เรื่อง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล

พื้นที่ วัตถุ เวลา กับสี่วันในเดือนกันยายน Four Days in September

ภาพข่าวขนาดใหญ่ ตุ๊กตาเป่าลมกองพะเนิน พัดลมเพดาน กีต้าร์หนึ่งตัว กล้องวิดีโอที่ถ้าไม่สังเกตก็มองไม่เห็น และผืนผ้าเจ็ดสีที่พาดขึงเป็นฉากหลังรับแสงไฟสาดส่อง คือสิ่งแรกๆ ที่เราเห็นเมื่อก้าวเสู่พื้นที่การแสดง อาจบอกได้ว่า สิ่งเหล่านี้มีความหมายเชื่อมโยงและสะท้อนถึงการเมืองไทย

“ความปุบปับเปลี่ยนแปลง ความเป็นมาเป็นไป อยู่กันอย่างไร และจะไปยังไงต่อ”

คือนิยามของสี่วันในเดือนกันยายน-Four Days in September (The Missing Comrade) ที่ผู้กำกับ วิชย อาทมาท จากกลุ่มละคร For What Theatre บอกเล่าให้เราฟัง ว่ามีจุดเริ่มต้นจากความสนใจการหายไปและกลับมาของทั้งสัญลักษณ์ทางการเมือง หมุดคณะราษฎร์ อนุสาวรีย์ สถานที่ ชื่อสถานที่ พรรคการเมือง คน และหรือ “สิ่งที่ถูกทำให้หาย”

ละครประกอบร่างขึ้นปี ๒๕๖๔ ช่วงที่ภาวะการเมืองไทยรุนแรงและระส่ำระส่ายทั้งในสภาฯ และบนท้องถนน แต่เนื้อเรื่องที่นำเสนอย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เริ่มตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕โดยคณะราษฎร การรัฐประหารครั้งที่ ๑ ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกถอดถอน การเลือกตั้งครั้งใหม่ และวนกลับมาที่การรัฐประหารอีกครั้ง โดยเปิดเรื่องด้วยตัวละครมองหน้าผู้คนอย่างทักทาย พลางเคลื่อนย้ายสิ่งของในฉากต่อหน้าต่อตา ฉลองวันเกิดให้คุณพัดลมตัวเก่าของตัวละครที่เรารู้สึกคุ้นเคยบ้างไม่คุ้นเคยบ้าง ล้อมวงคุยเรื่องต่างๆ นานาแทรกด้วยภาพอดีต แล้วค่อยปล่อยหมัดฮุกกระแทกความทรงจำผู้ชมแรงๆ

สี่วันในเดือนกันยายน พาเราหันกลับไปมองสังคมไทยที่เฉียดผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นเหมือนพื้นที่จำลองที่หยิบเอาผู้คน เหตุการณ์ เรื่องราวเข้ามาไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง ขมวดความซ้ำซ้อนยาวนานของปัญหาสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้สถานการณ์ทางการเมืองของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ทั้งชุดข้อมูลข่าวสาร ภาพความทรงจำ หรือมวลความรู้สึกอันละเอียดอ่อน การเลือก หยิบ ยก สถานที่ สิ่งของ ฯลฯ ที่จะช่วยซัปพอร์ตการเล่าเรื่องจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของผู้กำกับอย่าง วิชย อาทมาท และทีมโพรดักชันดีไซน์เนอร์จาก DuckUnit พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ และ เรืองฤทธิ์ สันติสุข

4dayssep01
4dayssep02

พื้นที่ วัตถุ ตุ๊กตาเป่าลม

ห้องไม่ว่างที่เราเห็นใน “พื้นที่” ที่ เรืองฤทธิ์ สันติสุข นิยามไว้ของสี่วันในเดือนกันยายน ถูกเลือกมาเป็นฉากหลังของละครเรื่องนี้ บนพื้นสี่เหลี่ยมรายล้อมด้วยเพนกวินเป่าลมตัวน้อย มีตุ๊กตาเป่าลมอื่นๆ ไม่ว่าเป็ดเหลืองตัวใหญ่ยักษ์ พิซซ่าชิ้นโต เบาะรองนั่งเป่าลมสายรุ้งแสนน่ารัก และอีกสารพัดของเป่าลมที่ตั้งเด่นกลางเวที เบื้องหลังเป็นผ้าสีรุ้งผืนใหญ่ขึงตรึงราวฉากกั้น แต่ก็บางจนมองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิด พื้นละครด้านล่างเป็นภาพข่าวขนาดใหญ่หลากหลายข่าวถูกตัดปะเข้าไป และสุดท้ายคือพัดลมเพดานตัวเก่าที่มีวันเกิด มีการเฉลิมฉลอง และอยู่มานาน

