ทีมบ้านต้นไม้
เรื่องและภาพ พลอยฉัตร ถิรมงคล โสภณ ถิรมงคล
แสงสีรุ้งเริ่มจับขอบฟ้าก่อน จึงค่อยกระจายตัวจนสว่างจ้า ทาทาบพืชพรรณไม้จากคล้ำเข้มให้ใสสดขึ้นตามลำดับ
นกขยับปีกแต่งขนเตรียมพร้อมออกหากิน แมลงเริ่มกระโดดข้ามยอดหญ้าพาน้ำค้างร่วงผล็อยลงสู่ดินด้วยแรงกระเพื่อมนั้น
ยิ่งก้าวเดิน กลิ่นดินชื้นก็ลอยขึ้นแตะจมูก เสียงแซกแซกจากใบหญ้าเสียดกันวิ่งไล่ติดมาที่ปลายเท้า
เวลาเที่ยวต่างจังหวัด พ่อชอบตื่นไปเดินตั้งแต่แสงแรกเพิ่งเเตะขอบฟ้า ไม่ว่าเเถวที่พักจะเป็นทะเล ภูเขา หรือทุ่งนา
พ่อก็มักหายตัวไปแต่เช้าตรู่และกลับมาตอนฟ้าสว่างเพื่ออวดรูปถ่ายในมือถือ
“เราเห็นธรรมชาติกำลังตื่น เห็นสัญญาณแห่งชีวิตกำลังเริ่มต้นใหม่ และเห็นตัวเราเองยังมีชีวิตอยู่ ได้ชื่นชมสิ่งเหล่านั้น”
พ่ออธิบายหน้าตาของความสุขที่ได้รับจากการเดินชมต้นไม้ใบหญ้ายามเช้าให้ฉันฟัง
พ่อเป็นผู้ชายร่างเล็ก ผิวคล้ำแดด สวมแว่นตาสี่เหลี่ยมมุมมน และมีผมสีเงิน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่วัยหนุ่ม
แม้ตอนนี้พ่อเกษียณอายุราชการมา ๗ ปีแล้ว ผมของพ่อก็ยังคงมีสีเงินไม่ต่างจากเดิมเท่าไร
ถ้าหากถามถึงความฝันในยามนี้ พ่อบอกว่า “อยากไปเดินเที่ยวชมสวน ชมธรรมชาติ กับครอบครัว”
หลายครั้งที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน เราสองคนเดินวันละสิบกว่ากิโลเมตรทุกวันเป็นเวลาครึ่งเดือน เพื่อชมนก ชมไม้ ถ่ายรูปดอกไม้
และเดินให้ทั่วสวนทุกสวนที่เราสามารถไปถึงได้ก่อนมืด
แม้เป็นเมืองใหญ่อย่างโตเกียว พ่อก็เสาะหาจุดที่ไม่มีใครเลย นอกจากต้นไม้และบึงน้ำได้
ตัวฉันเองโดยนิสัยแล้ว พอจะชอบต้นไม้อยู่บ้าง แต่เขียวต่อเนื่องวันละ ๗ ชั่วโมงทุกวัน มันออกจะเกินไปหน่อย
มีสิ่งอื่นมากมายดึงดูดให้ฉันอยากไปดู ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือศูนย์รวมอุปกรณ์ของทำมืออย่าง โตคิวแฮนด์
ทำไมพ่อถึงชอบเดินในที่ที่มีเเต่สีเขียวล่ะ?
พ่อนึกสักครู่
“ตอนเรียนชั้นประถมฯ พ่อบังเอิญเห็นภาพประกอบนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาจากนิตยสารเล่มใหญ่ของคุณย่า
พอเห็นป่ามันสวย มีพืชพรรณแปลก ๆ มีสัตว์มหัศจรรย์ เลยคิดว่าถ้าได้เห็นของจริงคงดี
เเรก ๆ พ่อดูแต่รูป พอโตขึ้นเริ่มอ่านหนังสือคล่อง ก็ติดตามอ่านไปเรื่อย
จนวันหนึ่งไปบ้านญาติพบนวนิยายแบบรวมเล่มที่เขาซื้อเอาไว้ เลยนั่งอ่านตรงนั้นเลย ทั้งเพชรพระอุมาและล่องไพร
สองเรื่องนี้เข้าป่าเหมือนกัน แต่พ่อชอบเพชรพระอุมามากกว่า เพราะมันเกินจินตนาการดี”
ปัจจุบันพ่อสะสมนิยายจนครบชุดแล้วทั้งสองเรื่อง เก็บรักษาไว้ในตู้ไม้อย่างดีบนชั้นสองของบ้าน
รอวันจะมอบให้ใครสักคนเป็นมรดกตกทอด
“พ่อเลยจะอยากเข้าป่า เผื่อไปเจอที่ที่เหมือนกับในหนังสือ
อีกอย่าง ในป่า ในสวน เดินใกล้หญ้ามันเย็นสบาย ไม่ร้อนผ่าว ๆ แบบในเมือง”
ฤดูร้อนหลายปีก่อนที่เมืองโอตารุ อุณหภูมิอยู่ที่ ๒๒ องศาเซลเซียส
ซึ่งไม่ใช่แค่เย็นกว่าหน้าร้อนเมืองไทย แต่ยังเย็นกว่าซับโปโรเมืองหลวงของฮอกไกโดอีกด้วย
ในเวลาแห่งความสบาย ๆ นั้น ฉันยืนจัดผมเผ้าให้เข้าที่อยู่หน้ากระจกในห้องพักโรงแรม
เเละเริ่มคิดว่า วันนี้เราคงได้อยู่ริมคลองโอตารุแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของฮอกไกโดเป็นแน่
คิดแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะดีใจที่ได้อยู่ในเมืองแบบนักท่องเที่ยวคนอื่นบ้าง
ฉันก็เหมือนผู้หญิงทั่วไป ที่อยากจะมองหาซื้อขนมแปลก ๆ เดินชมสารพัดของจุกจิก เข้าร้านขายเครื่องสำอาง
แม้มีความชอบเป็นพิเศษต่อการนั่งมองใบไม้ไหวและผู้คนที่เดินผ่านไปมา
แต่เอาล่ะ เราสะสมภาพต้นไม้มามากมายเเล้ว วันนี้เราจะได้ไปดูคนเดินและงานศิลปะทำมือต่าง ๆ อย่างเต็มที่
เสียงคิดในใจยังไม่ทันขาดคำ
“เราจะไป ในที่ ซึ่งคนเขาไม่ไปกัน” พ่อพูดพร้อมหัวเราะขณะก้มหน้าดูแผนที่ท่องเที่ยวประจำเมืองที่กางแผ่อยู่บนโต๊ะ
ท่าทีสบาย ๆ เหมือนพูดเล่น แต่ฉันรู้ทันทีว่า พ่อเอาจริง
ไม่ว่าจะโตเกียว เกียวโต นาโกย่า หรือฮอกไกโด
การไปเที่ยวของเรามันช่างเปรียบเหมือนลูกเสือที่ไปเข้าค่ายเพื่อเดินทางไกลอย่างวิเวกในป่าประจำเมือง
“วันนี้เราจะไปภูเขาเทงงุ หนูเอาขนมกับน้ำใส่เป้ไปด้วย เราจะขึ้นกระเช้าไปบนยอดเลย ดูวิวเมืองเสร็จแล้ว ตอนลงเขา
เราจะเดินลงมา” พ่อพูด แล้วค่อย ๆ เงยหน้าจากแผนที่ พยักหน้าให้ฉันหนึ่งทีอย่างมุ่งมั่น
…อ่า…พ่อทำให้ฉันรู้ว่า นอกจากคลองโอตารุเเล้ว ยังมีเขาเทงงุนะ เขาเทงงุ
ที่นักท่องเที่ยวสาว ๆ ชาวไทยคงไม่คิดจะไป หรืออาจจะไป แต่คงต้องเป็นคนพิเศษจริง ๆ ถึงคิดที่จะเดินลงมา
ถึงจิตใต้สำนึกอยากจะต่อรองขอเลื่อนเทงงุไปก่อนได้ไหม แต่สมองบอกว่า ไปเทงงุเสียเถอะ
เพราะรู้ดีว่า พ่อฝันถึงเวลาที่จะได้ใช้ร่วมกับลูก ในสถานที่ที่เขาชอบ ได้พูดคุยเรื่องที่เขาสนใจ
และให้ลูกได้ร่วมสนุกกับความชอบของเขา แล้วลูกจะให้เวลากับพ่อได้ไหมล่ะ ?
