คคนางค์ ขามธาตุ : เรื่อง
ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช : ภาพ
อากาศยามสายของเช้าวันเสาร์ที่ศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา ศาลเจ้าจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในชุมชนสมเด็จย่า เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี มีแดดอ่อน ๆ แต่ลมพัดโกรกเย็นสบาย ความเงียบสงบเคล้าเสียงคลื่นกระทบฝั่งและเสียงเรือแล่นผ่านเป็นบางช่วง ทำให้บรรยากาศของศาลเจ้าที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยคล้ายกับมีมนต์ขลังสะกดสายตาผู้คนได้ตั้งแต่อยู่ฝั่งพระนคร
เป๊ง เป๊ง เป๊ง ตึง ตึง ตึง ปุ้ง ปุ้ง ปุ้ง
เสียงระฆัง กลอง ประทัด และกลิ่นควันธูปบ่งบอกว่าผู้คนจากทั่วทิศทยอยกันเข้ามายังที่นี่แล้ว ไม่จำกัดว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครและมีจุดประสงค์เพื่อมาขอพรเรื่องอะไร เพราะศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้พร้อมเปิดรับทุกคนผู้ต้องการที่พึ่งทางใจ
“อากง” ของคนตลาดสมเด็จเจ้าพระยา
“สมัยก่อนไม่ค่อยมีคนรู้จักศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จฯ เท่าไหร่ เพราะทางเข้าเป็นตรอกเล็ก รถเข้าไม่ถึง”
ป๊อป–ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ คนรุ่นใหม่ผู้สนใจวัฒนธรรมไทย-จีน ผู้เกิดและเติบโตในพื้นที่ข้างศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งวัยเด็กด้วยน้ำเสียงและสายตาที่คิดถึงวันเก่า ๆ ความผูกพันอันเกิดขึ้นจากการตามพ่อแม่มาไหว้เทพกวนอูบ่อย ๆ ทำให้ต่อมาป๊อปมีโอกาสช่วยงานที่ศาลเจ้าแห่งนี้อยู่เสมอ
ความเก่าแก่ของศาลเจ้าแห่งนี้ปรากฏให้เห็นผ่านป้ายสีแดงที่สลักตัวอักษรสีทองตรงประตูทางเข้าว่า “ศาลเจ้ากวนอู อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี” มีประวัติว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ๒๒๗๙ ตรงกับสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ จักรพรรดิจีนลำดับที่ ๔ ของราชวงศ์ชิง ป๊อปเล่าว่า
“ความเชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีมานี้เอง โดยมีร่างทรงคนหนึ่งมาประทับทรงแล้วบอกว่าศาลนี้สร้างตั้งแต่สมัยเฉียนหลงปีที่ ๑ ซึ่งเทียบศักราชแล้วตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา ทางศาลเจ้าก็เลยเขียนเป็นประวัติไว้ ในความเป็นจริงยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่นอนว่าศาลนี้สร้างขึ้นในปีดังกล่าว แต่ก็มีหลักฐานอื่น ๆ ที่ทำให้รู้อย่างคร่าว ๆ ว่าน่าจะสร้างมาเกือบ ๓๐๐ ปีแล้ว อย่างระฆังที่ใช้ตีเวลามีคนเข้ามาไหว้ ป้ายสรรเสริญเทพกวนอู และป้ายบอกชื่อคนบริจาคเงินสร้างศาลเจ้าแม้ไม่ได้จารึกปีศักราชที่สร้างศาลเจ้าแน่ชัด แต่ก็ทำให้พอสันนิษฐานอายุของศาลเจ้าแห่งนี้ได้”
บริเวณโต๊ะบูชาในศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา ประดิษฐานเทพกวนอูสามองค์ แต่ละองค์มีขนาดและที่มาต่างกัน โดยองค์แรกมีขนาดเล็กสุด ทำจากไม้จันทน์หอม ตั้งอยู่บริเวณหน้าโต๊ะบูชา สันนิษฐานว่าเข้ามาพร้อมกับชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
