เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

กลางดึกคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ภายหลังเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ชาวบ้านย้ายพื้นที่ชุมนุมออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาล

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาชุมนุมคัดค้านการพัฒนาโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดย ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เดินทางมาอ่านแถลงการณ์และนั่งรอฟังคำตอบเกี่ยวกับการทบทวนโครงการ การศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน และข้อเรียกร้องให้ชะลอโครงการ จากนายกรัฐมนตรี ในเวลาเลิกงานของทุกวันทำการ มาเป็นระยะเวลาร่วมสัปดาห์แล้ว

ย้อนเวลากลับไปราว 1 ปีก่อน ระหว่างวันที่ 10-15 ธันวาคม 2563 กลุ่มชาวบ้านจากหลายพื้นที่ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าผลักดันโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ราว 50 คน ได้เดินทางจากถิ่นฐานบ้านเกิดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมาถึงกรุงเทพมหานคร

ปลายทางของพวกเขาคือทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ “ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ หยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช.” ก่อนที่จะตัดสินใจปักหลักพักค้างกางเต้นท์นอนที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลกตัดถนนพระรามที่ 5

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นกิจการของเอกชน 2 บริษัท คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอำเภอจะนะกว่า 16,700 ไร่ รัฐบาลผลักดันโครงการนี้ผ่านการใช้อำนาจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ทางเครือข่ายเห็นว่าโครงการนี้เป็นมรดกตกทอดจากยุค คสช. เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการผลักดันโครงการเกิดขึ้นก่อนสิ้นสุดรัฐบาล คสช. ไม่นาน และกลับมาผลักดันในรัฐบาลใหม่อย่างรวดเร็ว

เหนืออื่นใด ทางเครือข่ายเห็นว่าเมกกะโปรเจคนี้ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และดำเนินการอย่างรวบรัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนกฏหมายผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวเป็นม่วง อันหมายถึงการเปลี่ยนสภาพการใช้พื้นที่จากภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว

รุ่งเช้าวันที่ 11 ธันวาคม 2563 หลังผ่านพ้นค่ำคืนแรกในเมืองหลวง

เสียงคนจะนะรักษ์ถิ่นดังขึ้น ณ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

ย้อนฟังเสียงจะนะรักษ์ถิ่น เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

(1)

เขาจะเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง ทั้งที่หมู่บ้านของเราอุดมสมบูรณ์ที่สุด”

กะเย๊าะ ดาหมิ
บ้านปากบาง หมู่ 4 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

“ออกไปจากจะนะ หยุดนิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมันจะมาลงที่จะนะ มันจะมีท่าเรือน้ำลึก เขาจะเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง ทั้งที่หมู่บ้านของเราอุดมสมบูรณ์ที่สุด ทะเลปากบางบ้านเราอุดสมบูรณ์ที่สุด เป็นแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าผังเมืองสีม่วงลง อุตสาหกรรมก็จะตามมา เราเลยต้องมารวมตัวกันอยู่ที่นี่

“ตอนอยู่ที่จะนะ เราออกเรือทุกวัน ออกเรือตอนหกโมงเย็น นอนในทะเล หกโมงเช้ากลับ เรือเล็กก็ออกได้ เราไปกันสองคนกับเพื่อนบ้าน เราไม่มีเรือ เขามีเรือ ก็ช่วยกัน

“ทำประมงมาหลายปีแล้ว ถนัดกับเรือมาก ถ้าให้ตัดยางเราไม่ถนัด แต่ว่าถ้ามีทะเลเราทำมาหากินได้ เพราะว่าทะเลมันอุดมสมบูรณ์ ถ้าจับได้ปลาจาระเม็ดตัวหนึ่งก็ 400-500 บาท มีปู มีกุ้ง กุ้งกิโลละประมาณ 500 กว่าบาท ถ้าเป็นปลาทูก็กิโลละร้อยกว่าบาท ถ้ามีเรือปูมาเราก็ไปช่วยปลดปู กิโลละ 3 บาท ปีหนึ่งเยอะมาก มีหอยมีปูสารพัด คำนวนไม่ถูกเหมือนกัน แล้วที่บ้านเรามีกุ้ง ปู ปลาส่งออกต่างประเทศด้วยนะ

“ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกมาลง อุตสาหกรรมมาลง เราคงจะลำบาก จะหากินไม่ได้ วิถีชีวิตในหมู่บ้านทั้งหมดก็คงจะต้องไ

“ขึ้นมาเรียกร้องที่กรุงเทพฯ สองครั้งแล้ว ไม่เบื่อ ถ้าจะเอาบ้านเราอยู่ เอาบ้านเอาเมืองเรากลับมา เราก็ไม่เบื่อ เราก็ต่อสู้มันไปเรื่อยๆ ต่อสู้แบบ สู้ๆ นั่นแหละ

“เป็นห่วงเหมือนกันว่าเขาอยากลง ก็ขออย่าให้เอามาลงที่บ้านเรา ถ้าลงแล้วมันจะลำบากมาก ไม่มีที่ทำทางทำมาหากินเพราะเราอยู่กับทะเล”

jana nuree

(2)

รัฐเข้ามาถางทางเพื่อให้นายทุนเข้ามาหาผลประโยชน์”

นูรี โต๊ะกาหวี
บ้านบ่อโชน หมู่ 7 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

“ขึ้นมากรุงเทพฯ เป็นครั้งที่สาม ครั้งแรกกับสองก็ภายในปีนี้ เพราะรัฐบาลรุกที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมไม่หยุดหย่อน ครั้งนี้คิดว่าเราจะไม่ยอม เพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมหยุดเหมือนกัน ไม่ยอมฟังชาวบ้านเลย ครั้งนี้ถ้าไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจเราก็จะอยู่ที่นี่ ก็จะไม่กลับ เพราะมันเหมือนรัฐบาลกำลังวางแผนจะฆ่าเรา ฆ่าประชาชน ฆ่าชาวบ้าน ฆ่าไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน โครงการนี้ถ้าเกิดขึ้นมันจะทำลายฐานทรัพยากร ทำลายแหล่งทำมาหากิน ก็เท่ากับฆ่าเราไปจนถึงลูกถึงหลาน

“เราอยู่ที่นี่มานาน มีความสุขกันดี อยู่กันแบบไม่มีปัญหา ทำมาหากินในทรัพยากรตรงนี้ แล้วโครงการก็เกิดขึ้นมา ไม่ได้รับฟังเสียงของเรา ผลประโยชน์ก็ไม่ได้เกิดกับชาวบ้านโดยตรง หรือตกกับรัฐบาล แต่ผลประโยชน์มันได้กับนายทุน นี่ไม่ใช่โครงการของรัฐโดยตรง รัฐเข้ามาถางทางเพื่อให้นายทุนเข้ามาหาผลประโยชน์ แล้วไม่นึกถึงชาวบ้านตาดำๆ ผู้เสียภาษีบ้างหรือไง คิดแต่นายทุนอย่างเดียว ไม่ใช่ มันต้องฟังเสียงประชาชนด้วย โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“ปรกติถ้าไม่มีเรื่องพวกเราไม่อยากเข้ามากรุงเทพฯ หรอก มันวุ่นวาย อยู่บ้านเราไม่มีความวุ่นวายแบบนี้ เราอยู่กันแบบสงบสุข ไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกัน แล้วก็อยู่กันตามธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ อาหารการกินไม่มีอดอยาก ไม่มีความยากลำบาก หรือมีบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับในเมืองที่มีคนเร่ร่อน

“ถ้ารัฐบาลจะเข้ามาลงทุน หรือสนับสนุนคนในพื้นที่ เขาต้องมามองศักยภาพ ฐานทรัพยากรของเรา แล้วนำสิ่งนั้นมาพัฒนาไปในทิศทางถูกต้อง ไม่ใช่วิธีขุดเอามาใช้ครั้งเดียวแล้วจบ มันจะต้องเป็นอะไรที่ยั่งยืน อยู่บนฐานทรัพยากรของเรา