ฉันอยากร่วมส่งเสริมความฝันของพ่อให้เป็นจริง
โอเคเทงงุก็ได้
เมื่อสิ่งที่เลือกมอบให้ คือ เวลา จึงมีหลายสิ่งที่ต้องเเลก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยเล่าไว้ในการบรรยายครั้งหนึ่งของท่านว่า
คนเป็นแม่มีเวลา ๖ เดือนในการพิสูจน์ให้ทารกเห็นว่า ใครเป็นแม่ที่แท้จริง
“คนเลี้ยงคือแม่ คนคลอดไม่ใช่” โชคดีแล้วที่ลูกอย่างฉันมีเวลามากกว่านั้น
เพื่อพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่า ฉันเอง ก็เป็นลูกที่มีอยู่จริง
พอเราขึ้นกระเช้าไฟฟ้าไปบนยอดเขา นอกจากวิวเมืองโอตารุแล้ว จะพบสวนเล็ก ๆ สำหรับให้อาหารกระรอก
ถัดไปทางซ้ายมีตู้ขายเครื่องดื่มหยอดเหรียญ พร้อมกับม้านั่งยาววางเรียงอยู่สองสามตัว
ถ้าเราเดินต่อไปอีก จะเจอต้นไม้ กิ่งไม้แห้ง ต้นหญ้า แอ่งน้ำขัง และศาลเจ้าที่ขนาดเล็กหลบมุมอยู่เงียบๆ
สุดทางนั้นเป็นทางสำหรับเดินลงเขา
“หนูรอแถวนี้ พ่อไปเดินสำรวจรอบ ๆ ให้ทั่วก่อน กลับมาค่อยเดินลงเขากัน”
เมื่อถึงชายป่าบนเขาสิ่งที่ทำให้พ่อกังวลมากที่สุด คงไม่ใช่หนทางข้างหน้า แต่เป็นตัวฉันนี่แหละ
เจ้าสัมภาระก้อนใหญ่ที่เคยนำทาง บัดนี้พ่อเอ่ยขอปลดลงชั่วคราวเพื่อความคล่องตัว
ถึงจะเป็นห่วงแต่กวาดตาดูแล้ว พื้นที่รอบ ๆ นี้ไม่ได้กว้างมากนัก พ่อสำรวจไม่นานคงมา
ฉันจึงล้วงขวดน้ำแอปเปิลจากกระเป๋า ดื่ม แล้วก็ยืนชมกลุ่มคนที่กำลังให้อาหารกระรอกเป็นกับแกล้ม
“ป่ะพลอย เดินตามป้ายไปทางนี้”
พ่อเดินนำไปทางซ้าย ผ่านศาลเจ้า ตรงไปเข้าทางเดินเล็กที่แทรกตัวอยู่ระหว่างต้นหญ้าที่สูงท่วมข้อเท้า
ฉันออกเดินต๊อกแต๊กตามไปอย่างไม่คิดอะไรในหัว แต่ขอไม่นับภาพอาหารที่จะได้กินเป็นมื้อแรกเมื่อกลับเข้าเมือง
เพราะนั่น คือ รางวัลใหญ่ ที่ช่วยให้ฉันตั้งใจก้าวเดินในเวลานั้น
ในการเดินกับพ่อ บางทีเราพิชิตเส้นทางได้เร็ว บางทีก็ล่าช้าเพราะทางเดินนั้นยากกว่าที่คิด หลง หยุดยืน ทางตัน
แวะแบ่งกันกินขนมที่พกมาบ้าง บางทีก็หาปลายทางไม่เจอ ต้องเดินย้อนกลับทางเดิมเป็นกิโลฯ
บางทีรถเมล์ที่ควรจะผ่านก็ไม่มา หรือแม้กระทั่งพบว่าปลายทางไม่ได้เป็นอย่างภาพที่โชว์ในหนังสือท่องเที่ยว
แต่พ่อก็ฝ่าฟันทุกสถานการณ์มาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเสมอ
อาจเพราะเป็น ธรรมชาติ พ่อจึงไม่คาดหวังให้ต้องสวยงาม หรือน่าอัศจรรย์ใจกว่าที่ที่เคยผ่านมา
พ่อก็แค่ไปดูให้รู้ว่าของจริงเป็นอย่างไรเท่านั้น
