ทีมกัลย์ชา
เรื่องและภาพ: กัลยา สว่างคง เจนนิสตรา สิริศรีเสริมวงศ์

ความรัก/ทำให้/คนตาบอด

ขอให้น้องๆ ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออกด้วยนะครับ”

ทันทีที่จบประโยคสุดท้ายของเจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการ “บทเรียนในความมืด” หรือ Dialogue In The Dark เสียงคุยอื้ออึงก็ดังขึ้นทันที

นั่นคือครั้งแรกที่ฉันพานักศึกษามาเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกแห่งความมืดสนิท ความมืดมิดที่คาดไม่ถึงว่าจะพบเจอได้ง่าย ๆ แค่ไปที่ชั้นบนของอาคารจามจุรีสแควร์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร เมืองที่ถูกขนานนามว่าเต็มไปด้วยแสงสีและไม่เคยมีราตรีที่หลับใหล

พวกเราอาจารย์และลูกศิษย์จากชมรมนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับโครงการเล็ก ๆ บนความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่ต้องการจะนำพาคนพิการทางสายตาไปท่องเที่ยวให้ได้สักครั้ง

ถ้าอยากพาคนตาบอดไปเที่ยวให้ได้ เราก็ควรทำความเข้าใจว่าเขาอยู่อย่างไรบนโลกใบนี้ อืมเราไปลองเป็นคนตาบอดกันสักครั้งมั้ยครับ”

“มาร์ท”-ภูษิต ภพพินันท์ ประธานชมรมฯ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการทำโครงการเอ่ยปากชักชวนพวกเราด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

แน่นอนว่ายังไม่เคยมีใครสักคนในชมรมของเราที่เคยพาคนตาบอดไปเที่ยว ข้อเสนอของมาร์ทในวันนั้นจึงน่าสนใจมาก และทำให้พวกเราทุกคนมาที่นี่เพื่อเปิดใจเรียนรู้และเข้าใจ…ชีวิตในโลกมืด

tripblind02
นิทรรศการบทเรียนในความมืด

เสียงในใจของฉัน

ฉันเคยทำงานเป็นมัคคุเทศก์ในบริษัทนำเที่ยว ไม่ว่านักท่องเที่ยวต้องการเดินทางในรูปแบบไหน ฉันทำให้ทุกคนถูกใจและมีรอยยิ้มได้เสมอ

รอยยิ้มของนักท่องเที่ยวเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนให้ฉันอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างมีความสุขมายาวนาน…

ไม่น่าเชื่อว่าตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ ๒๐ ปี มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ฉันมี “เขา” คนพิการทางการเคลื่อนไหวร่วมเป็น ๑ ใน ๔๐ ชีวิตที่เดินทางด้วยกัน กับ “ทริปดำน้ำ ดูปะการัง เกาะนางยวน” เราร่วมทางกันด้วยความสนุกสนาน ร้องเพลง เล่นน้ำ กินข้าว และทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างราบรื่น

แต่! สิ่งที่กลายเป็นปมและส่งเสียงในใจของฉันอย่างที่สุดคือ…

“ฉัน” ต้องทิ้ง “เขา”ไว้ระหว่างทางขึ้นจุดชมวิวเกาะนางยวน เพราะเส้นทางที่ไม่เอื้อให้คนพิการก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อร่วมทางไปกับเพื่อน ๆ ได้ เราทุกคนพยายามทุกทางที่จะให้ “เขา” มีโอกาสไปกับเรา แต่เส้นทางนั้นโหดร้ายเกินไปสำหรับผู้ที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน

ในที่สุด “เขา” จึงบอกกับพวกเราว่า “ผมจะรอทุกคนตรงนี้นะครับ”

แม้ไม่มีสายตาตัดพ้อ ไม่มีเสียงบ่นก่นว่า หรือถ้อยคำรำพึง รำพันใด ๆ หลุดออกมาแม้แต่คำเดียว ในการที่ “เขา” ต้องกลายเป็นผู้ถูกทิ้งให้รอที่กลางทาง แต่ฉันยังคงจดจำความผิดหวังที่ฉายชัดในสีหน้าของ “เขา” ได้เป็นอย่างดี

คำถามมากมายเกิดขึ้นในใจฉันและมันยังคงก้องดังอยู่เสมอ…

“คนพิการควรไปเที่ยวหรือไม่”

“ทำไมฉันถึงพาคนทุกคนไปเที่ยวอย่างที่คิดไม่ได้”

“การท่องเที่ยว”ไม่ใช่เรื่องที่คนทุกคนเข้าถึงได้จริง ๆ ตามที่ใครต่อใครบอกมาตลอดหรอกหรือ”