“เรามีทะเลที่สมบูรณ์ ก็น่าจะพัฒนาเรื่องอาชีพ การทำประมง สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาได้ก็เอาไปขยายต่อ หรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จะนะ สงขลา มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเราให้เด่นขึ้นมาชัดเจนจากหน่วยงานรัฐเลยสักเรื่อง ฉะนั้นรัฐต้องลงไปศึกษาให้มันละเอียดถี่ถ้วนก่อน ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร”

jana wainee

(3)

เวทีรับฟังความคิดเห็น เอากองทัพ เอาเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร เกณฑ์มา สิ่งนี้หรือความชอบธรรม”

ไวนี สะอุ
บ้านปากบาง หมู่ 4 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

“ข้อมูลต่างๆ ที่เราพยายามสื่อสารให้รัฐบาลเข้าใจ เขาไม่ได้สนใจ เขาใช้อำนาจผลักดันผ่านองค์กรต่างๆ แบบไม่ได้รับฟัง

“เรามีข้อมูลลึกๆ ว่าทำไมเขาต้องผลักดันพื้นที่ตรงนี้เกือบสองหมื่นไร่ ถ้าคุณมองเพียงแค่การพัฒนาโดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาลงทุน ครอบด้วยอำนาจการเมืองอีกชั้นหนึ่ง คนเขารู้กันนะว่าทุนกลุ่มนี้มีอิทธิพลกับการเมืองยังไง สิ่งเหล่านี้สามารถศึกษาและตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาเราเรียกร้องให้ทางภาครัฐและบริษัทลงมาคุยกับพี่น้อง แต่ไม่มี ทำไมเขาไม่กล้ามาคุยกับเรา เขาจัดเวทีมันก็เป็นแค่สร้างฉาก สร้างภาพ

“เวทีรับฟังความคิดเห็น เอากองทัพ เอาเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร เกณฑ์มา สิ่งนี้หรือความชอบธรรม อันนี้หรือความยุติธรรม อันนี้หรือประชาธิปไตยที่เขากำลังหยิบยื่นให้พวกเรา มันเหมือนเป็นการดูถูก เหมือนเหยียดหยามกันมากกว่า เขามองว่าคนเล็กๆ อย่างพวกเราไม่สามารถผลักดันโครงการใหญ่ๆ ได้ แล้ว ศอ.บต.ก็กลายเป็นกลุ่มหลักที่เขาให้อยู่แถวหน้า คอยดำเนินการ อยู่แนวหน้าให้จัดการทุกระบบทุกระเบียบ ด้วยอำนาจที่มีอยู่ตอนนี้ ทำยังไงก็ได้ให้รีบที่สุด อะไรคือความต้องการของรัฐบาลเพื่อนายทุน กรณีนี้คือชัดเลย บริษัทเอกชนไม่กี่บริษัทที่ร่ำรวยมหาศาลสามารถชี้ชะตาให้กับรัฐบาล ชี้นำรัฐบาลได้ รัฐบาลเองก็ไม่รู้ว่าจะมีเสถียรภาพขนาดไหนที่จะอยู่ต่อไปได้ เขาก็เลยรีบผลักดัน สิ่งเหล่านี้เองที่ชาวบ้านแบบพวกเรารับไม่ได้

“ที่บอกว่าพัฒนาหรือสร้างความเจริญ มุมไหน ยังไง มันเหมาะกับการพัฒนาตามศักยภาพที่เรามีความสมบูรณ์อยู่แล้วแค่ไหน เรามีทะเลที่สมบูรณ์ มีปลา ทำมาหากินกับทะเล ประมง ตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน มันไม่ได้มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน แล้วถ้าผลักดันโครงการแล้วคนเฒ่าคนแก่จะไปไหน เขาไม่เหมาะจะไปทำงานในโรงงานหรือทำอุตสาหกรรม ทุกวันนี้เขาทำงานที่บ้าน ปลดปลา ปลดปู มีรายได้วันหนึ่ง 300-400 บาท หรือบางวัน 400-500 ก็มี นี่คืออาชีพพื้นฐานของเขา สิ่งเหล่านี้ถูกมองข้าม ไม่ได้พูดถึง

