ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

๑
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา (ratchakitcha.soc.go.th) ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานใหม่ หลังยึดค่าเดิมมายาวนานหลายปี
หลังจากที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน หรือ “PM 2.5” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ [ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ.๒๕๕๓) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓] ผ่านมากว่า ๑๐ ปี มีข้อเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ ให้ปรับตัวเลขค่ามาตรฐานให้ทันยุคสมัย สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ แผ่ขยายไปทุกภูมิภาค ทวีความรุนแรงและซับซ้อน จนต้องมีการกำหนด “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ” นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ก่อนยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณา
หลังยึดโยงตัวเลขเดิมมายาวนานกว่าสิบปี ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าด้วยค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีข้อความส่วนหนึ่งว่า
…มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ และตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ให้ค่าเฉลี่ย ในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร …มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ในเวลา ๑ ปี จะต้องไม่เกิน ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร |
เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเดิมในอดีต จากค่าเฉลี่ยราย ๒๔ ชั่วโมง เท่ากับ ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเปลี่ยนเป็น ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิมเท่ากับ ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เปลี่ยนเป็น ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นอกเหนือจากตัวเลขต่างๆ ข้างต้น ราชกิจจานุเบกษายังระบุถึง “ข้อกำหนด” อื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ วิธีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง ว่าให้ทำในอุณหภูมิและความดันบรรยากาศสภาวะจริง (Actual conditions ) อยู่สูงจากพื้นดินอย่างน้อย ๑.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๑๕ เมตร
มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป โดยใช้วิธีการตรวจวัดตามที่ประกาศ


๒
ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๔๘ องค์การอนามัยโลกเคยมีข้อแนะนำในการกำหนดเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย ๑ ปี กรณีฝุ่นละออง PM2.5 โดยแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ ตามแต่ความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะเลือกนำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ๓๕, ๒๕, ๑๕ และ ๑๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ต่อมาในปี ๒๕๕๓ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของประเทศไทย ได้ดำเนินการตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนดค่าเฉลี่ยในเวลา ๑ ปี อยู่ที่ไม่เกิน ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่ไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และได้เริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด PM2.5 ในปีต่อมา หากแต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่มีการนำค่า PM2.5 มาใช้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศในประเทศไทย
สำหรับการปรับค่ามาตรฐานครั้งใหม่ เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ ๓ ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ที่กำหนดให้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในกรณีค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ควรอยู่ที่ ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปี ควรอยู่ที่ ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
๓
เสียงเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษทบทวนและปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดังถี่ขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จนทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเคยก้าวขึ้นไปติดอันดับดัชนีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก
ขณะที่ตัวเลขค่ามาตรฐานเดิมก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเปิดช่องให้กับผู้ปลดปล่อยมลพิษมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด มีข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 พบว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองได้
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปรับค่าเป็นไปอย่างล่าช้า ภาครัฐชะลอการประกาศแก้ไขเรื่อยมา เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่จะสามารถควบคุมฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ฯลฯ กลายเป็นความกังวลของหน่วยราชการเอง ว่าจะไม่สามารถควบคุมดูดแลให้เกิดการปฏิบัติตามค่ามาตรฐานใหม่
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เคยให้สัมภาษณ์ The Active หัวข้อข่าว “ค่ามาตรฐานใหม่ (ดัก) ฝุ่น PM 2.5 : เปิดทางยกระดับแก้ปัญหาฝุ่น” ความตอนหนึ่งว่า
“กลัวหน่วยราชการด้วยกันเอง ที่จะมีคำถามว่า จะสามารถทำได้ตามค่ามาตรฐานใหม่หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้แค่ตัวเลข ๕๐ เรายังทำไม่ได้เลย อย่างการใช้น้ำมันยูโร ๕ ตามแผนเดิมที่จะต้องใช้ในปี ๒๕๖๔ ก็ขอเลื่อนไปเป็นปี ๒๕๖๗ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่พร้อม และตอนนี้รถยนต์ใน กทม. ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปี ๒๕๖๓ เพิ่มมากถึง ๗๐๐,๐๐๐ คัน เครื่องยนต์ดีเซลก็มีมากถึง ๒.๘ ล้านคัน”
ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงความสำเร็จของการปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้นครั้งนี้ว่า เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้นเทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้นๆ ได้แก่สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน
๔
ฝุ่น PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบรุนแรงในแต่ละปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพมีทั้งแบบเฉียบพลัน อาทิ แสบตา คัดจมูก ภูมิแพ้กำเริบ ไม่สามารถออกนอกบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปรกติ ฯลฯ และแบบเรื้อรัง อาทิ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
การกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะทำให้เกิดการบังคับ ควบคุม ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมา เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอากาศที่เราหายใจ
อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมายที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งรัดจัดการ ยกตัวอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการจัดทำ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมเคยประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๖๓) กำหนดให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศรายชื่อสารมลพิษหรือสารเคมีที่ต้องจัดทำรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด
การกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองใหม่เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ตราบใดที่ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จะปรับตัวเลขไปอย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์