ทีม MaMa&Talay
เรื่อง : ภัททิรา วิภวภิญโญ
ภาพ: ภัททิยะ วิภวภิญโญ
แดดเช้าวันนี้มาทำงานสาย ปล่อยให้ปรอยฝนพรมละอองอ้อยอิ่งเป็นทำนองเนิบช้า ขับกล่อมผู้คนให้ยังคงซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มผืนอุ่นอยู่อย่างนั้น
ในวันที่อากาศเป็นใจให้ทอดตัวเล่นอยู่อย่างนี้ ผมคงเพลินสุขอยู่บนที่นอนอีกพักใหญ่ หากไม่ได้รับรู้ถึงสัมผัสนุ่ม ๆ ที่แก้มและเสียงเรียกเบา ๆ ที่คุ้นเคย
“ทะเลครับ ตื่นได้แล้วลูก เดี๋ยวไปสายนะ”
ผมงัวเงียหรี่ตามองไปที่หน้าต่าง “วันนี้ฝนตก อากาศน่านอนต่อเนอะแม่”
อันที่จริงวันนี้เป็นวันหยุดที่อากาศดีเสียจนใครหลายคนคงตัดสินใจทำกิจกรรมเพลินๆ อยู่บ้านมากกว่าจะออกเดินทางไปไหน
แต่แม่กลับชวนผมออกไปทำงาน
แม่ของผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ในแต่ละสัปดาห์ก็จะต้องทั้งสอน ทั้งวิจัย เป็นปกติจนแทบไม่มีเวลาว่างอยู่แล้ว แล้วนี่ในทุกวันเสาร์แม่ยังจะออกไปทำงานเป็น “ครูจิตอาสา” ที่ ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ ล้านนา อีก และแน่นอนว่าแม่จะชวนผมไปด้วยทุกครั้ง
ก่อนนี้ ไม่มีเสียละที่ผมจะยอมไปด้วยแต่โดยดี เพราะผมอยากจะใช้เวลาในวันหยุดกับเพื่อนตามประสาเด็กวัยมัธยมปลายมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วผมก็ยอมไปกับแม่ด้วยเงื่อนไข “พบกันครึ่งทาง” คือ ระหว่างที่แม่สอน ผมก็จะนั่งอยู่ด้วย แต่ผมขอเล่นเกมออนไลน์หรือวาดรูปเล่นของผม โดยที่แม่ต้องไม่บังคับให้ผมไปร่วมเรียนกับกลุ่มเด็ก ๆ ของแม่
เมื่อแม่ตกลง ผมก็มีหน้าที่เพียงแค่ไปคอยนั่งอยู่ใกล้ ๆ และช่วยถ่ายรูปให้บ้างเวลาแม่เป็นผู้ช่วยเพื่อนครูจิตอาสาสอนวิชาอื่น ๆ
ผมเคยถามแม่ว่าจะทำงานแบบนี้ไปทำไม เพราะนอกจากจะเสียโอกาสในการหยุดพักผ่อนแถมทำไปก็ไม่ได้เงิน แล้วยังจะต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าอาหารเอง และหลายครั้งผมเห็นแม่เอาเงินส่วนตัวซื้อขนม ซื้ออุปกรณ์ไปให้เด็ก ๆ ที่มาเรียนอีกด้วย
แม่ไม่ตอบผมตรง ๆ แต่แม่กลับเล่าเรื่องของครูจิตอาสาที่แม่เรียกว่า “แม่ครู” หรือ ดร.ศันสนีย์ อินสาร ผู้อำนวยการศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา โรงเรียนสืบศิลป์แผ่นดินล้านนา ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย และเรื่องราวของเพื่อนครูจิตอาสาท่านอื่น ๆ ให้ผมฟังว่า แม่ประทับใจแม่ครูและเพื่อนครูจิตอาสา เพราะทุกคนล้วนมีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการสืบสานและส่งต่อความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นด้วยการให้ทุน ให้ทาน ผ่านปัญญา
และให้แบบไม่มีการตั้งข้อแม้ ดังที่แม่ครูบอกกับตนเองและเพื่อนครูจิตอาสาเสมอว่า
“ตื่นนอนขึ้นมาในทุกเช้า เราจะต้องถามตัวเองว่า วันนี้ เราจะให้อะไรกับใครได้บ้าง ไม่ใช่ไปเอาอะไรจากใครได้บ้าง”
เรียนรู้จากหลัก 3 อยู่
แม่บอกผมว่าที่ ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ ล้านนา จะมีพ่อครู แม่ครู และครูจิตอาสาหลายท่านช่วยกันถ่ายทอดและอบรมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้และความดีแก่เด็ก ๆ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งจนพร้อมที่จะเผื่อแผ่ความรู้และความดีนั้นให้เกิดประโยชน์แก่สังคมแก่โลกควบคู่กันไป ด้วยหลักคิด 3 อยู่ คือ
1) อยู่รอด ซึ่งหมายถึงจากที่เด็ก ๆ เล่นเครื่องดนตรีรวมถึงการฟ้อนรำไม่เป็นก็สามารถบรรเลงดนตรีพื้นเมืองและฟ้อนรำได้
