อกเวลาช่วงนั้นไว้ ความรู้สึกพิเศษไม่ใช่วาดให้เหมือนแต่อยู่ที่ระหว่างวาดผมได้สนทนากับผู้เป็นแบบ แต่ละครั้งที่วาดก็แตกต่างกันทั้งสถานที่และช่วงเวลา การเล่นสีสัน แสงเงา บนใบหน้าจึงไม่เหมือนกัน บางครั้งก็เป็นแสงธรรมชาติ บางครั้งก็มืด หรือเป็นแสงสวยงามของหลอดไฟนีออน”

นั่นเลยทำให้ภาพนิ่งดูมีความเคลื่อนไหว คล้ายๆ เพลงแจ๊สที่มีจังหวะกระแทกกระทั้น

เมื่อศิลปินใช้ทักษะแหลมคมแห่งจิตรกรรมปาดไปบนความหยาบกร้านของสังคม-เนื้อกระดาษพื้นขาวเหมือนกันจึงไม่ใช่แค่รูปพอร์ตเทรตธรรมดา ปรากฏใบหน้าของผู้ผ่านเรื่องราวเข้มข้น-ชุ่มฉ่ำของคราบสีน้ำอาบย้อยลงแก้ม จนเกิดเป็นเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ และมีความลับซ่อนอยู่

  • tawanwatuya07
  • tawanwatuya07 1

ขณะเดินชมนิทรรศการรูปวาดที่ไร้การบรรยายตัวอักษร จึงอาจได้ยินเสียงบทสนทนาอื้ออึง

เพราะข้างหลังภาพยังมีเสียงกู่ก้องร้องตะโกนสั่นสะเทือนไปถึงมโนสำนึกของผู้ที่ยังไม่เข้าใจ

tawanwatuya08

:: ม็อบสามนิ้ว นักสู้NEW GEN ::

เฉพาะปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ก็เกิดกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลากหลาย

สัญลักษณ์ร่วมคือการยกแขน มือชูนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง แสดงการต่อต้านเผด็จการทหาร

tawanwatuya09

ภาวะที่สังคมกำลังประสบปัญหา หากสิ่งที่จิตรกรควรทำคือสร้างงานที่แสดงถึงการปรองดองกลมเกลียว ตะวันก็ทำหน้าที่นั้นอยู่ แต่เป็นการรวมผู้คนต่างเพศ วัย อาชีพ อย่างทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ราษฎรสวมเสื้อสีดำ นักศึกษาชายหญิง นักเรียนเลวผูกโบสีขาว ซึ่งต่างก็ชูสามนิ้ว-ผนึกกำลังใจให้กัน

“แต่ภาพทั้งหมดในห้องนี้เกิดจากการค้นภาพต้นแบบจากในอินเตอร์เน็ต บนภาพกำกับช่วงเวลาที่วาดไว้คือปี ๒๐๒๐ เป็นช่วงที่ผมไม่สามารถวาดบางคนได้จากตัวจริง…เพราะเขาไม่ได้อยู่ข้างนอก”

บนผนังขนาดใหญ่มีรูปเขียนที่เปล่งประกายต่างจากรูปรายล้อมอย่างเห็นได้ชัดเพราะเป็นรูปเดียวที่มีบุคคลอื่นเข้ามาเสริมเนื้อหา ผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้าไปดูรูปนั้นราวมีแม่เหล็กดึงดูด คือแม่ของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ถูกตำรวจห้อมล้อมบนกระดาษขนาด ๑๐๐ x ๒๐๐ เซนติเมตร

tawanwatuya10

“มันเป็นรูปง่ายๆ ที่แข็งแรง”

การต่อสู้ในแบบคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมชุดความคิดเคารพตรรกะ ต่อต้านการปิดกั้น ขัดขืนวิธีข่มเหง และกล้าหาญที่จะลุกขึ้น “พูด…สิ่งที่พูดไม่ได้” ซึ่งคนรุ่นก่อนช่วยกันกดทับไว้ ต้องผ่านอุปสรรคทั้งจารีต ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมายและกฎหมู่ที่คอยขัดแข้งขัดขาแก๊งเด็กเกเรที่ริ “เปลี่ยนแปลงการปกครอง”

tawanwatuya11

ภาพเขียนของ ตะวัน วัตุยา ออกฤทธิ์ต่างจากผลงานของศิลปินอื่น

เป็นภาพที่ไม่มีการวาดฉาก ทว่าเมื่ออยู่รวมในพื้นที่เดียวก็ชวนให้รู้สึกว่ากำลังอยู่ในม็อบคนรุ่นใหม่ ในละแวกมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างขายของกิน มี “โรงครัวแม่นาก” แจก “น้ำดื่มตาใส” มีคนขายคุ้กกี้รูป “หมุดคณะราษฎร” มีซุ้มของที่ระลึกตัวการ์ตูน “ไข่แมว” มี “เป็ดเหลือง” เป่าลมตัวเขื่อง ฯลฯ