“ตอนนี้เขาไม่ยอมให้เราเข้าไปพูดคุย เขาเล่นอีกแบบหนึ่ง อีกฉากหนึ่ง เขาเดินหน้าอีกแบบหนึ่งโดยไม่ฟังเสียงพวกเราว่าต้องการอะไร อยากให้คนของเขามาคุยกับเราแบบตรงไปตรงมา

“พื้นที่ที่เขาจัดเกือบสองหมื่นไร่ รอบๆ มีสถานที่ปฏิบัติธรรม มีมัสยิด เป็นที่ละหมาด และมีกุโบร์หรือสถานที่ฝังคนตาย ถึงแม้โครงการจะไม่ลงตรงๆ แต่มันอยู่ติด ลัดเลาะไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จะย้ายไม่ได้ เป็นเรื่องยากจะตีความว่าเขาคิดอะไร บรรพบุรุษของเราที่จากไปล่วงหน้านับพันนับหมื่นชีวิตที่อยู่ในพื้นดิน ในฐานะลูกหลานเรารับไม่ได้

“ที่ร้ายไปกว่านั้นคือเรามีโรงเรียนเอกชนที่เรียกว่าปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนา จะนะมีโรงเรียนเยอะมาก โรงเรียนอนุบาลโรงเรียนประถมก็มาก โรงเรียนหนึ่งพันคนเกือบสองพันคน ไม่รู้กี่สิบโรง อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาถ้ามีโครงการนิคมอุตสาหกรรม น่าจะมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเยอะมาก

“แล้วจะนะยังเป็นศูนย์รวมเรื่องศาสนา เป็นแหล่งเพาะบ่มผู้รู้ แล้วก็โด่งดัง แม้แต่ที่ซาอุดี้หรือซาอุดิอาระเบียที่เป็นต้นแบบแห่งเอกลักษณ์อิสลาม เขาก็รู้จักคนจะนะในฐานะเมืองผู้รู้ที่โด่งดังระดับโลก คนต่างประเทศก็รู้จัก จะนะโด่งดังด้านความรู้ในอดีต วันนี้ก็ยังมีภาพอย่างนั้น

“วันนี้เรามาเรียกร้องรัฐบาลว่าเรารับไม่ได้ ไม่ยอม คุณต้องมาคุยกับเรา ขอให้คุณทบทวนโครงการ ทบทวนผังเมืองสีม่วงที่คุณเขียนให้กับพวกเรา จากเดิมเป็นสีเขียวหมดเลย แล้วเคยทำร่วมกันทุกภาคส่วน อยู่ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง

“อะไรเป็นเครื่องวัดของพวกที่บอกว่าจะมาสร้างความเจริญ ผมในฐานะครูสอนศาสนา มองว่าลูกหลานของเราไม่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออาชีพอย่างเดียว แต่วัฒนธรรมที่ดีงามจะหายไป เมื่อมันมีอุตสาหกรรมขนาดหนักขนาดใหญ่ในพื้นที่ เรารู้อยู่แล้วว่าการอุตสาหกรรมมันไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ที่เขาขีดไว้ มันมีอากาศ มีบรรยากาศ ที่ต่อเนื่องไปหลายสิบกิโลเมตร”

jana roong

(4)

เมื่อใช้ ศอ.บต. เป็นเครื่องมือแล้ว ศอ.บต. ก็รุกหนักโดยไม่ฟังเสียงใคร”

รุ่งเรือง ระหมันยะ
บ้านสวนกง หมู่ 11 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

“โครงการนี้แต่แรกเขาจะสร้างท่าเรือก่อน ประมาณปี 2553 ผลักดันท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง พยายามผลักดันมาตลอดโดยกรมเจ้าท่าแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีคนคัดค้าน ต่อมาเขาส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา แต่ก็ยังผลักดันไม่สำเร็จอีก แล้วทีนี้ประมาณปี 2559-2560 เขาไม่พูดถึงท่าเรือน้ำลึก แต่พูดถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะเมืองต้นแบบ ซึ่งเขาบอกว่ามันต่อเนื่องมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ยะลา แล้วก็ปัตตานี พื้นที่สีแดงในสงขลามีอยู่ 4 อำเภอที่อยู่ติด 3 จังหวัด คือ นาทวี สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ จะนะก็เลยจะกลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ตอนที่กลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมพวก BOI หรืออะไรพวกนี้เขาก็ไม่รู้เรื่อง แต่เกิดจากการผลักดันของนักการเมืองที่พยายามจะค้าที่ดิน คือเขาซื้อที่ดินที่จะนะไว้เยอะแล้วก็เลยดึงอุตสาหกรรมเข้ามา นั่นคือสาเหตุหลัก