หลังจากที่รูปแบบของการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป “ฉัน” จึงผันตัวเองเข้าสู่อาชีพใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะต้องใช้ทักษะการทำงานที่ต่างออกไปบ้าง แต่อาชีพใหม่นี้ทำให้ฉันพบว่าความสุขในการทำงานยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และที่สำคัญฉันยังส่งต่อความสุขเพื่อร่วมสร้าง“ความฝัน” ของใครอีกหลายคนให้เป็นจริง

tripblind03
ชมรมนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

ความฝันของเธอ

“หนูอยากเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ค่ะ อยากพาทุกคนไปเที่ยว แล้วก็อยากเที่ยวให้รอบโลกเลยค่ะ”

เจนนิสตรา สิริศรีเสริมวงศ์ หรือ ชาช่า เจ้าของร่างเล็กกะทัดรัดที่พกพารอยยิ้มสดใสและสายตามุ่งมั่น ยกมือตอบเป็นคนแรกเมื่อถูกถามว่า ทำไมจึงเลือกเรียนคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

เด็กน้อยที่เพิ่งพ้นรั้วโรงเรียนมัธยมศึกษากับความฝันยิ่งใหญ่ ที่ยังไม่รู้ว่าเวลา ๔ ปีในรั้วมหาวิทยาลัยจะขับเคลื่อนเติมเต็มฝันนั้นได้เพียงใด

ฉันอมยิ้มเบา ๆ ที่ได้ยินความฝันยิ่งใหญ่จากเด็กหญิงตัวเล็กคนนั้น และนั่นคือครั้งแรกที่เราได้พบกัน

เจ้าของร่างเล็กกับความฝันอันยิ่งใหญ่ได้โคจรกลับมาพบฉันอีกครั้งเมื่อรู้ว่าฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้ชมรมนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ของมหาวิทยาลัย ความฝันมากมายถูกทยอยเล่า และแน่นอนว่าเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นความฝันอันดับต้น ๆ ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กคนนี้

“หนูอยากพาคนไปเที่ยวรอบโลกใช่มั้ย แล้วอยากลองพาคนพิการไปเที่ยวบ้างไหมคะ”

เด็กน้อยทำตาโตกว่าเดิมเมื่อได้ยินฉันบอกว่าให้ลองพาคนพิการไปเที่ยวดูก่อน

“หนูไม่เคยพาใครไปเที่ยวเลยค่ะ แล้วจะพาคนพิการเที่ยวได้เหรอคะ จะพาคนพิการเที่ยวต้องเตรียมตัวอย่างไร เขาเป็นคนพิการประเภทไหน เขาชอบเที่ยวที่ไหน หนูต้องทำอะไรบ้าง แล้วหนูจะทำได้มั้ยคะ”

คำถามที่หลั่งไหลพรั่งพรู ทำให้รู้ว่าเด็กน้อยสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โครงการที่เพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัวมาได้ไม่นาน หาคนสานต่อได้แล้วสินะ

ฉันแนะนำให้ชาช่าคุยกับพี่มาร์ทที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา เพื่อสานต่อโครงการของชมรมในการพาคนตาบอดไปเที่ยว หรือที่เด็ก ๆ นักศึกษาช่วยกันตั้งชื่อโครงการไว้อย่างน่ารัก น่าสนใจว่า โครงการ “ความรัก/ทำให้/คนตาบอด”

tripblind04
สถานีหมอชิต

บทเรียนในความมืด

หลังจากรับฟังคำอธิบายถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนตาบอด ได้ลองฝึกใช้ไม้เท้าและทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจและสามารถใช้ชีวิตในโลกมืดได้บ้าง เจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการก็ย้ำกอีกครั้งว่าเมื่อเข้าไปด้านในแล้ว ขอให้ฟังและทำตามที่เจ้าหน้าที่บอกเท่านั้น

ทุกคนยังคงยิ้มแย้ม สนุกสนานกับเรื่องตื่นเต้นที่รออยู่ตรงหน้า แต่เมื่อก้าวเท้าข้ามผ่านประตูนิทรรศการ เสียงหัวเราะกลับเงียบสนิท…เงียบจนความวังเวงเข้ามาเกาะกุมจิตใจ หลายคนยกมือขึ้นส่องดู เพียงเพื่อจะประจักษ์ชัดว่า “ความมืด” ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ฉันได้ยินเสียงใครบางคนพ่นลมหายใจแรงเพื่อขับไล่ความรู้สึกบางอย่างออกจากใจ…ความกลัว สินะ ที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้า