แม้ศิลปินไม่ได้วาดลงไป แต่ศิลปะทำหน้าที่ของมันได้อย่างหมดจด

หากเคยผ่านตานิทรรศการเล่าการเมืองจากที่อื่นคงต้องลบภาพจำก่อน เพราะแม้เป็นเรื่องผู้คนที่เห็นต่างเหมือนกัน แต่แทนที่จะดูแล้วปะทุอารมณ์ กลับคล้ายเป็นยาชาคลายความเจ็บปวด อาจเป็นสีน้ำที่ปาดเส้นขาดหายบางช่วงให้ความรู้สึกนุ่มนวลแม้จะถ่ายทอดสถานการณ์มืดมน เป็นความงามแรงกล้าในรูปร่างที่ถูกออกแบบให้เรียบง่ายถึงขีดสุด หรืออาจเป็นอารมณ์สนุกของศิลปินกับภัณฑารักษ์ที่ร่วมคัดรูปเยาวชนชายหญิงจากผู้มีฝีปากคมคาย นำมากระจายติดตั้งให้มีระยะห่าง สะกิดจินตนาการให้รู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางดอกไม้เมืองร้อนต่างชนิดที่ผุดขึ้นตรงนั้นตรงนี้ทั่วห้อง และต่างก็มีสีสันขึ้นอีกยามสะท้อนไฟ

พร้อมบันดาลแสงสว่างและผลิบานสู่ดินแดนอันเสรี

tawanwatuya12

:: รอยปริแตกของสังคมไทยๆ ::

ใต้ท้องพระโรง กำลังเผยบางสิ่งที่อำนาจมืดหมกซุกไว้

“ชั้นล่างสุดนี้จะเริ่มด้วยภาพล้อเหตุการณ์ตอนเกิดรัฐประหาร การพยายามสื่อสารเหตุการณ์ความจริงที่มันบิดเบี้ยว ผมนำรูปมาทำให้มันเหมือนกับว่าอยู่ดีๆ จอทีวีก็เกิดเสียขึ้นมา”

ใกล้กับรูปทีวีจอเสียติดตั้งรูปวาดใบหน้านายกรัฐมนตรีผู้ก่อรัฐประหารในไทยปี ๒๕๕๗ ช่วยไม่ได้ถ้าเห็นแล้วพลอยนึกถึงเหตุการณ์จับนักการเมืองไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร จับกุมประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาต่อต้าน เรียกบุคคลต่างๆ เข้ารายงานตัว และใช้ “มาตรา ๔๔” ครอบคลุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

tawanwatuya13

แต่ยุคนี้การประท้วงไม่ได้เกิดบนพื้นถนนอย่างเดียวแล้ว ยังแสดงออกผ่านโลกดิจิทัล นักปฏิวัติรุ่นใหม่รู้จักใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางรวมกลุ่มทำกิจกรรม นัดหมาย ส่งข่าว รวมทั้งเป็นดั่งอุปกรณ์ป้องกันตัวและอาวุธตอบโต้กับรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง แม้รัฐบาลจะพยายามใช้เทคโนโลยีสอดส่องก็ยังไม่อาจเท่าทันเยาวชนโดยเฉพาะคนเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยจนรัฐบาลต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อันที่จริงก็แปลกมาก ที่นิทรรศการนี้กล้าจัดในท้องพระโรง วังท่าพระ ซึ่งตั้งข้างพระบรมมหาราชวัง แต่ทิวทัศน์ของพระบรมมหาราชวังที่ละเลงด้วยสีสันเจิดจ้าจากปลายพู่กัน ตะวัน วัตุยา ยังทำให้จังงังได้อีก

tawanwatuya14

สีที่ผ่านการผสมน้ำบนกระดาษชุ่มนั้นดูสดใส สบายตา แต่ครึ่งล่างคือภาพสะท้อนกรุงเทพฯ ที่นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งปรกติใช้ขนส่งสินค้าข้ามประเทศมาตั้งขวางหน้าพระบรมมหาราชวัง มีลวดหนามซ้อนวางด้านบนเป็นสัญลักษณ์ความยากลำบากที่ขบวนการประชาธิปไตยของนักศึกษาจะฝ่าข้ามไป

“ความหมายของชื่อนิทรรศการ ‘Keep in the dark’ สามารถมองได้สองแง่ ด้านหนึ่งคือความมืดที่เป็นความซับซ้อนของปัญหาซึ่งอยู่คู่สังคมเสมอมายังไม่เคยถูกทำให้คลี่คลาย และใช้วิธีกองทับถมอำพรางความจริงที่ซ่อนอยู่ในเศษซากนั้นๆ รอคอยปุถุชนรุ่นหลังมาชำระล้างคราบรอยด่างแห่งความอยุติธรรมต่อ อีกด้านก็คือความมืดทางปัญญา น่าจะดีถ้าชมนิทรรศการชุดนี้แล้วเกิดแสงสว่างทางความคิดขึ้น”