“เมื่อดึงเข้ามา ตอนนี้คนผลักดันไม่ใช่ อบจ. เปลี่ยนมือเป็น ศอ.บต. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. ทั้งที่จริง ศอ.บต. มีหน้าที่จัดการกับความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ

“เขาใช้ ศอ.บต. เป็นเครื่องมือโดยมี กอ.รมน.หนุนหลัง มีทหารกำกับ ศอ.บต. ทำดีมาตลอด ช่วยเหลือชาวบ้าน สร้างความสงบสุข งบต่างๆ ของ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะมาลงที่ ศอ.บต.

“ศอ.บต. ก็เลยเป็นที่กล่าวขานเกี่ยวกับการมีบุญคุณ การของบประมาณ ชาวบ้านจะของบ เดือดร้อน ศอ.บต. ช่วยได้หมด แต่พอมาเจอกับโครงการนี้ เหมือนเขามีแผนล่วงหน้าแล้วว่าต้องให้ ศอ.บต. เท่านั้นถึงจะผ่านได้ เพราะหนึ่ง ศอ.บต. มีท่าทีแหมือนมีบุญคุณกับชาวบ้าน สอง ศอ.บต.มีกฎหมายพิเศษสามารถใช้ได้เมื่อยามจำเป็น

“เมื่อใช้ ศอ.บต. เป็นเครื่องมือแล้ว ศอ.บต. ก็รุกหนักโดยไม่ฟังเสียงใคร จัดเวที 30 เวทีในหมู่บ้าน แต่ละเวทีใช้คนในหมู่บ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องอุตสาหกรรม ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่สามารถเรียกชาวบ้านมาประชุมได้ก็แค่นั้น แล้วพอชาวบ้านถามอะไรเขาก็ตอบไม่ได้ อย่างเช่นชาวบ้านถามว่านิคมอุตสาหกรรมจะมาสร้างบ้านเรามีผลกระทบอะไรบ้าง ไม่ให้สร้างได้มั๊ย เขาตอบ เฮ้ย ไม่ได้ สิ่งไหนถ้ารัฐต้องการแล้วต้องได้ นี่คือคำตอบของคนที่ ศอ.บต.จ้างมา เขาเป็นชาวบ้านแบบเราธรรมดา แต่ ศอ.บต.จ้างมาเพื่อดึงชาวบ้านดึงมวลชน

“ศอ.บต. มีหน้าที่สร้างระเบียบ สร้างความสมานฉันท์ สร้างความสงบ แต่ตอนนี้ ศอ.บต. กลายเป็นคนกำหนดชะตา ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาเสียเอง เรื่องนี้เราก็รับไม่ได้อีกเช่นกัน

“อย่างเขาให้จัดเวที 30 เวที แต่ละเวทีต้องเกิน 100 คน สมมุตได้ไม่ครบ 100 คน ก็จะใช้วิธีการเอาของไปให้ถึงบ้านแล้วก็เอาชื่อ คือมันผิดเพี้ยน ที่พูดมาทั้งหมด ไม่กลัวจะเป็นการกล่าวหา เพราะเป็นเรื่องจริงมีหลักฐาน ถ้าคุณจะเอาผิดตรงนี้ก็มา ผมเคยท้าดีเบตเขายังไม่มา ทำไมเขาไม่มาพูดกับชาวบ้าน คุณหลบอยู่ทำไม ชาวบ้านต้องการจะคุยจะพูด แต่คุณไม่คุย มีแต่จะทำ ทำ ทำท่าเดียว เรื่องนักการเมืองที่ซื้อที่ดินไว้แล้วอยากจะผลักดันโครงการเราก็รู้สึกเจ็บปวดมาก นักการเมืองที่ควรจะอยู่กับชาวบ้าน มาทำแบบนี้มันไม่ไหว”