ทีมครอบครัวผลไม้
เรื่อง : ปิยนันท์ เลาหบุตร และ ด.ช.ศิลา บุราสัย (แม่องุ่นกับลูกขนุน)

เมื่อต้อง “ปล่อย” ให้ลูก “เหยียบเรือสองแคม”

ตั้งแต่เด็กๆ เคยร่ำเรียนมาว่า อย่าเหยียบเรือสองแคม จะเลือกเรือลำไหนก็เลือกสักลำ จะทำอะไรก็เลือกสักทาง เรือจะไปได้ไกล และไม่อับปางลงกลางทาง แต่ฉันในวันนี้กำลังปล่อยให้ลูกยืนเหยียบนาวาลำเล็กสองลำ มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

“แม่ครับ ผมขอเรียนแซกโซโฟนได้มั้ย”

ฉันยังจำได้ไม่ลืม วันที่ลูกเดินหน้าตาจริงจังมาบอกว่า อยากเล่นแซกโซโฟนเป็น เด็กชายวัยประถมฯ 5 ปลายๆ ผู้ไม่เคยขอร้องว่าอยากเรียนเสริมอะไร ยอมเรียนตามที่แม่แนะนำมาตลอด

ตอน ป. 1 ทดลองเรียนอูกูเลเล เพราะแม่เห็นเป็นเครื่องดนตรีเล็กๆ น่าจะเหมาะกับเด็ก ซึ่งลูกก็สนุกอยู่สักพัก เล่นได้หลายเพลง ผ่านไปเกือบปี ขอไม่เรียนต่อ อูกูเลเลจึงนอนสงบเดียวดายในตู้เก็บของ

ช่วงปิดเทอม ป. 2 เห็นลูกว่าง เลยให้ไปลองเรียนศิลปะ ซึ่งน่าจะถูกทางพอสมควร เพราะหลังจากนั้นที่บ้านก็มีภาพวาดผลงานของลูกเต็มสองลัง ฝีมือดีขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มโตจะเป็นวัยรุ่น จากภาพวาดบนกระดาษกลายเป็นภาพในไอแพดแทน สมุดวาดภาพและสีสารพัดชนิดถูกเก็บในลังใกล้ๆ กล่องผลงาน แต่แล้วศิลปะ ไม่ว่าจะดิจิทัลหรือกระดาษก็ดูจะไม่ใช่ทาง

ประถมฯ 3 แม่ผู้ยังปรารถนาให้ลูกมีทักษะด้านดนตรี จึงพาไปทดลองเรียนกีตาร์คลาสสิก ลูกตกลงเรียนด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเท่ดี แต่ความรู้สึกนี้ไม่ช่วยให้การเรียนพัฒนาเท่าไร เพราะยอมซ้อมวันละไม่เกิน 5 นาที แต่กีตาร์คลาสสิกก็อยู่กับลูกได้นานถึง 2 ปี จากนั้นก็ไปนอนสงบเงียบอยู่ข้างๆ อูกูเลเล

เข้าประถมฯ ปลาย แม่ผู้อยากให้ลูกแข็งแรง มีทักษะด้านกีฬาบ้าง จึงพาไปเรียนบาสเกตตบอล โดยไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วลูกไม่ชอบกีฬาที่ต้องปะทะ ลูกจำยอมเรียนเกือบปี โดยฝีมือไม่ดีขึ้นนัก (ในสายตาแม่) จนแม่ยอมแพ้ ในวันสุดท้ายของการเรียน ลูกแสดงฝีมือเล่นเกมอย่างสนุก ปิดฉากบาสเกตบอลอย่างสวยงาม พร้อมความยินดีที่ไม่ต้องไปเรียนอีก

songkam02
songkam03
ช่วงกีตาร์

“แล้วกีตาร์ไฟฟ้าที่เรียนอยู่จะเอายังไงครับ”

แม่ย้อนถามตอนลูกเข้ามาบอกว่าอยากเรียนแซกโซโฟน ซึ่งขณะนั้นลูกเรียนกีตาร์ไฟฟ้าได้หลายเดือนแล้ว แน่นอนว่าการเริ่มต้นเรียนกีตาร์มาจากแม่ผู้มุ่งมั่นให้ลูกมีทักษะดนตรีสักอย่าง หลังจากพ่ายแพ้ต่อการเรียนๆ เลิกๆ อยู่หลายปี บทเรียนที่ได้รับแม่จึงยอมให้ลูกมีส่วนร่วมตัดสินใจการเรียนของตนเอง หากทดลองแล้ว แม่จะไม่โต้แย้งถ้าลูกไม่อยากเรียน เมื่อผ่านการทดลองเรียนมาหลายแห่ง ก็พบครูสอนกีตาร์ที่สร้างความแปลกใจให้แม่ ลูกตอบตกลงเรียนกับครูทันที รวมถึงรับปากครูว่าจะซ้อมกีตาร์ทุกวัน วันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย นับแต่นั้น การซ้อมกีตาร์หลังทำการบ้านเสร็จก็เป็นกิจวัตรประจำวันของลูก

