ณัชญา สังข์นิยม : เรื่อง
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : ภาพ

PM2.5 - 5 ข้อเสนอเชิงระบบ พิชิตฝุ่นด้วยวิทยาศาสตร์และงานวิจัย

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีสนทนาออนไลน์ “ปลดล็อค เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 หัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจ คือ สังเคราะห์ภาพรวมข้อเสนอเชิงระบบ ที่ถือเป็นการขมวดปม สู่ทางออกของการแก้ปัญหาฝุ่นด้วยวิทยาศาสตร์และงานวิจัย

ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่มีศักยภาพสามารถใช้บรรเทาปัญหาฝุ่นควันอย่างเห็นผลเชิงประจักษ์ อาทิ

  • FireD ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่โล่ง
  • DustBoy เครื่องวัดฝุ่นละอองในอากาศต้นทุนต่ำ หรือที่รู้จักในนาม Low cost sensor
  • นวัตกรรมไร่อ้อย ที่ภาคเอกชนหันมาใช้รถตัดอ้อยแทนวิธีเผาระหว่างเก็บเกี่ยว
  • สิงห์บุรีโมเดล โครงการวิจัยและนวัตกรรมร่วมแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วต้องยอมรับว่า “ทุนนวัตกรรม” ที่เรามียังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างน่าพึงพอใจ ด้วยการขาดความเข้าใจ ตลอดจนการเปิดใจยอมรับของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านการแก้ไขปัญหา PM2.5 สังเคราะห์ภาพรวมข้อเสนอเชิงระบบจากเวทีเสวนา สารคดีเรียบเรียงออกมาเป็น 5 เหตุผลที่พอจะบอกได้ว่า ทำไมประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษได้

ขณะเดียวกัน ทั้ง 5 ข้อนี้เองที่เป็นโอกาสและความหวังสำหรับการแก้ปัญหาฝุ่นควันในอนาคต

pm5pros01

ระบบราชการกับการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี

ประเทศไทยมีงานวิจัยด้านของมลพิษอากาศที่ล้ำหน้า เป็นไปตามทิศทางของโลกเยอะ งานวิจัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน Low Cost Sensor, IOT application หรือด้านจักรกลการเกษตรเราก็มี แล้วก็นำมาใช้ แต่ด้วยความที่ในประเทศไทย เรื่องมลพิษอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหม่อยู่ เพิ่งจะ 4-5 ปีเท่านั้นที่เราเริ่มรู้จักและตื่นตัวกับมันจริงๆ การนำมาตรการพื้นฐาน 11 มาตรการของรัฐบาลมาใช้ก็ยังไม่ได้นำนวัตกรรมเข้ามามาก

ดังนั้น เราอาจจะยังไม่มีความพร้อมในการปรับตัวในการนำมาตรการเหล่านี้อย่างที่ในต่างประเทศใช้กัน ยกตัวอย่างเมื่อมีการนำ DUSTBOY (เครื่องวัดฝุ่นละอองในอากาศที่มีราคาถูก การติดตั้งไม่ยุ่งยาก) มาใช้ใหม่ๆ ก็มีการต่อต้าน เพราะว่ายังไม่รู้จัก Low Cost Sensor ว่าคืออะไร มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เราอาจจะยังรู้จักแค่ตัวเซ็นเซอร์เทคโนโลยีแพงๆ ที่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศ

นี่เป็นปัญหาหนึ่ง คือแม้ว่าเราจะทำงานวิจัยที่ทันโลก ได้รับการตีพิมพ์ ใช้งานได้จริง เป็นทิศทางของโลก แต่ระบบการจัดการของเราในภาพรวม ระบบราชการอาจจะยังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีเหล่านี้

pm5pros02

เทคโนโลยีจากงานวิจัยยังไม่มีมาตรฐานรองรับ

Low Cost Sensor หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ FireD เองยังไม่มีตัวมาตรฐานรองรับอย่าง Low Cost Sensor DustBoy ก็พึ่งมีการทำมาตรฐานปรับเทียบกับตัวเซนเซอร์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นมันก็เกิดคำถามกับผู้ใช้ได้ที่อาจจะยังไม่ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ ว่ามันใช้ได้หรือเปล่า ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นวิธีมาตรฐานหรือเปล่า