“พัดลมกับเป่าลมมัน relate กัน”

วิชย อาทมาท บอกเรา ตามด้วยความเห็นของ พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์

“เป่าลมสำหรับเรา หมายถึงเราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อแบบหนึ่งซึ่งมันแข็งแรง แล้ววันหนึ่งมันหายไปเฉยๆ ได้ เหมือนลมที่ถูกปล่อยออกไป มันก็จะแฟบ แล้วยึดจับอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่เรายึดจับไว้ตอนแรก”

เมื่อสิ่งที่สื่อถึงความรู้สึกมั่นคงและไม่มั่นคงตั้งอยู่บนพื้นที่จำลองในละครเรื่องนี้ ทำให้คนดูเปรียบเทียบสภาวะที่กำลังเป็นในสังคมไทย ตุ๊กตาเป่าลมอาจเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มม็อบคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนถึงสิ่งที่บางครั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ บางครั้งมีให้เห็น บางครั้งก็เปลี่ยน หาย กลายเป็นอย่างอื่น

ความเชื่อ ความหวัง ความฝัน หรือสิ่งที่คนคนหนึ่งพึงจะมีได้

4dayssep03
4dayssep04
4dayssep05

พื้นที่ วัตถุ พัดลมเพดาน

คุณพัดลมในเรื่องก็คงคล้ายๆ กัน และเป็นอะไรมากกว่าที่เราคิด

“โครงสร้างพัดลมเป็นได้หลายอย่าง แล้วแต่คนมอง มีความเป็นฟังก์ชันและไม่เป็นฟังก์ชัน เราสนใจการอยู่บนนั้นและยังอยู่ได้”

ผู้กำกับละครคลายข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อให้เราคิด

ในพื้นที่จำลองแห่งนี้ พัดลมเพดานพี่พัดพาตัวละครทั้งห้ามารวมตัวกันในแต่ละวันเดือนกันยาคงเป็นอะไรสักอย่างที่อยู่เหนือหัวเรา

พัดลมมีหน้าที่ให้ความเย็น วันหนึ่งมันพังไม่อาจให้ความเย็น ไม่สามารถซ่อมแซมได้ หน้าที่ของพัดลมจึงถือว่าหมดลง ถ้าเป็นพัดลมตั้งโต๊ะก็คงจะถูกโล๊ะไปไว้ในห้องเก็บของ หลบมุมรอเวลาหมดความเสียดายแล้วส่งไปให้บ้านใหม่ร้านขายของเก่า แต่สำหรับพัดลมเพดาน หลายบ้านหลายสถานที่ก็ปล่อยมันไว้ ไม่คิดเอาลง แม้เก่าใกล้พัง หรือใช้งานไม่ได้ มันก็คงอยู่อย่างนั้น…ยาวนาน

ถ้าจะเปรียบพัดลมเพดานตัวนี้เป็นอะไรสักอย่างในสังคม คงต้องย้อนไปมองประเด็นที่ละครเล่า

การรัฐประหารครั้งที่ ๑ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกถอดถอน การเลือกตั้งครั้งใหม่ และวนกลับมาที่การรัฐประหารอีกครั้ง

คงจะเป็นระบบ อำนาจ หรืออาจหมายรวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้

ละครบอกเราว่าคุณพัดลมถูกติดตั้งและอยู่มานาน ขณะเดียวกันก็บอกเราตอนท้ายในจังหวะที่มันพังร่วงหล่นลงพื้น

ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอด ในวันหนึ่ง สิ่งที่ตั้งอยู่ก็ดับสูญได้