องค์ที่สองอัญเชิญเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้างก็บอกว่าเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี ตั้งอยู่ด้านหน้าของเทพกวนอูองค์ประธาน อยู่ในปางนั่ง มือลูบเครา
ส่วนองค์ที่สามตั้งเป็นประธานในศาลเจ้า แต่งองค์ในชุดจักรพรรดิอยู่ในปางนั่ง มือขวาถือตำราพิชัยสงคราม อัญเชิญมาประดิษฐานในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อกันว่าเป็นเทพกวนอูที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทวาธิราชเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือเทพกษัตริย์ที่ลงมาปกครองมนุษย์นั่นเอง
คนในชุมชนสมเด็จย่าจะเรียกเทพกวนอูที่ศาลแห่งนี้ว่า “อากง” นับถือท่านในฐานะเทพอันศักดิ์สิทธิ์และเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นที่พึ่งทางใจในยามมีทุกข์ ศาลเจ้าแห่งนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักของคนภายนอกราว ๕-๖ ปีที่ผ่านมา หลังจากมีคนรู้ว่าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และมีสื่อโทรทัศน์นำเสนอเรื่องราวเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนต่างถิ่นเริ่มเข้ามาไหว้ที่นี่กันมากขึ้น
“สมัยก่อนเวลาจะจัดงานให้ท่านแต่ละครั้งคนในชุมชนต้องควักกระเป๋ากันเอง เพราะไม่มีคนนอกเข้ามาเลย ถึงอย่างนั้นทุกคนก็ทำให้ท่านด้วยใจ” ป๊อปเล่าถึงพลังแห่งศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อ “อากง” ของพวกเขา
เรื่องเล่าของ “อากง”
ป๊อปเล่าว่า การบูชาเทพกวนอูของคนจีนมีมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี โดยเริ่มจากการเคารพกวนอูในฐานะบุคคลผู้มีคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์และความจงรักภักดี
“ส่วนใหญ่ในสังคมไทยรู้จักกวนอูจากวรรณกรรมสามก๊ก ซึ่งหลอก้วนจงผู้แต่งหยิบเรื่องราวส่วนหนึ่งของพงศาวดารจีนสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกมาผูกเรื่องขึ้นใหม่ แต่หลอก้วนจงเกิดหลังกวนอูเป็นพันปีจึงแต่งเติมเพิ่มเรื่องราวอภินิหารขึ้นมาพอสมควร เรื่องราวกวนอูในวรรณกรรมมีส่วนที่จริง อย่างกวนอูเป็นขุนพล มีพี่น้องร่วมสาบานคือเล่าปี่กับเตียวหุย เป็นคนกตัญญู ซื่อสัตย์ และกล้าหาญอันนี้ก็จริง เพราะมีหลักฐานว่าหลังจากกวนอูเสียชีวิตไปแล้ว คนสมัยก่อนก็นับถือและยกย่องมาก่อนที่จะมีการแต่งสามก๊กอยู่แล้ว”
อ้างอิงจากหนังสือตามรอยสามก๊กจากจีนสู่บางกอก: กวนอูจากขุนพลสู่เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ของปริวัฒน์ จันทร ได้กล่าวไว้ว่า จักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ชิงพยายามยกย่องกวนอูในเรื่องความจงรักภักดี มีคุณธรรม และมีความกล้าหาญ เพื่อให้เป็นแบบอย่างของกองทัพและประชาชน โดยแต่งตั้งให้กวนอูเป็น 忠义神武大帝 (จงอี้เสินอู่ต้าตี้) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับจักรพรรดิ แต่เป็นจักรพรรดิแห่งการรบ ความเป็นธรรม และความจงรักภักดี ต่อมาในสมัยจักรพรรดเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงก็ได้เพิ่มฐานะให้เป็น 忠义神武灵佑大帝 (จงอี้เสินอู่หลิงโย่วต้าตี้) ผู้พิทักษ์วิญญาณ นับตั้งแต่นั้นชาวจีนในสมัยราชวงศ์ชิงก็นับถือกวนอูมาโดยตลอด จนมีคำกล่าวที่ว่า “ทุก ๆ อำเภอมีเหวินเมี่ยว, ทุก ๆ หมู่บ้านมีอู่เมี่ยว” คือ ทุก ๆ อำเภอมีศาลบูชาเทพเจ้าแห่งการศึกษาขงจื่อ ทุก ๆ หมู่บ้านมีศาลบูชาเทพเจ้าแห่งนักรบกวนอู
ไม่แปลกที่ศาลกวนอูกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพราะเมื่อชาวจีนเดินทางไปยังที่แห่งใดก็จะนำองค์เทพที่ตนเคารพนับถือเดินทางไปด้วย เมื่อถึงสถานที่นั้นอย่างปลอดภัยก็จะตั้งศาลเจ้าเพื่อเคารพบูชา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีศาลเจ้ากวนอูอยู่ประมาณ ๓ หมื่นแห่งทั่วโลก
ผู้ชายตัวสูงใหญ่ มีผิวหน้าแดงชาด หน้าตาจริงจังดุดัน ดวงตาฉายแววกล้าหาญ มักใส่ชุดนักรบ ถือง้าวพระจันทร์เสี้ยวที่เรียกว่า “ง้าวมังกรเขียว” เป็นอาวุธประจำกาย และมีม้าคู่ใจสีแดงเลือดชื่อ “เซ็กเธาว์” อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านการสงคราม เพราะชอบอ่านตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ชุนชิว เรื่องราวของเขาได้รับการเผยแพร่และฝังรากลึกลงในความเชื่อสายหลักของจีนยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ป๊อปเล่าว่า “การนับถือเทพกวนอูเป็นการรวมกันระหว่างความเชื่อทางพุทธศาสนามหายาน ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื่อ โดยในสายพุทธศาสนามหายานจะเคารพท่านในแง่ของผู้พิทักษ์อาราม หรือ ‘สังฆารามโพธิสัตว์’ เลยเป็นธรรมเนียมในเวลาต่อมาของวัดจีนที่จะตั้งรูปเคารพกวนอู”
ในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับพระยาพระคลัง (หน) เล่าว่า หลังจากที่กวนอูเสียชีวิต ดวงวิญญาณถูกกักขังไว้ที่เขาจวนหยกสัน และกวนอูก็มีแรงพยาบาทต่อลิบองค์ ผู้เป็นต้นเหตุให้ตนถูกประหารชีวิตเป็นอย่างมาก คืนหนึ่งพระอาจารย์เภาเจ๋งนั่งภาวนาอยู่บนเขาลูกนี้แล้วได้ยินเสียงตามหาศีรษะของกวนอู จึงออกมาดูและเทศนาธรรมเกี่ยวกับเรื่องกงเกวียนกำเกวียนให้กวนอูฟัง จนกวนอูซึ้งในรสพระธรรม เลยปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนานับแต่นั้นมา
ส่วนสายลัทธิเต๋าจะเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และธรรมชาติ โดยเน้นการบูชาฟ้า ดิน ภูเขา สายน้ำ แต่ลัทธิขงจื่อจะบูชาเรื่องหลักการในการดำเนินชีวิต ความซื่อสัตย์และความกตัญญู อาทิ การบูชาพ่อแม่ การบูชาบรรพบุรุษ และการบูชาผู้ปกครอง
“นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมการบูชากวนอูถึงได้เข้าไปอยู่ในความเชื่อสายหลักของจีน ซึ่งศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จฯ นับถือเทพกวนอูแบบชาวบ้าน คือนับถือตามความเชื่อของลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื่อรวมกัน”