2) อยู่ได้ คือ เมื่อมีทักษะความสามารถแล้วก็นำไปแสดงในงานต่างๆ โดยใช้ภูมิปัญญาที่ได้เรียนมาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้ และ
3) อยู่ดี คือ เมื่อฝึกฝนจนมีความสามารถเป็นแบบอย่างได้แล้วก็จะก้าวขึ้นมาเป็นวิทยากรน้อย มาเป็นผู้ช่วยครู และนำความรู้นั้นมาสอนตนให้เป็นที่พึ่งของตน เป็นที่พึ่งของผู้อื่น เตือนตนให้รู้คุณครูและพื้นถิ่นแผ่นดินเกิดด้วยการถ่ายทอดส่งต่อความรู้นั้นให้รุ่นน้องและผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ อันจะนำไปสู่การเป็นครูผู้ให้ต่อไปในอนาคต
ให้ทุนเป็นปัญญา ใช้ปัญญานำเงิน
ผมเคยได้ยินแม่ครูเล่าให้แม่ฟังว่า
“เราเคยขาดโอกาสในการเรียนรู้เพราะไม่มีเงิน แม้จะอยากเรียนให้เท่าคนอื่น แต่เมื่อไม่มีเงินก็แทบจะไม่มีโอกาส เราก็ต้องขวนขวายด้วยตัวเอง แต่มาวันหนึ่งที่เราได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ให้โอกาสเราได้เรียนจนจบปริญญาเอก เราก็คิดว่า เราควรตอบแทนพระคุณท่านด้วยการส่งต่อโอกาสในการศึกษานั้นไปยังผู้อื่นด้วย
“แต่เรามีเพียงปัญญาและทักษะความสามารถ ยังให้โอกาสคนอื่นด้วยทุนที่เป็นตัวเงินไม่ได้ กระทั่งเมื่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ต้องการเปิดโรงเรียนสอนด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองให้เด็กๆ และคนทั่วไปได้มาเรียนรู้ที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และท่านก็บอกให้เรามาเป็นผู้ดูแล โดยใช้หลักการ “ปัญญานำเงิน” เปลี่ยนจากการให้ทุนเป็นให้ความรู้ คือให้ทุนทางปัญญาและให้เขาเอาปัญญาไปหาเงินมาเลี้ยงชีวิตต่อได้
“เราก็คิดว่านี่เป็นโอกาสในการตอบแทนพระคุณท่านและตอบแทนพระคุณแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ เราก็เลยรับปากแล้วก็ชวนเพื่อนครูจิตอาสามาช่วยกันสอนในทักษะที่ตัวเองถนัด เป็นการสอนแบบให้เปล่า แบบไม่มีข้อแม้ว่าเขาต้องเอาอะไรมาแลกเปลี่ยน”
ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา ออกแบบหลักสูตรการบูรณาการระหว่าง “วิชาการและวิชาชีวิต” เข้าด้วยกัน
ในด้านวิชาการ เด็ก ๆ จะได้เรียนการอ่านเขียนอักษรล้านนาจากปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้าและต่อยอดภูมิปัญญาล้านนาให้คงอยู่ และเป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปปรับรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้
ส่วนในด้านวิชาชีวิตก็จะมีครูจิตอาสาหลายท่านมาช่วยกันสอน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยหลัก ๆ แบ่งการเรียนรู้สำคัญออกเป็น 5 ฐาน ประกอบด้วย
1) การบรรเลงสะล้อ ซอ ซึง และดนตรีล้านนา 2) การขับซอ 3) การฟ้อนล้านนา 4) การตีกลองสะบัดชัย และ 5) การเรียนรู้ศิลปะกับชีวิตและการละเล่นพื้นบ้าน
สำหรับแม่ของผม “การสร้างสรรค์บทกวี” คือหัวข้อที่แม่นำมาใช้ถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ในฐานที่ 5
แม่บอกว่าเวลาที่เราได้อยู่กับบทกวี ไม่ว่าจะเป็นของชาติใดภาษาใด เราก็จะสัมผัสได้ถึงความไพเราะอันเหมือนมนต์วิเศษที่จะช่วยโอบกอด ปลอบโยนจิตใจของเราให้อบอุ่นและเข้มแข็งขึ้นได้
และในขณะที่เราจับปากกาเรียงร้อยบทกวี ก็เท่ากับว่าเรากำลังร่ายมนต์วิเศษเพื่อโอบกอดและปลอบโยนตัวเองให้มีกำลังใจให้ก้าวต่อไปได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนวิชาทางด้านศิลปะกับการใช้ชีวิตก็จะมีครูจิตอาสาท่านอื่น ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอนในด้านต่าง ๆ เช่น การฟ้อนรำ การวาดรูป การปั้นดิน การประกอบอาหาร รวมถึงการเย็บปักถักร้อยที่ได้รับความสนใจไม่แพ้การเรียนดนตรี