4dayssep06
4dayssep07

พื้นที่ เวลา คนกับหนู

หนึ่งปีมี ๓๖๕ วัน ๑ วันมี ๒๔ชั่วโมง ๑ ชั่วโมงมี ๖๐ นาที และ๑ นาทีมี๖๐ วินาที…

เมาส์เป็นชื่อของหนูแฮมสเตอร์ที่เลี้ยงด้วยระบบเปิดอายุ ๑๒ ปี แม้ไม่ได้อยู่ยาวนานเท่าคุณพัดลมเพดาน แต่ก็ถือว่าอายุยืนกว่าหนูแฮมสเตอร์ทั่วไปที่มีอายุเฉลี่ย ๒-๓ ปี

ป้าตอยคือเจ้าของครรภ์หลายสิบปีที่อั้นคลอดมาตั้งแต่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี ๒๕๖๓ ที่มีการปักหมุด “คณะราษฎร ๒๕๖๓” เธอก็ยังตั้งครรภ์

ชวนคือใครบางคนที่หายไปในวันฟ้าผ่าเดือนกันยายน มีการออกตามหา ถูกหลงลืม และอีก ๑๑ ปีต่อมา ใครคนนั้นก็กลับมาในแบบที่ต่างออกไป

หนูแฮมสเตอร์อายุ ๑๒ ปี ผู้หญิงตั้งครรภ์หลายสิบปี และใครบางคนที่หายไป ๑๑ ปี

ในพื้นที่จำลองแห่งนี้คงไม่อาจนับเวลาตามมาตรฐานสากลได้

สี่วันในเดือนกันยายน สร้างการรับรู้เรื่องเวลาแบบไม่ปรกติ การรับรู้เวลาของแต่ละคนต่างกัน เช่นกันกับแม่แบบพื้นที่หรือสังคมและการเมืองไทย

“ละครเรามีความประหลาดตรงที่พูดถึงวันที่ผ่านมา พูดถึงอดีต อนาคต แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันถอยหลังหรือเดินหน้า ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรของสิ่งที่มันเป็นอยู่”

คือเสียงของ พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ ที่เอ่ยถึงเวลาในละครเรื่องนี้

หนูแฮมสเตอร์มีอายุยืนยาวถึง ๑๒ ปีได้หรือ ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์นานขนาดนั้น และใครบางคนหายไปถึง ๑๑ ปีได้อย่างไร

เป็นความสับสนมึนงงในละคร รวมไปถึงสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน

เรารับรู้เวลาไม่เท่ากันใช่ไหม เราเดินหน้าและถอยหลังอย่างที่กล่าวจริงหรือไม่ เวลาจริงและเวลาไม่จริงคืออะไร

และเวลาเดินหน้าตลอดไป

หรือหยุดลงที่เดิม

4dayssep08
4dayssep09

ฉากสุดท้าย พื้นที่ เวลา อนาคต

๒๐๓๒ (พ.ศ. ๒๕๗๕) คือตัวเลขเด่นหราอยู่ในกันยายนวันสุดท้ายของเรื่อง

ใครบางคนที่หายไปกลับมาร่วมฉลองวันเกิดคุณพัดลม

ลูกป้าตอยคลอดออกมาแล้ว การตั้งครรภ์ยาวนานสิ้นสุดลง

ขณะคุณพัดลมมีอาการง่อนแง่น เสียงมอเตอร์ดังผิดจังหวะ ใบพัดหมุนช้าๆ แล้วตัวเครื่องก็ค่อยๆทลายร่วงหล่นลงมาในวันเกิด

๒๐๓๒ ในพื้นที่จำลองที่ผู้กำกับและดีไซเนอร์ออกแบบนั้นเต็มไปด้วยความหวัง เป็นอนาคตที่หลายคนใฝ่ฝัน แม้ ๒๐๓๒ ในโลกความจริงจะไม่มีทางรู้ว่าเป็นอย่างไรต่อไป เรืองฤทธิ์ สันติสุข ทีมดีไซเนอร์ก็ยังมอบความหวังแก่เรา

“เราก็ทำสิ่งที่เราถนัด ทำต่อไป มันจะก่อเป็นรูปเป็นร่างเอง เราเชื่อแบบนี้ ส่วนจะส่งผล จะเกื้อกูลอะไร ก็แล้วแต่มัน”

ใน ๒๐๓๒ จะได้เห็นอนาคตรูปแบบนี้ไหม หรือต้องใช้เวลาอีกเท่าไร

เป็นคำถามที่ฝากไว้เพื่อช่วยกันค้นหาคำตอบ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เห็น ๒๐๓๒ นี้ในสักวันหนึ่ง