ยังมีความเชื่อในสายจีนแต้จิ๋วที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่เชื่อว่าบนสวรรค์จะประชุมแต่งตั้งเทวาธิราชเง็กเซียนฮ่องเต้ตามวาระเพื่อให้ลงมาดูแลมนุษย์ให้มีจิตใจสูงขึ้น โดยปัจจุบันเป็นวาระที่ ๑๗ เทพกวนอูได้รับเลือก และศาลเจ้าแห่งนี้ก็มีองค์เทพกวนอูที่ตั้งเป็นประธานอยู่ในตำแหน่งเทวาธิราชเง็กเซียนฮ่องเต้เช่นกัน
ที่ดิน คดีความ และการค้าขาย
ซื้อ-ขายที่ดิน คดีความ และการค้าธุรกิจ คือชื่อเสียงของศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้ เมื่อเข้ามาในศาลเจ้าแล้วก็จะพบกับรูปปั้นเทพกวนอูขนาดเกือบเท่าคนจริงยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ทางฝั่งขวาของโต๊ะบูชา เทพกวนอูมีหน้าแดงชาด ท่าทางฮึกเหิมดุดัน ใส่ชุดนักรบที่เรียกกันว่าชุดขอเฝ้า มือแต่ละข้างถือง้าวและดาบแล้ว บริเวณเข็มขัดมีโฉนดที่ดินหลายสิบใบเหน็บอยู่ โดดเด่นเรียกสายตาของคนที่มาไหว้ครั้งแรกทันที
“เราต้องยอมรับนะว่าการบูชาเทพเจ้าแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนไปตามอุดมคติของคนในยุคสมัยนั้น จากเดิมนับถือเทพกวนอูในแง่ของความซื่อสัตย์และความกล้าหาญ ปัจจุบันเมื่อผู้คนทำธุรกิจ มีเศรษฐกิจปากท้องเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น การบูชาจึงเปลี่ยนเป็นนัยอื่น เช่น เรื่องค้าขาย เศรษฐกิจ เงินทอง และยศตำแหน่ง” ป๊อปกล่าว
เมื่อการรบแบบใช้กำลังกายไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป แต่การรบแบบใช้กำลังสมอง อย่างเรื่องการค้าขาย ทำธุรกิจ หรือแม้แต่การเลื่อนยศตำแหน่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เรื่องราวอื่น ๆ ของกวนอูจึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและบูชา เพราะนอกจากการเป็นนักรบที่เก่งในเรื่องบู๊แล้ว เรื่องบุ๋นก็ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน กวนอูเชี่ยวชาญในตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ชุนชิว เรื่องราวส่วนนี้ทำให้คนเคารพท่านในแง่ของการใช้สติปัญญาด้วย
ศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยามีชื่อเสียงในเรื่องการซื้อ-ขายที่ดิน การค้าขาย และการชนะคดีความ คนที่มาขอพรแล้วประสบผลสำเร็จก็จะบอกเล่าปากต่อปากถึงความศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของศาลนี้ ความเชื่อเหล่านี้ป๊อปมองว่ามิใช่ความเชื่อดั้งเดิม แต่ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนจะขอพรเกี่ยวกับเรื่องตนเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรมากไปจนละเลยแก่นแท้ของการบูชาเทพกวนอู
“เมื่อเทพและความศรัทธาแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าปล่อยให้ศาลเจ้าเฉา ไม่มีคนมากราบไหว้ อนาคตก็อาจอยู่ไม่รอด แต่ถ้าใส่ความเชื่อที่มากล้นเกินจนบิดเบือนการบูชาเทพกวนอูที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมไปไกล ผมก็มองว่าไม่โอเค ให้ลองนึกภาพกระแสการบูชาวัตถุมงคล สมัยก่อนมีจตุคามรามเทพ พระพิฆเนศ ไอ้ไข่ ปัจจุบันก็ท้าวเวสสุวรรณ ต่อไปอาจมีเรื่องราวของเทพองค์ใหม่ขึ้นมา คนก็หันไปนับถือเทพองค์นั้นอีก อารมณ์ความเชื่อที่เปลี่ยนไปของการนับถือเทพกวนอูในสมัยนี้ก็ไม่ต่างกัน”