ที่เราสังเกตได้คือมีคำถามตรงนี้อยู่ ดังนั้นสิ่งที่ระบบ ววน. เอง และรัฐบาล ในภาพรวมสามารถช่วยทำได้คือ ช่วยพัฒนานวัตกรรมของไทยให้มีมาตรฐาน ดีกว่าให้ต่างประเทศพัฒนาจนเป็นวิธีมาตรฐานแล้วก็เอามาขายให้เราอยู่ดี เช่น ถ้าดูสหรัฐอเมริกา USTDA เป็นคนออกวิธีมาตรฐานที่เราใช้เครื่องมือวัดฝุ่น ที่เราซื้อมาใช้ก็อ้างอิงมาตรฐาน USTDA เขาดูว่า Low Cost Sensor พัฒนาอย่างไรให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐาน เขาไม่ได้รอให้ใครให้มาตรฐานกับมันก่อน

ตอนนี้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทยมีกำลังเพียงพอในการพัฒนา และควรพัฒนาเพื่อให้เราได้ผลประโยชน์สูงสุด

pm5pros03

การใช้งานยังเป็น “รายกรณี”

ไม่ว่าจะเป็นกรณี DustBoy หรือนวัตกรรมของทางโรงงานน้ำตาลมิตรผลเองก็ยังเป็นการใช้ที่เป็นรายกรณี เป็นนโยบายในส่วนย่อยๆ เหมือน Bottom-Up จากล่างขึ้นบนอยู่ ยังไม่ได้มีการริเริ่มใช้มาตรการทั้งระบบของทั้งประเทศ ส่วนไหนที่ผู้บริหารเห็นหรือองค์กรเห็นว่าสำคัญ ก็จะหยิบขึ้นมาใช้ แต่ว่ายังไม่ได้เป็นภาพรวม มันจึงยังไม่มีมาตรการเหมือนกฎหมายอากาศสะอาดในต่างประเทศที่ใช้ในต่างประเทศ ขึ้นพรึ่บกันทั้งหมด ถ้าไม่ใช้ก็แปลว่าผิดกฎหมาย

บ้านเรายังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด นี่คือสิ่งที่จำเป็น

DUSTBOY, FireD, นวัตกรรมไร่อ้อย ฯลฯ มีโมเดลการจัดการที่ประสบความสำเร็จแล้วในระดับท้องถิ่น ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับเครือบริษัทเอกชน ซึ่งมันพร้อมที่จะขยายไปสู่ระดับประเทศได้

ฉะนั้นเรามีทุนของนวัตกรรม และการใช้งานจริง ที่สามารถนำไปผนวกกับกฎหมายอากาศสะอาด เมื่อมีแล้วก็บังคับใช้ทั้งประเทศได้ การจะแก้ไขปัญหาอย่างในกรณีสิงห์บุรีโมเดลที่จังหวัดสิงห์บุรีที่ดี คือ เมื่อลดการปล่อยฝุ่นกับสิงห์บุรีแล้ว จังหวัดอื่นท้ายลมก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เช่นเดียวกันการใช้งานนวัตกรรมเหล่านี้ในบางพื้นที่เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นมันไม่เพียงพอ มันต้องเป็นในระดับนโยบาย และระดับกฎหมายที่คลุมไปทั้งประเทศ และต้องดำเนินการทุกหน่วยงานทั้งประเทศ มันถึงจะลดปัญหาฝุ่นได้อย่างชัดเจน อ้างอิงจากประสบการณ์หลาย ๆ ประเทศที่ทำมาแล้ว และสามารถลดฝุ่นไปแล้วหลายสิบปี ซึ่งพวกเขาก็สามารถทำได้

pm5pros04

สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมแบบ Bottom-Up ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

หลายครั้งเราพบว่าภาครัฐเรียกร้องให้ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นก็คือ ภาคประชาชน ช่วยกันลดฝุ่น ทว่าบริบทมันไม่ได้เอื้อให้พวกเขาทำได้ เพราะเขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีทรัพยากรในการดำเนินการ

หลายเทคโนโลยีอย่างแอพพลิเคชั่น FireD เอง ตัวเซ็นเซอร์ DustBoy หรือว่าเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างรถตัดอ้อย เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้ภาคประชาชนกลายเป็นผู้กำหนดการลดการปล่อยมลพิษฝุ่น เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเขาช่วยได้ เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องมีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชนหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องลดการปล่อยฝุ่น หรือว่าภาคการขนส่งต้องได้รับแรงจูงใจ ว่าทำอย่างไรจะไม่เป็นภาระต่อผู้ที่จะลดการปล่อยมลพิษ ต้องมีกฎหมายและนโยบายควบคุมถึงจะทำให้เกิดได้

ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่แก้ด้วยหน่วยงานรัฐ คือ กรมควบคุม หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นไม่ได้แน่นอน เพราะทุกคนปล่อยฝุ่น ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันในการแก้ปัญหา

ยกตัวอย่าง

ถ้าบริษัท เช่น โรงงานน้ำตาลยี่ห้อหนึ่งมีอัตราการปล่อย PM2.5 เท่านี้ต่อกิโลกรัมของน้ำตาลเมื่อเทียบกับน้ำตาลประเภทอื่นๆ คนที่เป็นผู้ตัดสินใจซื้อซึ่งสุดท้ายก็เป็นหนึ่งในผู้ปล่อยมลพิษ เพราะว่าเราซื้อน้ำตาลมาใช้ คนจะผลิตน้ำตาลก็ปล่อย PM2.5 ออกมา ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้ เราจะมีศักยภาพ มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ให้เรา

งานวิจัยทั้งทางนวัตกรรมและนวัตกรรมสังคม สามารถให้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันเลือกทางเลือกที่จะบริโภคสะอาดหรือลดการปล่อยมลพิษได้

pm5pros05

ตามหาผู้บูรณาการทุกภาคส่วน

เมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีผู้ที่จะเข้ามา integrate ตามกฎหมายอากาศ ไทยเราขาดคนที่จะส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนทำงาน เพราะไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด จึงไม่มีผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ตามกฎหมายอากาศสะอาด

ตัวอย่างที่เห็นแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด แต่มีคนทำแล้ว คือ กพร. ในกรณีสิงห์บุรีโมเดล กพร. ทำหน้าที่เป็น integrator เป็นผู้ส่งเสริมหรือเป็นตัวกลางเอาทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน เอางานวิจัยของทั้งภาครัฐ ของมหาวิทยาลัย และงานวิจัยของภาคเอกชนเข้ามา integrate ร่วมกัน แล้วก็ใช้อย่างเป็นทางการในระดับจังหวัด ซึ่งมีหลายกระทรวงเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชน (Supply Chain) จะเห็นว่ามีการรับลูก ร้อยเรียง เพื่อแก้ไขปัญหา มีการกระตุ้นให้เพื่อลดภาระ อีกทั้งยังมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนซึ่งเป็นคนหลักที่จะดำเนินมาตรการการลดมลพิษเหล่านี้ เพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย และตัวกลางเหล่านี้มีความสำคัญ และจะทำหน้าที่ได้ดีมากถ้ามีกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นมาครอบคลุมเพื่อบอกว่ามาตรการต้องทำยังไง อะไรบ้าง

สุดท้าย ถ้ามีกฎหมายอากาศสะอาดและมีตัวกลางมาช่วยในการดึงนวัตกรรมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงาน ลดผลกระทบ ลดการปล่อยมลพิษอากาศ และทั้งหมดต้องอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เราต้องทำงานบนข้อมูล ในการเลือกว่ามาตรการใดดีที่สุด รวมถึงเรียนรู้มาตรการจากบทเรียนของนานาประเทศที่แก้ไขอากาศสะอาดได้ดีที่สุดและเรายังไม่เอามาใช้ ถ้าใช้มันเหมาะกับบ้านเรามั๊ย เราสามารถประเมินผลมันได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมสามารถให้ได้ นอกเหนือจากทุนทางนวัตกรรมที่เรามีมากมาย เรามีทุนอยุ่เยอะมากที่พร้อมจะถูกส่งเสริมเข้าไปในมาตรการเมื่อมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5