พวกเราเกาะเกี่ยวไหล่ของกันและกัน ก้าวเท้าอย่างระมัดระวังตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องรับแขกในบ้าน ชุมชน คาเฟ่ ตลาด เราลองข้ามสะพาน ขึ้นรถสามล้อ ซื้อของกินของใช้ ซึ่งแน่นอนว่า เราล้ม เราเดินผิดทางและทำพลาดมากมาย เราทำตัวไม่ถูก เรากังวล และ…เรากลัว

เวลา ชั่วโมงครึ่งที่นี่ทำให้เราเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น เรารู้ว่าการมีชีวิตในโลกมืดมิดเป็นอย่างไร และหากเราต้องตาบอดเราจะใช้ชีวิตอย่างไร…

เมื่อก้าวเท้าออกจากประตูสุดท้ายของนิทรรศการ ทัศนคติของเรากับคนตาบอด…เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เราสัมผัสความรู้สึกที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยตาแต่ว่าสัมผัสได้ด้วยใจ เราตระหนักว่า “ความสุข” เกิดขึ้นได้แม้มองไม่เห็น

tripblind05
tripblind06
tripblind07
เที่ยวเมืองโบราณ

สุขต่างวัย กับฝันที่ต้องใช้ “หัวใจ” สัมผัส

“เรานัดพี่ ๆ คนตาบอดไว้ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิตตอน ๘ โมงเช้านะคะ หนูตื่นเต้นมากค่ะ แล้วก็คิดไม่ออกเลยว่า พอได้เจอพี่เขาจริง ๆ เราจะทำได้เหมือนที่เราเคยซ้อมกันมาหรือเปล่า”

เสียงย้ำเตือนจากชาช่า เด็กน้อยผู้กลายมาเป็นประธานชมรมนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แทนพี่มาร์ทที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว แล่นเข้ามาย้ำเตือนพวกเราอีกครั้ง

เช้าวันนั้นพวกเรา อาจารย์และลูกศิษย์ มีนัดพาคนพิการทางสายตาไปเที่ยวชมเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ นี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรกของนักศึกษา แต่เป็นครั้งแรกของอาจารย์อย่างฉันด้วยที่ได้ออกเดินทางอย่างมีความสุขจากการได้ทำตามความฝัน เติมเต็มหนึ่งวัน ให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่เท่าเทียมกันของคนทุกคน

“คุณตะวัน ใช่มั้ยคะ แล้วคนอื่น ๆ มาถึงหรือยังคะ”

พวกเรามองคุณตะวันด้วยความงุนงงปนสงสัยใคร่รู้ คุณตะวันที่บ้านอยู่ไกลถึงรังสิตคลองสามมายืนรออยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิตเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่นับแว่นดำบนใบหน้าและไม้เท้าสีขาวในมือ เราแทบไม่รู้เลยว่าคุณตะวันมองไม่เห็นพวกเราจริง ๆ

“อาจารย์กับน้อง ๆ สงสัยใช่มั้ยครับ ว่าทำไมพวกเราคล่องกันมาก เราฝึกมาหมดแล้วครับ ทุกวันนี้เราก็ขึ้นรถโดยสารสาธารณะไปทำงานกันทุกวันครับ ขึ้นแท็กซี่ไม่ไหว มันเปลืองเงินมาก”

คุณตะวันเล่าพลางหัวเราะพลางเหมือนเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่พวกเราได้แต่มองหน้ากันไปมาด้วยความรู้สึกทึ่งอย่างบอกไม่ถูก

“ใช่ค่ะ” พวกเราตอบได้เพียงสั้น ๆ พร้อมกับอาการพยักหน้าที่ลืมไปว่าคนตาบอดมองไม่เห็น

สิ่งที่อยู่ตรงหน้าพวกเรา คือ คนตาบอดห้าคนที่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว เหมือนมองเห็นทุกอย่าง เขาเป็นคนตาบอดจริง ๆ หรือเปล่านะ หลายคนคิดเหมือนกัน แล้วคนตาบอดเขาทำแบบนี้ได้อย่างไรกัน

“เราไปขึ้นรถกันดีกว่าครับ ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันไปในรถก็ได้ครับ”

สิ้นเสียงคุณตะวันทำให้เรานึกได้ว่า วันนี้เราต้องเป็นคนพาคนตาบอดทั้งหมดไปเที่ยวนะ นี่พวกเรามัวแต่ตื่นเต้นจนลืมหน้าที่ที่ต้องทำไปเสียสนิทเลย

บรรยากาศในรถอบอวลด้วยความสดชื่น แจ่มใส ทั้งคนตาบอด คนตาดี หาวิธีจับคู่เพื่อดูแลกันไปตลอดทางได้อย่างลงตัว เสียงหัวเราะดังมาเป็นระยะ ๆ ใบหน้าของแต่ละคนเปื้อนด้วยรอยยิ้ม และแน่นอนว่ามันทำให้หัวใจคนเป็นอาจารย์อย่างฉันพองโต และมีความสุขอย่างบรรยายออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้เลยทีเดียว