และเพราะฉันเลือกแล้วว่าจะให้เวลากับพ่อ ฉันจึงไม่คาดหวังสิ่งอื่นนอกจากการใช้เวลากับพ่อ
ปลายทางที่ตั้งไว้แต่แรกเลยไม่ได้ยิ่งใหญ่เสียจนเราเดินจากมาไม่ได้
ทุกสิ่งระหว่างทาง ได้มอบความทรงจำใหม่ให้เราทั้งคู่แล้ว
เราเริ่มเดินฝ่าดงต้นไม้โดยไร้อุปกรณ์เสริมแบบนี้มาตั้งแต่พ่อเพิ่งเกษียณ
ดังนั้น ด้วยวัยที่ค่อย ๆ มากขึ้นของพ่อ ฉันจึงต้องดูแลทริปของเรามากขึ้นทีละน้อย
แต่มันคงไม่มีทางเทียบได้กับสิ่งที่พ่อเคยทำเพื่อฉัน
แล้วก็คงทำเรื่อยไป จนกว่าจะตายจากกัน
ฉันเพิ่งหัดอดทนเพื่อพ่อไม่กี่เรื่องเเละทำอย่างสม่ำเสมอมาไม่ถึง ๑๐ ปี ฉันยังอ่อนหัดนัก
จึงมีหลายครั้งเผลอแสดงความไม่พอใจออกไป เพราะการอยู่ด้วยกัน ๒๔ ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลานาน
สำหรับคนโลกส่วนตัวสูงอย่างฉัน ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายเลย
พ่อนอน ๒ ทุ่ม ฉันนอน ๕ ทุ่ม พ่อตื่นตี ๔ ฉันตื่น ๗ โมงเช้า
ความชอบ ความสบาย และเป้าหมายชีวิตของเราต่างกัน ถ้าจะเดินทางด้วยกัน ต้องมีใครสักคนที่เสียสละ
สำหรับฉัน เวลาต้องล่วงมานานพอสมควร จึงค่อย ๆ ตระหนัก ถึงความหมายของประโยคที่ว่า
“เสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อคนอื่น” ว่ามันลึกซึ้งอย่างไร และทำได้ยากแค่ไหนในโลกแห่งความจริง
โดยเฉพาะการเสียสละเพื่อคนที่เราเคยชินว่า เขาต้องเป็นฝ่ายให้อยู่แล้วโดยชอบธรรม
ใคร ๆ ก็อยากเลือกได้ อยากทำเพียงสิ่งที่อยาก ทิ้งในสิ่งที่ไม่อยากทั้งนั้น
แต่เมื่อผ่านการเสียสละหลาย ๆ ครั้งมาแล้ว ทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น
ดีขึ้นที่ไม่ใช่แปลว่า ทำได้ง่ายขึ้น แต่แปลว่าจะทำได้อย่างรู้ตัวเองดีขึ้นว่า ต้องดำเนินชีวิตไปด้วยวิธีคิดอย่างไร
ตักเตือนตัวเองอย่างไร ถ้าหากอยากช่วยพ่อให้ตามฝันได้ลุล่วง
เรื่องนี้ จะยังยากเสมอสำหรับฉัน เพราะมันคือการสู้กับตัวเอง เพื่อเสียสละ
และพ่อก็ไม่เคยสอนเรื่องนี้แก่ฉันโดยตรง แต่เขาทำให้เห็นเสมอ เป็นธรรมดา
ชายชราคนหนึ่งยื่นขอบขนมปังให้ภรรยาที่แก่พอ ๆ กันกับเขา
ภรรยาร้องไห้ และบอกว่า เธอทนกินแต่ขอบขนมปังแข็ง ๆ จากเขามาตั้งแต่สาวยันแก่
ไม่เคยได้กินเนื้อขนมปังด้านในเลยสักครั้ง สามีช่างใจร้ายกับเธอเหลือเกิน
สามีตกใจมาก และพูดออกไปด้วยเสียงเครือ ๆ ว่า “นั่นเป็นส่วนที่ฉันชอบที่สุด”
(เป็นเรื่องราวที่ฟังมาแล้วชื่นชอบมากเป็นพิเศษ แต่จำไม่ได้จริง ๆ ว่าได้ยินหรือได้อ่านมาจากแหล่งใด)
