เรื่อง : ปาลิดา วีระวัฒน์
ภาพ : อภิสิทธิ์ ปานวิเศษ

มัสยิดจักรพงษ์กับวิถีชีวิต…ของชาวบ้านชุมชนตรอกสุเหร่า
“บังซัน” รองโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดจักรพงษ์ ผู้นำแห่งชุมชนตรอกสุเหร่า เกือบ 7 ทศวรรษแล้วหากนับตั้งแต่เขาเกิดและเติบโตอยู่ในชุมชนแห่งนี้

ตั้งแต่อดีต ณ ตำบลริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ว่ากันว่ามีต้นลำพูขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีชาวบ้านต่างชาติต่างศาสนามาลงหลักปักฐาน เกิดเป็นชุมชนทั้งชาวไทย จีน มอญ ชวา พุทธ และมุสลิม ค่อยๆ เติบโตเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ชื่อว่าบางลำพู

เวลานี้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก ต้นลำพูที่เคยขึ้นเรียงรายอยู่ตามฝั่งไม่เหลือแล้ว และบางลำพูก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะที่ตั้งของ “ถนนข้าวสาร” สวรรค์ของนักท่องราตรีเพียงเท่านั้น แต่กระนั้นสีสันของย่านบางลำพูก็ไม่ได้หายไปเมื่อเสียงเพลงยามกลางคืนหยุดลง เพราะในยามกลางวันวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนต่างๆ ยังสร้างชีวิตชีวาให้กับย่านเก่าแก่แห่งนี้

นาฬิกาบอกเวลา 10 โมงเศษ พระอาทิตย์สาดแสงกระทบสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตน้อยใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร ไอร้อนจากแดดพาให้เหงื่อเม็ดเล็กผุดบนใบหน้าขณะที่เดินเลียบถนนจักรพงษ์ หนึ่งในถนนการค้าสำคัญของบางลำพู เดินมาเรื่อยๆ จนถึงตรอกเล็กตรงข้ามห้างตั้งฮั่วเส็ง ด้านหน้ามีซุ้มประตูคอนกรีตสีเทาหม่น ประดับตัวอักษรสีทองเรียงประกอบกันเป็นคำว่า “มัศยิดจักรพงษ์” เลี้ยวเข้าตรอกมาไม่กี่สิบก้าวก็พบประตูรั้วทางเข้าสู่พื้นที่ของมัสยิดจักรพงษ์ ศูนย์รวมใจของชาวบ้าน “ชุมชนตรอกสุเหร่า”

ก้าวพ้นประตูรั้ว สถาปัตยกรรมของมัสยิดเป็นสิ่งแรกที่ส่งเสียงเรียกให้หันไปชม

troksurao02
บรรยากาศการรอรถขนส่งสาธารณะบริเวณปากซอยทางเข้ามัสยิด เพื่อแยกย้ายเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จพิธีละหมาดในช่วงเที่ยงของวัน
troksurao03
สิ้นเสียงกล่าวทักทาย “อัสลามูอาลัยกุม” อันมีความหมายว่า “ขอสันติสุขจงมีแด่ท่าน” แววตาและสีหน้าเคร่งขรึมภายใต้ฮิญาบต่างสี พลันเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มสดใสต้อนรับผู้ทักทายด้วยความเป็นกันเอง

อาคารคอนกรีตสูงสองชั้น บนยอดสุดมีหออะซานรูปทรงแปดเหลี่ยม คอยประกาศเรียกละหมาด ด้วยอาคารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเน้นการใช้ประโยชน์ตามหลักคำสอนในศาสนามากกว่าการใช้รูปแบบที่สื่อถึงชนชาติ ทั้งอาศัยรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนิยมในขณะนั้นมาปรับใช้ โครงสร้างอาคารภายนอกจึงเรียบง่าย แต่งดงาม

นอกจากนี้ประตูหน้าต่างของมัสยิดยังคงลักษณะโค้งมน บ้างประดับด้วยไม้สักฉลุลาย บ้างประดับด้วยกระจกสีตามความนิยมในสถาปัตยกรรมอิสลาม ขอบหน้าต่างสีเขียวเข้มและขาวตัดกับสีเหลืองอ่อนของตัวอาคารอย่างลงตัว และเมื่อแดดยามสายส่องมากระทบกับสีเหลืองอ่อน ก็ช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นราวกับจะกล่าวต้อนรับผู้มาเยือนสู่ “บ้านของอัลเลาะห์” แห่งนี้