หนึ่งวันเต็ม ๆ ที่เมืองโบราณ ทำให้ “เรา” ได้เรียนรู้มากมาย

ภาพคนตาบอดที่ใช้มือเกาะเกี่ยวข้อศอกของเราตลอดการเดินทาง การพูดคุยอย่างสนิทสนม การยืนฟังเราบรรยายอย่างตั้งใจ การขอร้องอย่างเกรงใจให้เราอ่านเมนูอาหารให้ฟัง การชักชวนกันไปซื้อขนมที่ไม่เคยซื้อมาก่อน การแอ็กชันถ่ายรูปร่วมกันในหลากหลายอิริยาบถ การอธิบายเพิ่มเติมให้เราเข้าใจว่าการดูแลคนตาบอดต้องทำอย่างไร และอื่น ๆ อีกมากมายที่เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเป็นที่น่าจดจำยิ่งนัก

นักท่องเที่ยวมากมายในเมืองโบราณล้วนมีสีหน้าประหลาดใจที่เห็นพวกเราพาคนตาบอดเที่ยว แทบทุกคนส่งรอยยิ้มให้กำลังใจ บางคนแอบยกนิ้วให้ และเดินมาทักทายพวกเรา

ฉันรู้ว่าเด็ก ๆ เหนื่อยมาก พวกเขาไม่เคยทำหน้าที่แบบนี้มาก่อน แต่จากความเก้กังในช่วงเช้า กำลังใจที่ได้รับตลอดทางทั้งจากคนตาบอดและคนรอบข้าง ส่งให้ทุกคนก้าวข้ามความเหนื่อยล้า ใบหน้ามีแต่รอยยิ้มสดใส แบบที่เจ้าตัวเองก็บอกว่า

“หนูไม่เคยคิดเลยว่า การได้ทำอะไรให้ใคร จะทำให้เรามีความสุขได้ขนาดนี้”

ความฝันของคนตาบอดที่อยากท่องเที่ยว ถูกเติมเต็มด้วยฝันของนักศึกษาที่อยากพาใครสักคนไปเที่ยว…

ความสุข ที่ยากจะหาคำนิยามได้บังเกิดงอกงามขึ้นในใจของ “คนต่างวัย” ที่วันนี้ได้ใช้ “หัวใจ” สัมผัสความสุขในเรื่องเดียวกันได้อย่างลงตัว

tripblind08

ความสุขที่สัมผัสได้แม้มองไม่เห็น

“ไม่น่าเชื่อเลยว่า น้อง ๆ จะเพิ่งเคยพาคนตาบอดเที่ยวเป็นครั้งแรก พวกเขาเป็นกันเอง เข้าใจ แล้วก็ใส่ใจเรามาก ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นเพื่อน เหมือนเป็นญาติเลยค่ะ”

ในช่วงสุดท้ายของการนำเที่ยว เหล่าคนตาบอดได้บอกเล่าความในใจ รวมถึงความรู้สึกต่าง ๆ ให้พวกเราได้ฟัง

ความฝันของคนตาบอดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่จะทำสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่มีคนมาช่วยเติมเต็ม

“คนทั่วไปชอบคิดว่าคนตาบอดเป็นภาระของคนอื่น ไม่ควรออกไปไหน แต่! เราก็เป็น “คนคนหนึ่ง” และคนทุกคนก็มีความฝันไม่ใช่หรือ

“การพาพวกเรามาเที่ยววันนี้อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ของทุกคน แต่สำหรับพวกเรามันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย การได้ไปเที่ยวมันช่วยเติมความฝัน ช่วยเติมกำลังใจในการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก ถึงเรามองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้ว่ายังมีคนที่เข้าใจเรา ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณน้อง ๆ พวกเรามีความสุขมากจริง ๆ”

บทสนทนาที่ถูกกลั่นออกมาจากหัวใจคนตาบอดถูกถ่ายทอดสู่คนตาดี และบางถ้อยวลีถึงกับทำให้คนตาดีมีน้ำตาที่ออกมาจากความสุขใจ…

แม้วันนี้ฉันจะยังตอบไม่ได้ว่าความสุขที่แท้ของคนแต่ละวัยควรเป็นเช่นไร

แต่ฉันเชื่อมั่นว่า ความสุขที่เกิดจากการ “ให้” ยิ่งใหญ่เสมอ

ไม่ว่าเราจะเป็นใคร แค่เพียงเริ่มที่จะ “ให้” เราก็สัมผัสความสุขได้ในทันที…

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.