คือความท้าทายที่ กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ผู้ผลักดันนิทรรศการอยากสื่อสาร

เมื่อศิลปะเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาร้อนแรงที่สุด ระบบคร่ำครึของนิทรรศการศิลปะโดยทางการจึงอาจไม่เหมาะแล้วกับเมืองที่กำลังจะสยายปีกโบยบินอย่างปราดเปรียวสู่ฟ้าใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง

tawanwatuya15

“ก่อนหน้านี้เราคิดเหมือนกันว่าถ้าจัดนิทรรศการนี้แล้วจะต้องเจอแรงปะทะอะไรบ้าง แต่อยากให้มองที่ ‘ปรากฏการณ์จริงทางสังคม’ ที่เราต่างก็เห็นกันในสื่อ มันเป็นความเจ็บปวดของผู้คนที่ตัวศิลปินเองก็พยายามดึงความเจ็บปวดนั้นออกมาถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ หน้าที่ของหอศิลป์ก็เพียงเปิดเสรีภาพให้เขาได้นำเสนอ ซึ่งอันที่จริงนิทรรศการบนพื้นที่นี้ก็ค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป”

ที่ผ่านมา การไม่กล่าวถึงจึงไม่ได้หมายความว่าละเลยต่อความจริง

ในสูจิบัตรนิทรรศการ Keep in the dark สรุปแนวคิดไว้ใจความว่า

การดิ้นรน ต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความหมายที่แท้จริงในคำว่าประชาธิปไตย ต้องล้มลุกคลุกคลานผ่านบาดแผลและชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยมีทั้งผู้สยบยอมหมอบกราบเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ และผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน

นิทรรศการนี้จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอะไรมากไปกว่าชี้รอยปริแตก

แล้วปล่อยให้ผู้คนแทรกตัวเข้าไปคิดอ่านถึงเรื่องราวที่หมกซ่อนอยู่

tawanwatuya16

:: ห้องแห่งความลับ::

คล้ายกับช่วงเวลาของการแสดงมายากลกำลังจะเริ่ม

ศิลปินชวนค้นหา “คนหาย” ในแสงสลัว ซึ่งถูกกระบวนการยุติธรรมทำให้ผู้เรียกร้องทางการเมืองตกเป็นผู้สูญหายขณะลี้ภัย ชวนสบตาใบหน้าที่เปี่ยมความรุ่มร้อนในอุดมการณ์และความหวังของบางคนที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหาแต่ถูกกุมขังทั้งที่ยังไม่ได้รับตัดสินโทษทางกฎหมาย

“ลูกเล่นของห้องนี้คือความมืด ผมใช้โทนสีในการวาดที่ต่างกันกับห้องอื่น จะดูแบบมืดๆ ก็ได้ แต่ถ้าใช้ไฟฉายส่องไปที่ภาพก็จะเห็นความวาวเลื่อมๆ สะท้อนออกมา”

เป็นวิธีนำเสนอที่ทำให้เหมือนถูกมนตร์สะกดแต่แรกเห็น ใบหน้าเหล่านั้นชัดเจนเข้าขั้นต้องคำสาป ราวกักขังจิตวิญญาณผู้เป็นเจ้าของเอาไว้จริงๆ และวินาทีต่อมาก็ชวนตะลึงกับภาพที่เหมือนพวกเขาเจิดจ้าระยิบระยับทั้งที่อยู่ท่ามกลางความสลัว ชวนลุ้นว่าใบหน้าของบุคคลถัดไปจะเป็นอย่างไร

ตะวันสร้างการจดจำให้ผู้คนที่ยืนหยัดต่อต้านอำนาจเห็นคุณค่าของการเดินทางสู่แสงสว่าง ช่วยหาข้อเท็จจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ เพื่อปลดแอกให้ผู้ที่กำลัง “รอแสง” พ้นจากการจองจำของอำนาจมืด

tawanwatuya17

“ผมตั้งใจเอาเรื่องราวของพวกเขามาแอบไว้ในนี้โดยไม่มีลูกศรนำทางมา แล้วปิดม่านไว้ด้วย ใครไม่สังเกตก็จะพลาดชมห้องนี้ ไม่เห็นว่ามีพวกเขาถูกซุกซ่อนอยู่ ไม่เป็นไร…ความจริงมันก็เป็นแบบนั้น”

อย่างไรอุดมการณ์ของพวกเขาก็จะสว่าง-เปิดเผยอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์

*นิทรรศการ Keep in the dark แสดงถึง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ วันจันทร์-เสาร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น.