“อัสลามูอะลัยกุม ขอความรักความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าจงประสบกับท่าน ขอยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาเยี่ยมชมมัสยิดจักรพงษ์” ไม่ใช่เสียงจากกำแพงสีเหลืองนวลเมื่อครู่ แต่เป็นเสียงของ โอภาส มิตรมานะ หรือบังซัน ชายอายุ 68 ปี ผู้ควบตำแหน่งผู้ช่วยอิหม่ามประจำมัสยิดจักรพงษ์และประธานชุมชนตรอกสุเหร่าที่มากล่าวคำต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เมื่อจัดแจงหาที่นั่งภายในมัสยิดเพื่อสนทนากันได้อย่างสะดวกแล้ว บังซันจึงเริ่มเล่าถึงความพิเศษของมัสยิดและชุมชนแห่งนี้

“เอกลักษณ์ของชุมชนตรอกสุเหร่าคือมีมัสยิดจักรพงษ์เป็นศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวคนในชุมชน เรามีความภาคภูมิใจว่ามัสยิดนี้เป็นหลังเดียวและหลังแรกที่อยู่ในเขตพระราชฐานมา 200 กว่าปี”

การก่อตั้งมัสยิดเริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือกันของคนในชุมชน ดังที่บังซันอธิบายไว้ว่า หากมีชุมชนมุสลิมที่ไหนจะต้องมีมัสยิดที่นั่น เมื่อกลุ่มชาวมุสลิมอพยพจากทางใต้มาลงหลักปักฐานอยู่ที่บางลำพู จึงหารือกันเพื่อร่วมสร้างมัสยิดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเป็นเสมือนพื้นที่ช่วยเหลือดูแลพัฒนาทั้งชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจของคนในชุมชน

จากคำบอกเล่าของบังซัน สมัยก่อน สภาพแวดล้อมในชุมชนยังเป็นสลัม มีทางเดินเป็นไม้แผ่นเดียว จนกระทั่งทางการเข้ามาช่วยเทปูนทำทางเดินให้ การดูแลสาธารณสุขจึงเกิดขึ้น เมื่อก่อนพื้นที่มัสยิดเล็กกว่านี้ มีรากฐานเป็นซุง ชั้นล่างใต้ถุนเป็นหลุมหลบภัย และชั้นบนสุเหร่าไม่มีเสาด้วยการออกแบบถ่ายน้ำหนักไว้ อาคารปัจจุบันคนในชุมชนช่วยกันปรับปรุงใหม่ ทั้งติดแอร์ เทพื้น เอาปูนมาเททับซุง

“การเปลี่ยนแปลงก็เป็นความร่วมมือกันของคนในชุมชน ปรับวิถีชีวิตไปเรื่อยๆ”

troksurao04
เมื่อพิธีละหมาดจบลง ศาลาหน้ามัสยิดก็ถูกจับจองไว้ด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเหล่าผู้ศรัทธาที่ล้อมวงสนทนากันอย่างสบายๆ
troksurao05
ในซอยขนาดเล็ก อีกหนึ่งเส้นทางสัญจรของชุมชนที่เชื่อมโยงมัสยิดจักรพงษ์กับโลกภายนอก ร้านข้าวแกงเจ้าอร่อยกำลังครึกครื้นไปด้วยผู้ศรัทธาที่เดินทางมาทำละหมาดรวมหมู่ในเช้าวันศุกร์

นาฬิกาบอกเวลาเที่ยงเศษ เสียงอะซานจากหออะซานก็ดังขึ้น เสียงร้องภาษาอาหรับดังกังวานเป็นสัญญาณบอกชาวมุสลิมในชุมชนว่าถึงเวลาละหมาดรอบบ่ายของวันแล้ว เสียงจากลำโพงดังจนต้องหยุดบทสนทนาไว้กะทันหัน เอ่ยปากถามบังซันว่าเสียงจะดังนานแค่ไหน

“ทำไมล่ะ เพราะดีออก”

เมื่อหยุดและตั้งใจฟังจึงพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วย บังซันยิ้ม จากนั้นจึงลุกขึ้นขอตัวไปเตรียมละหมาด

เดินออกมานอกอาคาร เด็กเล็กวัยกำลังซนส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวกันขณะล้างทำความสะอาดร่างกายก่อนการละหมาดอยู่ที่ลานชำระล้าง อีกด้านหนึ่งกลุ่มผู้สูงอายุกำลังก้าวเท้าเข้าโถงละหมาดด้วยความสงบ

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การละหมาดคือการเข้าเฝ้าพระเจ้าและผูกหัวใจของพวกเขาไว้กับหัวใจของพระองค์ แม้การละหมาดจะมีระเบียบหลายข้อที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำละหมาดด้วยหัวใจบริสุทธิ์ เพื่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ขณะที่ช่วงเวลาของความศรัทธากำลังดำเนินไปนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการเดินสำรวจพื้นที่นอกอาคารมัสยิด