“ครูสองคนไม่ได้เข้ามาเป็นจิตอาสาตั้งแต่แรก ที่มาเพราะอยากพาน้ำต้น (กีรติ พรหมบุตร) หลานชายของครูมาเรียนซึงกับแม่ครู แต่พอมาเห็นความเสียสละทุ่มเทของแม่ครูกับครูจิตอาสาท่านอื่นแล้วก็คิดว่า เราเองก็พอมีความรู้ ความสามารถด้านการเย็บปักอยู่บ้าง ก็เลยชวนกันมาช่วยอีกสองแรง บางครั้งก็ชวนคุณยายของน้ำต้นมาด้วย รวมเป็นสามแรง (หัวเราะ) สอนไปสอนมาก็มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่สนใจมากขึ้น ก็เลยสอนกันมายาวนานจนถึงวันนี้”
คุณครูเดือน (จำเนียร) และคุณครูเพ็ญ (จำเรียง) พรหมบุตร คุณครูจิตอาสาสองพี่น้องฝาแฝดเล่าพลางยิ้มพลางด้วยใบหน้าแห่งความสุข
วิทยากรน้อย เมล็ดพันธุ์อันงดงามจากการให้
“ที่เรามีวันนี้ได้เพราะเชื่อมั่นในปาฏิหาริย์แห่งการให้ที่เราเคยได้รับ ซึ่งเป็นการให้ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เพราะให้เงินไปก็อาจหมดได้ในสักวัน ที่ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนาเราจึงให้ทุนเป็นปัญญา และหนุนนำให้ใช้ปัญญาไปแสวงหาโอกาสในการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว จนเมื่อยืนได้มั่นคงแล้วก็ให้ใช้ปัญญานั้นเผื่อแผ่แบ่งปันให้คนอื่นได้นำไปสร้างโอกาสต่อไป”
จากแนวคิดที่แม่ครู ดร.ศันสนีย์ อินสาร ยึดถือและนำมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนตามหลักการ “ทำมาหาธรรม” และ “ใช้ปัญญานำเงิน” คือให้ใช้ปัญญาไปสร้างอาชีพเลี้ยงตัวด้วยความสุจริต ยึดมั่นในคุณธรรม ประกอบกับ “การใช้ชีวิตให้เห็นเป็นตัวอย่าง” ของพ่อครูแม่ครู จึงทำให้เด็ก ๆ ที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว นอกจากจะได้นำความรู้ไปใช้ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวแล้วยังกลับมาเป็น “วิทยากรน้อย” คอยช่วยพ่อครูแม่ครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ๆ รุ่นน้อง ต่อไปอีกหลายต่อหลายรุ่น
เช่นเดียวกับพี่น้ำต้นหลานชายของคุณครูแฝด แม้ปัจจุบันจะเรียนจบหลักสูตรไปแล้วแต่ก็ยังติดตามคุณครูแฝดมาที่ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนาทุกวันเสาร์ เพื่อเป็นวิทยากรน้อยจิตอาสา
ไม่เพียงช่วยคุณครูถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ในศูนย์ฯ เท่านั้น แต่พี่น้ำต้นยังเรียนรู้การเป็นผู้ให้จากพ่อครูแม่ครู โดยนำความรู้ที่ได้ไปแบ่งปัน ถ่ายทอดสู่สังคมในทุกโอกาสที่มี ส่งผลให้พี่น้ำต้นได้รับรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 ประเภทเด็กและเยาวชน” สร้างความภูมิใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไปอีกด้วย
เป้าหมายไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เป็นการเรียนรู้ระหว่างทางต่างหาก
ฝนยังคงพรำมาไม่ขาดสาย ปุยหมอกนวล ๆ กำลังโอบกอดทิวเขาหลังบ้าน
ผมนึกถึงครั้งที่เคยถามแม่ว่า “แม่ทำงานจิตอาสาไปทำไม” ในวันนั้นแม้ผมจะไม่ได้คำตอบตรงๆ จากแม่ แต่มาวันนี้ ผมคิดว่าตลอดสามปีที่ผมได้ตามแม่ไปที่ “ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา” ผมพอจะได้คำตอบแล้วว่าการได้นำความรู้ที่มีไปถ่ายทอดให้คนที่ต้องการโดยไม่คิดถึงผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่เพื่อให้เขานำไปต่อยอดเลี้ยงชีวิตได้ นี่คงจะเป็น ความสุขของแม่ และการสอนให้ผมได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าดังคำที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) เคยเทศนาไว้ว่า “อยู่เพื่อตนเองอยู่แค่สิ้นใจ อยู่เพื่อคนทั่วไป อยู่ชั่วฟ้าดินสลาย” ด้วยการพาผมไปให้เห็นจากการลงมือปฏิบัติจริง นี่คงเป็น ความฝันของแม่