การซ้อมดนตรีของลูกในช่วงเวลาที่เพื่อนส่วนใหญ่เล่นเกมออนไลน์ ไม่ได้ทำให้แม่แปลกใจเท่าแนวกีตาร์ไฟฟ้าที่ครูสอน สำหรับแม่มันคือร็อกดีๆ นี่เอง (แม้ลูกจะพยายามอธิบายว่าคือนีโอคลาสสิก) ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นลูกชอบแนวดนตรีแรงๆ แบบนี้ ชวนให้สงสัยว่า มีอะไรตรึงลูกไว้กับการเรียนกีตาร์ร็อก เป็นเพราะเส้นเสียงที่บางครั้งก็บาดแหลม บ้างก็หนักหน่วงกระตุ้นจิตวิญญาณบางอย่างในใจลูกเวลาที่ดีดนิ้วลงบนสายกีตาร์ หรือเพราะความเป็นตัวจริงในเรื่องกีตาร์ไฟฟ้าของครู ที่ไม่ใช่แค่สอนเล่นกีตาร์เท่านั้น แต่ยังให้ความรู้เรื่องดนตรีในแต่ะละยุคสมัย วิวัฒนาการของกีตาร์ การเปลี่ยนสายกีตาร์ การเลือกกีตาร์ จนความรู้ด้านทฤษฎีดนตรีอย่างลึกซึ้ง แม่เองก็ได้สนุกกับเรื่องราวที่ลูกมาเล่าให้ฟัง ระหว่างขับรถกลับบ้านอยู่เสมอ

ลูกได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า กีตาร์กับตัวเขาจะเดินไปด้วยกันอย่างแน่นอน เราจึงลงทุนซื้อกีตาร์ราคาหลักหมื่น แทนกีตาร์ที่ยืมมาเรียนจากคุณลุง พร้อมแอมป์ตัวใหม่ แม่ให้ลูกร่วมจ่ายค่ากีตาร์ครึ่งหนึ่งจากเงินออมในบัญชีเพื่อให้ลูกรู้คุณค่าและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ สรุปว่า ดนตรีที่ลูกเลือกคงเป็นกีตาร์ไฟฟ้าสินะ แนวทางดนตรีก็คงเป็นร็อก เอาเถอะ แม้แม่จะไม่เข้าใจแนวนี้นัก แต่ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย คราวนี้จะได้โฟกัสเสียที แม่สบายใจ ลูกก็สนุกกับการเรียน

“ผมจะเรียนทั้งสองอย่างครับ ผมจะฝึกซ้อมทั้งสองอย่าง”

คำตอบหนักแน่นของลูกเหมือนตัดสินใจแล้วที่จะเพิ่มอีกเส้นทาง ในสายตาแม่แซกโซโฟนดูเป็นแนวแจ๊ส ส่วนกีตาร์ไฟฟ้าเป็นแนวร็อก ไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไร อีกทั้งราคาแซกโซโฟนในระดับเริ่มต้นก็สูงเอาการ ค่าเรียนยิ่งสูงและหาคนสอนยากกว่า แถมเป็นเครื่องดนตรีส่วนตัว ไม่มีใครให้ยืมมาเรียนก่อนง่ายๆ เหมือนกีตาร์ แต่ความตั้งใจของลูกที่กล้าเดินมาบอกทำให้แม่ลังเล

“วันนี้ครูให้ลองเป่าว่าเป่าออกมั้ย ผมเป่าออกในครั้งแรกเลย แถมเป่าได้ยาวมากด้วย”

songkam04
songkam05
ช่วงแซก

ลูกเล่าต่ออย่างภาคภูมิใจ รอยยิ้มของลูกทำให้แม่ย้อนนึกถึงการเรียนขลุ่ยรีคอร์เดอร์ วิชาดนตรีที่โรงเรียนของลูกเมื่อเข้าประถมฯ ปลาย ช่วงแรกๆ ลูกก็เรียนแบบพอผ่าน แต่ผ่านไปเกือบ 2 ปี ลูกจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่เป่าดี เป่าโน้ตยากๆ โน้ตครึ่งเสียงได้ เป็นตัวยืนให้เพื่อนๆ ที่เป่าไม่เก่งในวง ส่วนทีอยู่ดีๆ ก็สนใจแซกโซโฟน คงเพราะมีครูดนตรีที่เพิ่งมาใหม่ จบเอกแซกโซโฟนจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครูนำเครื่องดนตรีชนิดใหม่มาเปิดโลกแก่เด็กหลายคน รวมทั้งลูกชาย

แม่เริ่มคิดหนัก ใจหนึ่งอยากให้ลูกโฟกัสที่เครื่องดนตรีชนิดเดียวที่อุตส่าห์หาเจอแล้ว แต่อีกใจก็ค้านว่า หากลูกมีพรสวรรค์ ทำได้ดีกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ไปต่อ เพราะแม่เป็นคนกำหนดอย่างนั้นหรือ ทั้งที่ผ่านมาพาลูกให้ทดลองสารพัด เผื่อเจอสิ่งที่ชอบ พอลูกบอกสิ่งที่สนใจเป็นครั้งแรก กลับจะปิดกั้น