ชา–สายันต์ ใจกล้า ผู้ดูแลศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี จนตอนนี้อายุ ๕๗ ปีแล้ว เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของเทพกวนอูจากเรื่องของคนที่มาไหว้ขอพรและจากที่เคยประสบพบเจอกับตัวเอง ชาคิดว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่ขออะไรก็มักจะประสบผลสำเร็จจึงทำให้เทพกวนอู ตลาดสมเด็จฯ เป็นที่เลื่องลือและมีผู้คนนับถือจำนวนมาก
“ที่นี่มีความศักดิ์สิทธิ์ตรงที่ใครมาขออะไรก็สำเร็จ ส่วนใหญ่นะ เขามาขอหน้าที่การงาน ขอเรื่องสุขภาพ แม้แต่เรื่องขายบ้านขายที่ แต่ที่นี่เน้นอย่างเดียวคือห้ามบน เพราะอากงเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์จะไม่ติดสินบนเด็ดขาด แต่ถ้าใครมาขอแล้วสำเร็จ อยากตอบแทนอากงบ้าง ก็นำของมาไหว้มาถวายได้
“ผมนับถือท่านมาก สวดมนต์เช้าสวดมนต์เย็นทุกวัน เพราะเคยขับรถจะตกทางด่วน พอระลึกถึงท่านก็ไม่ตก ตอนหลานเกิดมีเหตุให้เกือบไม่ได้เกิด เลยไหว้ขอท่านแล้วหลานก็ได้เกิด ผมคิดว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของอากง เลยทำให้มีคนนับถือท่านมากขนาดนี้”
เทพกวนอูในศาลเจ้าแห่งนี้แต่ละองค์จะขอพรได้ไม่เหมือนกัน
อย่างองค์ซ้ายมือจะให้พรเรื่องสุขภาพและตำแหน่งหน้าที่การงาน เวลาขอพรก็จะคุกเข่าแล้วนำมือแตะเท้าทั้งสองข้างของท่าน ส่วนหน้าผากจะแตะที่สิงห์ตรงเครื่องทรงบริเวณหน้าท้อง จากนั้นอธิษฐาน
ส่วนองค์ทางขวามือจะให้พรเกี่ยวกับการค้าขาย เรื่องที่ดิน และคดีความ โดยวิธีไหว้คือนำสำเนาโฉนดที่ดิน เขียนชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และราคาไว้ด้านหลัง จากนั้นพับส่วนรายละเอียดของสำเนาไว้ด้านหน้าแล้วนำไปเหน็บไว้ที่เข็มขัด ชาบอกว่าบางทีมีเจ้าหน้าที่ธนาคาร นักลงทุน หรือนายหน้าต่าง ๆ มาดู แล้วเกิดถูกใจก็จะติดต่อกลับไปตามเบอร์โทรศัพท์นั้นๆ
ชาเล่าเสริมอีกว่า ศาลเจ้าแห่งนี้มีผู้ศรัทธานำของมาถวายเทพกวนอูอยู่เสมอ ใครอยากเช่าองค์เทพกวนอูไปบูชาก็ทำได้ โดยชาจะเป็นผู้ทำพิธีเบิกเนตรให้ เสร็จแล้วถึงจะนำองค์เทพกลับไปบูชาได้
ยุคสมัยเปลี่ยน วิธีการแสดงออกต่อเทพกวนอูก็เปลี่ยนตาม ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา และความสะดวกส่วนบุคคล เช่นเดียวกับความเชื่อเกี่ยวกับของไหว้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
หมวย–เฉลียว เอมเจริญ คนไทยเชื้อสายจีน แม่ค้าขายของไหว้หน้าศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จฯ เล่าให้ฟังว่า
“ถ้าไหว้ผลไม้ส่วนมากจะเป็นส้ม พวงมาลัยก็จะเป็นดาวเรือง ไหว้ท่านเสร็จแล้วก็ต้องไหว้ม้าของท่านด้วยผักบุ้ง ม้าเซ็กเธาว์อยู่หน้าประตูขวามือ สมัยก่อนใช้หญ้าแต่เดี๋ยวนี้หายากแล้ว เลยใช้ผักบุ้งหรือผักอื่น ๆ แทน ส่วนประทัด คนที่มาเขาก็จะจุดเพื่อให้ตัวเองเฮง ๆ ปัง ๆ แล้วท่านกวนอูก็ชอบด้วย ในกล่องประทัดจะมีคำอวยพร มีเลขให้เราไปเสี่ยงโชค บางคนมาขอพรจากท่านก็กำหนดไว้ว่าถ้าสำเร็จจะจุดประทัดกี่ดอก หรือจะนำอาหารอื่น ๆ มาไหว้ก็ได้นะ แล้วแต่เราจะบอกท่าน แต่สิ่งที่ห้ามเลยคือเนื้อวัว เพราะอากงไม่กินเนื้อ”