เสียงหยดฝนกระทบหลังคาเป็นจังหวะสอดรับกับเสียงกระดิ่งลมดังกรุ๊งกริ๊ง นกตัวเล็ก ๆ บนกิ่งจำปาหลังบ้านส่งเสียงเจื้อยแจ้วเหมือนจะชวนร้องเพลงอย่างสดชื่น แว่วเสียงดนตรีพื้นเมืองล้านนาลอยมาจากที่ไกล ๆ
ผมฮัมทำนองตามเบา ๆ นึกแปลกใจตัวเองอยู่ว่าทำไมถึงจำทำนองเพลงได้ ทั้งที่ไม่เคยตั้งใจฟังเวลาแม่ครูท่านสอนเลย แล้วผมก็คิดได้ว่าคนเราจะฮัมเพลงตามท่วงทำนองที่ตัวเองชอบ และการฮัมเพลงคือสัญญาณบอกว่า เรากำลังมีความสุข
ผมมองแม่จัดอาหารใส่กล่องเตรียมเอาไปเป็นมื้อกลางวันร่วมกับเพื่อนๆ ครูจิตอาสา แม่ดูไม่เหน็ดเหนื่อยเลยแม้จะเป็นเช้าวันที่หกของการทำงานหนักมาตลอดทั้งสัปดาห์
แม่เคยบอกว่า “แม่ไม่อยากเพียงแค่เกิดมาแล้วตายไป แล้วลูกก็จำได้แค่ว่าผู้หญิงที่หน้าตาแบบนี้ นี่คือแม่ แต่แม่อยากให้ลูกจดจำได้ว่าแม่ทำอะไรให้แก่โลกนี้บ้าง แม้ในวันที่แม่ไม่ได้อยู่ข้าง ๆ ลูกก็จะไม่เหงา เพราะแม่จะอยู่ในทุกท่วงทำนองของบทเพลงและในทุกถ้อยคำของบทกวีที่เด็ก ๆ ในศูนย์นี้นำไปบรรเลงและถ่ายทอดต่อ…”
ผมคงมองแม่และคิดเพลินไปหน่อยจนสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงแม่เรียก ผมหัวเราะเบา ๆ แล้วรีบเดินไปช่วยแม่ขนของขึ้นรถ
มองออกไปนอกหน้าต่างรถ ทิวทัศน์ระหว่างทางในหน้าฝนมีแต่ความสดชื่น ช่วยให้การเดินทางเจือไปด้วยละอองไอแห่งความรื่นเย็นในหัวใจ
ผมรู้แล้วว่าคำตอบของการได้ลงมือทำอะไรบางอย่างว่าทำไปทำไม คงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เป็นการเรียนรู้ระหว่างทางต่างหาก
การเดินทางของเราแม่ลูกในวันที่ผ่านมาและวันต่อ ๆ ไป จะเป็นบทบันทึกแห่งความทรงจำที่ไม่ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่ช่วงเวลาเหล่านี้จะยังคงหล่อเลี้ยงความฝันของเราด้วยภาพแห่งความสุข และจะประคับประคองให้ผมเติบโตและก้าวเดินต่อไปได้
เพราะผมมั่นใจว่าเราได้ใช้วันเวลาทำตามความฝันร่วมกันอย่างคุ้มค่าที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้
—————–
ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา องค์กรแห่งการให้
นอกจากการถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายแล้ว ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนายังได้ขยายเครือข่ายออกไปยังอำเภอและจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ จนถึงปัจจุบันมีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 49 ศูนย์ ครอบคลุม 18 อำเภอในจังหวัดเชียงรายและอีก 16 ศูนย์ ในเขตอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ด้วยความมุ่งหวังว่า “ดนตรี กวี และศิลปะ” จะส่งเสริมให้เด็กเละเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจในทักษะความสามารถ เห็นคุณค่าในตนเอง อันจะเป็นการสร้างเกราะป้องใจให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติดและอบายมุขได้อีกทางหนึ่ง
ผลแห่งความตั้งใจที่เกิดจากการให้โดยไม่มุ่งหวังเพื่อประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้งนี้เองจึงทำให้ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ ล้านนาได้รับการยกย่องจากศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้เป็นองค์กรต้นแบบแห่งการให้ ในปี พ.ศ. 2563
กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- นิตยสารสารคดี
- เพจความสุขประเทศไทย
- สสส.