We don’t need no education.
We don’t need no thought control.
No dark sarcasm in the classroom.
Teachers leave them kids alone.
Hey! Teachers! Leave them kids alone!
All in all it’s just another brick in the wall.
All in all you’re just another brick in the wall.

We do need education - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 450

เพลง “Another Brick in the Wall” – Part 2 ของวงดนตรี Pink Floyd ซึ่งออกซิงเกิลเดี่ยวในปลาย ค.ศ. ๑๙๗๙ (ปี ๒๕๒๒)น่าจะเป็นหนึ่งในเพลงที่คนจดจํามากที่สุดเมื่อนึกถึงวง Pink Floyd มาถึงปัจจุบัน (และในอนาคต)

ไม่นับว่าใน ค.ศ. ๑๙๘๐ เด็กนักเรียนผิวดําในประเทศแอฟริกาใต้ใช้เพลงนี้ปลุกกระแสประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศ จนถูกรัฐบาลสั่งแบนห้ามเผยแพร่ แต่กว่าประเทศแอฟริกาใต้จะยุติความไม่เท่า

ในโรงเรียนได้ก็อีกกว่า ๑ ทศวรรษ พร้อมกับสามารถเปิดบทเพลงที่ได้ชื่อว่าต่อต้านระบบการศึกษา ต่อต้านการใช้อํานาจของผู้ใหญ่ที่กระทํากับเด็ก

เพลงท่วงทํานองจังหวะซ้ํา ๆ และเสียงคอรัสเปล่งตะโกนของเด็ก ๆ ย้ําว่า

“เราไม่ต้องการการศึกษา!”

(การใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ คือ don’t need กับ no อาจทําให้งงว่าความหมายน่าจะกลายเป็น “เราต้องการการศึกษา!” แต่ความจริงเป็นสแลงในภาษาอังกฤษ ใช้ย้ําการปฏิเสธ)

ผู้แต่งเพลง โรเจอร์ วอเตอร์ส สมาชิกคนสําคัญของวง เคยให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังว่าเขาเล่นคําเพื่อประชดแค่ว่า “เราไม่ต้องการการศึกษาแบบนี้” แต่ไม่ใช่ปฏิเสธการศึกษาทั้งหมดอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ห้องเรียนที่ครูคอยพูดทําร้ายจิตใจเด็ก ใช้อํานาจสั่งสอนด้วยการตวาด ดุด่า และลงโทษ ตีกรอบทําลายความคิดสร้างสรรค์และแปลงโฉมเด็กทุกคนที่แตกต่าง ให้กลายเป็นมนุษย์ไร้ใบหน้าเหมือน ๆ กัน บังคับเดินเรียงแถวไปตามสายพานจนตกลงไปใน “เครื่องจักร” ที่บดขยี้ตัวตนให้เหลือแค่ “เนื้อบด”

คือภาพเสียดสีแดกดันในหนังเพลงผสมแอนิเมชัน Pink Floyd – The Wall (ค.ศ. ๑๙๘๒) สะท้อนการใช้อำนาจในระบบการศึกษาที่บทเพลงนี้ปฏิเสธ

แล้วการศึกษาแบบไหนที่เราต้องการ? การศึกษาแบบไหนที่ควรจะเป็น ?

ผมคิดว่าชื่อเพลง “Another Brick in the Wall” ซ่อนคําตอบไว้

มันคือการศึกษาที่ไม่ก่ออิฐสร้างกําแพง กักขังเด็กไว้ในความหวาดกลัว กักขังจากอิสรภาพ กักขังให้โดดเดี่ยว ตัดขาดความเชื่อมโยงกับผู้คนและสังคม

เช่นเดียวกับคํากล่าวของ เอ. เอส. นีล (A. S. Neill) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยชื่อ Summerhill ตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน (ค.ศ. ๑๙๒๑) ด้วยแนวคิดว่าต้องสร้างโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน ว่า

“เราต้องการเด็กที่มีเสรีภาพภายใน เสรีภาพจากความกลัวความเกลียดชัง เสรีภาพจากการยึดตัวเองเป็นใหญ่”

ระบบการศึกษาของไทยจะตอบโจทย์นี้ได้หรือไม่ คําตอบอาจไม่ได้เริ่มที่เด็ก แต่เริ่มที่เราซึ่งเป็น “ผู้ใหญ่”

เมื่อไรที่ผู้ใหญ่ก้าวออกมาจากกําแพงของการใช้อํานาจออกจากความกลัว และมีเสรีภาพภายในเช่นเดียวกันนั้น

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com