มากกว่าการไหว้ คือความเข้าใจ
แม้การไหว้เจ้าของคนในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คนทุกยุคทุกสมัยต้องการจากเทพคือความหวังและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ น่าแปลกที่คนยุคปัจจุบันควรพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่แน่นอนกว่าการกราบไหว้ขอพรจากเทพเจ้า แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้คือทุกเพศทุกวัยหันมาสนใจไหว้เทพกวนอูกันมาก
“เรามองว่าไม่มีอะไรเสียหาย”
พรรัตน์ กิตติขุมทรัพย์ คนรุ่นใหม่อายุ ๒๓ ปี พูดขึ้นเมื่อชวนคุยว่าเหตุใดเธอถึงมาไหว้เทพกวนอูที่นี่ เธอเล่าว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน พ่อแม่ก็นับถือเทพกวนอู เธอมีความรู้เกี่ยวกับท่านเพียงเล็กน้อยและไม่ได้กราบไหว้เป็นประจำ วันนี้มาศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จฯ เป็นครั้งแรกโดยรู้มาจากอินเทอร์เน็ตว่าจะขายที่ดินต้องมาขอกับเทพกวนอูที่นี่ แม่เลยฝากสำเนาโฉนดที่ดินมาไหว้ขอจากท่าน
“ถึงแม้เราจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าท่านศักดิ์สิทธิ์จริงไหม ขอพรกับท่านแล้วจะประสบผลสำเร็จจริงหรือเปล่า แต่ก็เชื่อว่าถ้าเราทำดีท่านก็อาจจะช่วยเราได้ เรารู้สึกว่าถ้ามีความซื่อสัตย์และความจริงใจให้คนอื่น เราก็จะได้สิ่งนั้นกลับมาเหมือนกัน”
พรรัตน์กล่าว ก่อนจะนำสำเนาโฉนดที่ดินไปเหน็บไว้ที่เข็มขัดเทพกวนอู
“เรามองท่านเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง”
ฐิติวรดา ทนทาน อายุ ๔๐ ปี พูดถึงเทพกวนอูด้วยแววตาเปล่งประกายแห่งความศรัทธา หญิงสาวเล่าว่า เธอเริ่มนับถือเทพกวนอูตามเพื่อน เพราะส่วนตัวก็ชอบไหว้เจ้าอยู่แล้ว โดยนับถือเจ้าแม่กวนอิมมาก่อน แต่เมื่อได้นับถือเทพกวนอูก็รู้สึกศรัทธาในวีรกรรมความซื่อสัตย์และความกล้าหาญ ปัจจุบันนี้เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจหรืออุปสรรคที่คิดว่าเหลือบ่ากว่าแรง ก็มักจะมาไหว้ขอพรเทพกวนอูเพื่อให้ท่านช่วยบรรเทา
“การนับถืออะไรก็ต้องปฏิบัติตัวเป็นคนดีอยู่แล้ว เราคิดว่าไม่มีอะไรเป็นข้อปฏิบัติพิเศษเมื่อนับถือท่าน แต่มุมมองส่วนตัวรู้สึกว่าอากงกวนอูเป็นเทพที่จริงจัง ซื่อสัตย์ มีสัจจะ ดังนั้นถ้านับถือท่าน เราก็ควรมีสิ่งนี้ถึงจะขออะไรก็สัมฤทธิผล”
ความศรัทธาจากผู้คนที่หลากหลายกำลังมุ่งมาหาเทพกวนอู ต่างคนต่างคำขอและต่างความเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับเทพกวนอูแปรเปลี่ยนไปอีกในอนาคต
พูนศักดิ์ ทั่งสมบัติ ผู้ที่ใช้ชีวิตมา ๖๓ ปีอยู่ในบริเวณศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้มองว่า สมัยก่อนถ้าเราจะรู้จักอะไรสักอย่างหนึ่งต้องบอกกันแบบปากต่อปาก แต่พอโซเชียลมีเดียเข้ามาทุกคนเริ่มรู้จักสิ่งที่ไม่เคยรู้มากขึ้น ศาลเจ้าแห่งนี้จึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก โดยแต่ละคนที่มาไหว้ก็มีวัตถุประสงค์ต่างกัน