“เราจะลองทดลองเรียนสั้นๆ 1 เดือนก่อนนะ ก่อนตัดสินใจว่าชอบจริงหรือเปล่า”

การหาซื้อแซกโซโฟนสำหรับผู้เริ่มต้น ราคาค่อนข้างสูงไม่ต่างจากกีตาร์ แม่เลยมีเงื่อนไขเหมือนเดิมคือให้ลูกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของด้วยเงินตัวเองครึ่งหนึ่ง

หลังจากนั้นใครผ่านไปผ่านมาช่วงเย็นๆ จะได้ยินเสียงคนหัดเป่าแซกโซโฟนดังมาจากบ้านทุกวัน โชคดีเป็นบ้านเดี่ยวอยู่ชานเมืองแถวบางแค หลังบ้านเป็นสวน เสียงแซกโซโฟนที่คนแถวนั้นได้ยินจึงเป็นเพียงเสียงเบาๆ ที่ลอยมาตามลม คงไม่สร้างความรำคาญนัก

ด้วยความตั้งใจฝึกฝนทำให้เสียงดนตรีเริ่มพอเป็นเพลงที่ฟังได้ การเรียนแซกโซโฟนกำลังไปด้วยดี แต่แล้วโควิดก็เข้ามา ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก โชคดีที่มีอาจารย์จากยูทูบ การเรียนจึงไปต่อได้พอสมควร พ่อแม่คุณย่าคุณยายได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 9 อย่าง “สายฝน” “Still On My Mind” “ใกล้รุ่ง” “แสงเทียน” อย่างมีความสุขตลอดช่วงล็อกดาวน์

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ความตั้งใจเรียนและฝึกฝนด้วยตัวเองตลอดหลายเดือน ทำให้แม่ตัดสินใจหาครูผู้จะนำทางลูกในเส้นทางดนตรีนี้อย่างจริงจัง พอทดลองเรียนกับครูคนใหม่ครั้งแรก ลูกก็ตัดสินใจเรียนทันที

แม้ครูแซกโซโฟนจะมีบุคลิกต่างจากครูกีตาร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ต่าง หลังเรียนแต่ละครั้ง ลูกจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง ไม่ว่าเทคนิคการใช้ลม การเป่า ประวัติดนตรีแจ๊ส จนทฤษฎีดนตรีที่ครูถ่ายทอดให้อย่างสนุกสนาน พ่อแม่จึงเหมือนได้เรียนรู้เครื่องดนตรีอีกชนิดไปด้วย

ถึงตอนนี้เข้าปีที่ 3 แล้ว สำหรับการมีเครื่องดนตรีสองชนิดเป็นเพื่อนร่วมทาง เป็นกิจวัตร กิจกรรมประจำวันที่ต้องฝึกซ้อม ฝึกฝน จนกลายเป็นความเคยชินของคนในบ้าน (และอาจรวมถึงคนข้างบ้านด้วย) ที่จะได้ยินเสียงดนตรีก้องกังวานอยู่เสมอ วันไหนเล่นเพลงที่คุณย่ารู้จัก ท่านจะเดินมาฟังใกล้ๆ หน้าห้องซ้อม พร้อมรอยยิ้ม บางครั้งก็ขอเพลง

“วันนี้เพลงยาก แต่เพราะมากเลยนะแม่”

เมื่อลูกเรียนระดับสูงขึ้นในดนตรีทั้งสองชนิด ประโยคว่าเพลงเล่นยากจะได้ยินบ่อยขึ้น แต่ก็ยังไม่มีประโยคที่บอกว่า ไม่ไหวแล้วตามมา อาจใช้เวลานานกว่าเดิมกว่าจะผ่านแต่ละแบบฝึกหัด การซ้อมยังเกิดขึ้นทุกวัน บางวันก็ซ้อมนานกว่าปรกติเพราะอยากทำการบ้านยากๆ ให้ได้ บางวันก็เพลินกับเทคนิคใหม่ๆ ที่ครูสอน นำมาปรับใส่กับเพลงให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

songkam06

ฉันเคยเลียบๆ เคียงๆ ถามลูกตอนเผลอ สำหรับคะแนนของการเรียนดนตรีทั้งสองชนิดนี้ แต่ไม่ว่าถามเมื่อไรคำตอบของลูกไม่เคยเปลี่ยน

“ชอบเท่ากัน”

ทั้งความสุขในการเรียน การได้เล่นดนตรี และการสอนของครู ลูกรักสองสิ่งนี้เท่ากัน

มีนักดนตรีมากมายที่เล่นดนตรีได้หลายชนิด เพราะพวกเขารักเครื่องดนตรีเหล่านั้นมากจนไม่อยากเลือก แล้วทำไมลูกจะเล่นดนตรีทั้งสองชนิดไปพร้อมๆ กันไม่ได้ การเหยียบเรือสองแคม จะทำให้การเดินทางไม่ถึงฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่หากระหว่างทางเป็นย่างก้าวที่มีความสุข แม่ก็พร้อมถือสมุดโน้ตดนตรีเดินไปกับลูก ไม่ว่ามันจะไปสิ้นสุดตรงไหน

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.