ภายในบริเวณรั้วของมัสยิดมีลานกว้างตั้งหลังคาเหล็กโค้งบังแดด เห็นเหล่าคุณน้าคุณป้าตั้งโต๊ะปูเสื่อกันอยู่ใต้ร่ม บ้างขะมักเขม้นกับการปรุงหม้อแกงใหญ่ บ้างก็นั่งพักผ่อน ความสงสัยจึงกระตุ้นให้เข้าไปกล่าวทักทายและเปิดบทสนทนากับหญิงท่าทางใจดีตรงหน้า ชื่อของเธอคือยายติ๋ม

ยายติ๋มเป็นแม่ค้าขายข้าวแกงอยู่หน้าตรอกมัสยิดมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ตอนนี้สถานที่ขายประจำของเธออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทางมัสยิดจึงอนุญาตให้เธอมาใช้ลานกว้างนี้สำหรับทำอาหารไปขายด้านนอกได้ชั่วคราว

เช่นเดียวกับบังซัน ยายติ๋มเกิดและเติบโตที่ชุมชนแห่งนี้ จนถึงวันนี้ จึงเป็นเวลา 68 ปีแล้วที่ร่างกายและจิตใจของเธอผูกพันอยู่กับมัสยิดและชุมชน

“ยายติ๋มมองมัสยิดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เราได้อาศัยทำมาหากิน ที่เราได้อยู่ได้ละหมาด พอถึงเวลาถ้าเราไม่ทำละหมาดที่บ้าน เราก็มาทำละหมาดที่มัสยิด เวลาใครไปใครมาก็รู้กันว่ามีร้านข้าวแกงยายติ๋มอยู่ที่มัสยิดจักรพงษ์

“อยู่ใกล้มัสยิดนี่ก็ดีอีกอย่างหนึ่ง คือมีปัญหาอะไรเราก็เข้ามาได้ เวลาเครียด กลุ้มใจ เราก็เข้ามานั่งในมัสยิดแทน มานั่งเล่น อ่านหนังสือ เป็นที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจได้มากเลย เพราะว่าตัวเราเจอเรื่องหนักๆ มาเยอะ”

troksurao06
“ความสงบสันโดษ” เป็นสิ่งที่จำเป็นในการละหมาด เพราะการระลึกถึงพระเจ้านั้นจำเป็นต้องมีแค่คุณและพระองค์
troksurao07
สัญลักษณ์ดวงดาวและจันทร์เสี้ยว พร้อมชายสูงวัยในชุดโต๊ปพร้อมทำการละหมาด บ่งบอกว่าเราได้เดินทางมาถึงบ้านของอัลเลาะห์แล้ว

แม้ชุมชนตรอกสุเหร่าดั้งเดิมจะเป็นชุมชนมุสลิม แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป มีคนย้ายออก และมีคนย้ายเข้ามาใหม่ ชุมชนจึงมีความหลากหลาย แต่ถึงแม้จะไม่ใช่ชาวมุสลิมก็ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างดี

“เรื่องอยู่ส่วนรวมไม่มีปัญหา อย่างในซอยนี้คนจีนคนไทยทั้งนั้น มีบ้านยายติ๋มเป็นแขกอยู่คนเดียว จริงๆ ตรงโน้นก็เปิดเป็นเกสต์เฮาส์ มีฝรั่งมาบ้าง แต่ก็ต้องเข้าใจ มันเป็นอาชีพเขา”

ยายติ๋มคงหมายถึงการมาถึงของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเติบโตของถนนข้าวสาร ถนนท่องเที่ยวชื่อดังที่ผู้คนทั้งไทยและต่างชาติมาเยี่ยมเยียนเพื่อหาความอภิรมย์ในยามราตรี

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจสถานบันเทิงรุกคืบพื้นที่ชุมชนเข้ามาเรื่อยๆ และค่อยๆ แทนที่สิ่งเก่า น่าเศร้าที่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ที่บางลำพู หลายพื้นที่ก็กำลังตกอยู่ใต้ลมมรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนถูกพัดปลิวหายไปอย่างไม่มีวันหวน

หากแต่ชุมชนเล็กๆ ในย่านบางลำพูแห่งนี้ถือเป็นแบบอย่างในฐานะชุมชนที่สามารถรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าของตนไว้ พร้อมทั้งเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางสายลมนั้น

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชนตรอกสุเหร่ากับมัสยิดจักรพงษ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

“เหมือนกับเป็นครอบครัวน่ะ” ยายติ๋มกล่าวถึงชุมชนบ้านเกิดของเธอ

อ้างอิง

  • ลลิตา อัศวสกุลฤชา. (2561). มัสยิดจักรพงษ์ : สถาปัตยกรรมมุสลิมสำคัญแห่งเกาะรัตนโกสินทร์. จาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=101