“ผมว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาไหว้มีความทุกข์ แล้วอากงเป็นที่พึ่งให้เขาได้ และเข้าใจว่าท่านคงช่วยปัดเป่าให้ความทุกข์ของเขาคลายลงได้จริง คนจึงมาไหว้กันมาก แต่เราก็ไม่เคยเก็บสถิติหรอกนะว่า เขามาขอเรื่องอะไรแล้วสำเร็จบ้าง
“ผมมองว่าคนที่มาไหว้เจ้าสมัยก่อนจะเป็นในลักษณะยึดเหนี่ยวจิตใจมากกว่า อย่างขอให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข แต่ปัจจุบันมักขออะไรที่เป็นรูปธรรม เช่น ลาภ ยศ ตำแหน่ง”
พูนศักดิ์คิดว่าหัวใจหลักของการนับถือเทพกวนอูคือเราจะนำสิ่งที่ท่านทำเป็นตัวอย่างและพยายามให้เราเป็น นั่นคือการมีคุณธรรม ไปปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อย่างไร เพียงแต่ว่าตอนหลังความเข้าใจของคนแปรเปลี่ยนไป เลยกลายเป็นว่าใครมีเรื่องอะไรหรืออยากได้อะไรก็มาขอกับเทพกวนอู
“หลักใหญ่ ๆ ท่านสอนให้คนมีคุณธรรม เป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่สังคมจะแปลสิ่งที่ท่านสอนอย่างไร ก็แล้วแต่สภาพสังคมนั้น”
ส่วนตัวพูนศักดิ์รู้สึกว่าการนับถือเทพกวนอูนั้นอยู่ที่ใจ เพียงพนมมือไหว้ แล้วระลึกถึงสิ่งที่ท่านตั้งใจจะสอนคนรุ่นหลัง แค่นี้ก็ถือเป็นการเคารพแล้ว
สำหรับป๊อปผู้เป็นลูกหลานคนจีนแต้จิ๋วในสยาม มองว่าเทพกวนอูเป็นเหมือนหลักนำจิตใจให้คนปฏิบัติตนในทางดีและมีกำลังใจดำเนินชีวิต ป๊อปคิดว่าในอนาคตเทพกวนอูจะยังอยู่ในความศรัทธาของคนทั่วไปและน่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก แต่ความศรัทธาที่มุ่งมาหาท่านนั้นอาจเปลี่ยนไป จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มศรัทธาเทพกวนอูอย่าลืมนึกถึงหัวใจหลักของการนับถือท่านด้วย
“ถ้าเราอ่านภาษาจีนได้จะเห็นว่าป้ายโคลงจีนที่แขวนในศาลไม่มีคำพูดไหนบอกว่าบูชาเทพกวนอูแล้วจะขายที่ดินได้ จะได้เลื่อนยศตำแหน่ง โคลงเหล่านั้นมีแต่สรรเสริญเยินยอเกียรติคุณและวีรกรรมของเทพกวนอูว่ามีคุณธรรม มีน้ำใจ เจิดจรัสดั่งแสงอาทิตย์ มีความหนักแน่นในคุณธรรมให้เรายึดถือและปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่คนจีนรุ่นเก่าสอนเรา แต่คนปัจจุบันอาจละเลยหรือหลงลืม เลยทำให้การบูชาเทพกวนอูเปลี่ยนแปลงไป
“ผมว่าจะดีกว่าไหม ถ้าคนมาขอพรท่าน พอประสบความสำเร็จแล้ว ตั้งมั่นไว้ว่าเราจะทำความดี”
อ้างอิง
- กนกพร เจริญแสนสวย. (๒๕๕๗). การศึกษามิติสัมพันธ์ของความเชื่อส่วนบุคคลในเทพกวนอู สำหรับการสร้างแรงผลักดันทางธุรกิจของชาวไทยเชื้อสายจีนย่านเยาวราช. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ปริวัฒน์ จันทร. (๒๕๖๕). ตามรอยสามก๊กจากจีนสู่บางกอก: กวนอู จากขุนพลสู่เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์. นนทบุรี: สารคดี.
- ปิ่นอนงค์ ปานชื่น. (๒๕๖๒). ไหว้เจ้า“กวนอู”อย่างเข้าใจ. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/898