เรื่องดังกล่าว ย้ำเตือนฉันว่า
การเสียสละเพื่อคนอื่น อาจไม่ใช่สิ่งพิเศษในสายตาของผู้ได้รับเสมอไป
ผู้ให้ต่างหากที่จะรู้สึก
ชีวิตค่อย ๆ เติบโต ทำให้ฉันเริ่มสังเกตในความเสียสละของพ่อ
ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการเลือกกินหัวปลาในขณะที่ลูกกินเนื้อปลา
การยกของที่มีน้ำหนักเยอะกว่าและจำนวนมากกว่า
การขับรถไปทำธุระให้คนอื่น ๆ ในบ้าน การรับส่งฉันจากกรุงเทพฯ กลับไปบ้านเราที่ต่างจังหวัด
ไปจนถึงการประหยัดเรื่องของตัวเองเพื่อมีใช้จ่ายให้ลูก ๆ
ระหว่างการสังเกตอย่างตั้งใจนั้นเอง ความฝัน ความสุขของพ่อก็มีความหมายกับฉันมากขึ้นตามลำดับ
เมื่อจะเลือกสถานที่ที่จะไป พ่อก็เลือกที่ที่มีทั้งต้นไม้และร้านค้า
ถ้าเริ่มหิว พ่อก็เลือกร้านอาหารที่ฉันน่าจะชอบ
เวลาเดินชมสวนจนใกล้ค่ำ ก็มีบางวันที่พ่อกลับไปพักก่อนเวลา เพื่อให้ฉันได้ใช้เวลาของตัวเอง
แม้ตอนที่พ่ออยากนอน พ่อก็ยอมเปิดแสงไฟไว้ เพื่อให้ฉันได้ทำกิจวัตรอื่น ๆ ต่อ
พ่อ ยังคงเสียสละอยู่เสมอโดยไม่บอกใคร
ฉันนี่เอง คือ สัมภาระก้อนโตบนหลังพ่อ พ่อเคยแบกฉันขึ้นหลัง เคยกอด เคยผูกเชือกลาก และปลดวางลง
ให้ฉันเลือกทางไปต่อเองเมื่อถึงเวลา
ฉันอาจเคยแยกเดินห่างจากพ่อ เดินอ้อมไปอ้อมมา
แต่อย่างไร ฉันก็คือสัมภาระที่จะวิ่งกลับไปหาพ่อเสมอ และอาจจะได้สลับแบกพ่อขึ้นหลังในวันหนึ่ง
จริงอยู่ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและความร่ำรวยเงินทอง
มีผลต่อความสุขของฉันมากในฐานะมนุษย์วัยทำงานคนหนึ่ง
แต่ความสุขจากสิ่งนั้น ไม่ได้อยู่สูงไปกว่าความต้องการที่ฉันอยากทำให้พ่อรู้ว่า
ลูกของพ่อมีอยู่จริง ในวันที่พ่อยังดีใจได้
คุณตามักบอกแม่ของฉันว่า “ขอเวลาพ่อสัก ๕ นาทีได้ไหม”
ใน ๕ นาที มันไม่ได้มีเรื่องสำคัญใด มีเพียงความรู้สึกที่จะได้รับการเติมเต็มเพิ่มขึ้นอีก ๕ นาทีของคุณตาเท่านั้น
ฉันจำไม่ได้ว่าคุณตาพูดแบบนั้นกี่ครั้ง ก่อนล้มป่วยลงและไม่รับรู้สิ่งใดอีกแล้ว
แต่แม่ของฉัน ยังคงจำประโยคสั้น ๆ นี้ได้แม่น ราวกับถูกสักเอาไว้ในหัวใจ
เมื่อนึกย้อนไปมองภาพตัวเองที่กำลังสะกดความฉุนเฉียวอันเกิดขึ้นระหว่างการเดินท่ามกลางร่มไม้ใบหญ้ากับพ่อ
หรือหารือกันเรื่องเวลาในแต่ละเรื่องสถานที่ที่จะไป
ฉันก็ขอบคุณตัวเองทุกครั้ง ที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่มีพ่อ เพื่อสะสมสุขในแบบของฉัน
สุขแบบนี้นั้น คือสุขชนิดที่ต้องอาศัยความเอื้ออาทรและเมตตาต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ
ฉันเชื่อว่า ถ้าฝืนความปรกติของมนุษย์ได้ พ่อก็อยากมีสายตาที่ดี อย่างน้อยให้เหมือนกับตัวเขาเองในวัยหนุ่มอยู่เสมอ
พ่ออยากแข็งแรง คล่องแคล่ว ทำอะไรได้ด้วยตัวเองเสมอ
พ่อคงอยากเป็นผู้นำ ผู้ช่วยเหลือ ผู้ดูแล ที่ลูกชื่นชมและไว้ใจได้อยู่เสมอ ไม่ว่าลูกกล้าแกร่งหรืออ่อนแอ
ไม่ว่าจะอย่างไร พ่อก็อยากภูมิใจในตัวเขาเองได้ เช่นเดียวกันกับเรา
สำหรับฉัน คนต่างวัย ไม่มีอะไรเหมาะกว่าการฟังอีกฝ่ายอย่างเข้าใจ และให้กำลังใจกัน
ตัวฉันเองก็ฝึกให้กำลังใจพ่อมาพักใหญ่ ก่อนจะได้การเรียนรู้การให้กำลังใจตัวเองตามมาเป็นผลพลอยได้
ฉันไม่เคยหยุดภูมิใจในตัวพ่อ และชื่นชมพ่ออยู่เสมอ ไม่ว่า เรื่องพ่อปลูกต้นไม้เก่งมาก เรื่องพ่ออุ้มหลานได้นาน
เรื่องที่พ่อเรียนรู้การใช้ Google Map จนใช้ได้คล่อง หรือการที่พ่อบริหารเงินได้อย่างไร้ที่ติ
ฉันบอกตัวเองเสมอให้ตั้งใจฟัง ไม่ว่าพ่อจะเล่าเรื่องด้วยถ้อยคำ หรือด้วยการกระทำก็ตาม
ทีมของเราพึ่งพาพ่อมามาก และจะพึ่งพาต่อไป (ตามความสามารถที่เหมาะสมกับสุขภาพของพ่อ)
หลังจากเดินแหวกม่านต้นไม้มาได้ ๒๐ นาที เราก็เจอคนสองคนที่กำลังเดินขึ้นไปเพื่อพิชิตยอดเขา
ต่างฝ่ายต่างก้มหัวทักทายกันเงียบ ๆ และเอี้ยวตัวหลบให้อีกฝ่ายเดินสวนไปได้อย่างสะดวก
ฉันรู้สึกได้จากการสบตากับเพียงเเวบเดียวนั้น ว่าต่างคนต่างอวยพร ให้อีกทีมทำสำเร็จ
ผ่านไปครึ่งชั่วโมงโดยประมาณ เราสองพ่อลูกก็พิชิตตีนเขาจนได้
“ไม่ไกลเท่าไหร่นะ” พ่อพูดแล้วยิ้มแย้มอย่างพอใจ
“ป่ะ กินซูชิหมุนกัน” มาแล้วสินะ เจ้ารางวัลใหญ่
ถึงวันนี้ ฉันไม่รู้ว่าความฝันของพ่อยาวกี่กิโลฯ พ่อคิดจะไปอีกกี่สวน กี่จังหวัด หรือกี่ประเทศ
ระยะทางที่ฉันเดินกับพ่อมานั้น ถึงครึ่งทางฝันของพ่อหรือเปล่า
แต่ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลหรอก
เพราะความสุขที่เลือกแล้วของฉันไม่ได้วัดที่ความยาวของระยะทาง หรือจำนวนสถานที่
แค่พ่อยังสนุกและเอ่ยชวนให้ไปเป็นเพื่อนร่วมทีมของพ่อก็เพียงพอ
เพราะสุขของฉัน คือได้อยู่ร่วมในฝันของเธอ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้…
ฉันอยากให้ความทรงจำของพ่อมีฉันอยู่เสมอ
และความทรงจำของฉันก็มีพ่ออยู่เสมอ เช่นกัน เท่านั้นเอง
พรุ่งนี้เราจะไปไหนต่อ?
พ่อคงวางแผนไว้หมดแล้ว
…
กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- นิตยสารสารคดี
- เพจความสุขประเทศไทย
- สสส.