ทีมบ้านดาวหาง
เรื่อง : ปวิรศา ดาวหาง
ภาพ : ธัญเนส ดาวหาง

สะแกกรังมนต์ขลังแห่งความสุข
วัดอุโปสถาราม

อุทัยเป็นเมืองวิไล
แม้ได้ไปหย่อนใจดังมีมนต์ขลัง

“เย็นนี้อยากไปขี่รถเล่นที่ไหน” แม่ถาม

“ริมน้ำค่ะ” หนูตอบ

“ทำไมถึงชอบไปริมน้ำจังนะ” แม่ถามแล้วยิ้ม

“ก็หนูชอบ”

แล้วหนูก็ได้ไปริมน้ำสมใจ โดยมีพ่อขี่รถมอเตอร์ไซค์พาหนูและแม่ไปยังสถานที่แห่งความสุขนี้

ขอแนะนำตัวเอง หนูชื่อเด็กหญิงปวิรศา ดาวหาง ชื่อเล่น เกรซไบร์ท อายุ ๘ ขวบ เป็นเด็กบ้านเรียน ที่ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในแบบของตนเอง โดยมีแม่เป็นผู้เขียนแผนการเรียนรู้และจัดการศึกษาให้

นอกจากแม่จะเป็นแม่แล้วก็ยังเป็นครู สอนหนูอ่าน เขียน เรียนรู้ บางเวลาก็เป็นเพื่อน คู่หูร่วมกิจกรรม ทำทุก ๆ อย่างมาด้วยกันตั้งแต่หนูเกิดมาเลย

ต่อไปคือเรื่องราวที่หนูให้แม่ช่วยเขียนเล่าผ่านมุมมองของหนู

sakakrang02
ริมน้ำสะแกกรัง
sakakrang03
ทำบุญตักบาตรทางน้ำยามเช้า

เมื่อเราเข้าสู่เส้นทางเลาะริมน้ำจากข้างบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัด หนูก็ได้เห็นคนมาออกกำลังกายหลายคน มีทั้งเดิน วิ่ง เล่นสเก็ตบอร์ด มีคนมาซ้อมพายซับบอร์ดด้วยนะ

พ่อขี่รถผ่านลานสุพรรณิการ์ หนูเห็นคนเต้นแอโรบิก อีกหลาย ๆ คนเล่นเครื่องออกกำลังกายที่เรียงรายหลายแบบ หนูคิดว่าพวกเขาคงชอบมาออกกำลังกายที่นี่เพราะอากาศดี ได้เห็นวิวริมน้ำ เรือนแพ ภูเขา และเมื่อหนูเจอคนรู้จักก็จะร้องทักทายไปว่า

“สวัสดีค่ะ”

“สวัสดีจ้า” “สวัสดีค่ะ” “สวัสดีครับ” พวกเขาตอบกลับมา

หนูเคยเรียกแพว่า “บ้านลอยน้ำ” แต่แม่บอกว่าเขาเรียกกันว่า “แพ” แล้วแม่ก็ยังบอกอีกว่า “ชุมชนชาวแพสะแกกรังตอนนี้เหลืออยู่ร้อยกว่าหลัง เป็นชุมชนชาวแพหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย ซึ่งดำรงชีวิตต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ได้นานกว่า ๑๐๐ ปี เลย” แล้วแม่ก็ยังพูดแบบขำ ๆ อีกว่า “ชาวแพน่าจะต้องเคยดำน้ำสามผุด เหมือนในเพลง ‘อุทัยวิไล’ แน่ ๆ”

แม่เคยเปิดเพลง “อุทัยวิไล” ให้ฟัง หนูคิดว่าก็เป็นเพลงที่ไพเราะดี เนื้อร้องมีอยู่ว่า

อุทัยเป็นเมืองวิไล
แม้ได้ไปหย่อนใจดังมีมนต์ขลัง
มีมณฑปอยู่บนเขาสะแกกรัง
เขาพญาพายเรือมีชื่อดัง
แถมยังมีถ้ำสวยงามนับพัน
เขาตะพาบนั้นช่างงามครัน
ปฐวีนั้นเกินจำนรรจ์
ดุจเทพเสกสรรแต่งเติมไว้ให้
ถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์
ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย
แม้ใครได้ดำน้ำสามผุด
คงไม่หลุดไปจากอุทัย

หนูสงสัยเลยถามแม่ว่า “ทำไมต้อง ‘ดำน้ำสามผุด คงไม่หลุดไปจากอุทัย’ ล่ะแม่”

แม่ตอบหนูว่า “นั่นสินะ แม่ก็สงสัยเหมือนกัน หรือเพราะมีมนต์ขลังเหมือนในเพลง”

วิถีชาวแพแห่งลุ่มน้ำสะแกกรังที่หนูเห็น เขาจะเลี้ยงปลาในกระชัง ปลูกผักบุ้ง ใบเตยในน้ำ บางทีก็เคยเจอเขาพายเรือมาหว่านแห ตกปลา และที่หนูสนใจมากที่สุดคือคนใช้ปืนยิงปลา เขาขึ้นไปบนเก้าอี้ในแพ แล้วยืนนิ่ง ๆ ไม่ขยับตัวเลย พ่อจอดรถเพื่อให้หนูได้ดูเขา เรารอกันอยู่สักพักแต่เขาก็ไม่ยิงสักที พ่อบอกว่าปลาคงยังไม่มา เราเลยไม่ได้รอดูต่อว่าเขาจะยิงปลาได้ไหม

แม่บอกว่าการเรียนรู้ชุมชนเป็นหนึ่งในหน่วยเรียนรู้ของเด็กชั้น ป. ๓ แบบหนูเลยนะ แต่นี่คือการเรียนรู้นอกตำรา เรามาเห็นวิถีแบบจริง ๆ กัน

sakakrang04
หลวงพ่อพุทธมงคงศักดิ์สิทธิ์
sakakrang05
บันได 449 ขั้นขึ้นเขาสะแกกรัง

พ่อพาเราแม่ลูกขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านพระตำหนัก ๙๐๕ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หนูเห็นแพสำหรับพักผ่อนของพระองค์ท่านอยู่ในแม่น้ำกลมกลืนไปกับแพของชาวสะแกกรังด้วย

เมื่อมาถึงทางออกจากเส้นทางริมน้ำตรงด้านข้างร้านมุมสะแก ก็มีสะพานข้ามจากฝั่งตลาดไปวัดโบสถ์ (วัดอุโปสถาราม) หนูเคยให้พ่อพาขี่รถข้ามสะพานไปวัดโบสถ์บ่อย ๆ นอกจากจะไปไหว้พระขอพรแล้ว หนูก็ชอบดูจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพวาดตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลย

ในโบสถ์จะมีภาพพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน ส่วนในวิหารเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ฝาผนังด้านบนเป็นภาพพระสาวกชุมนุม ส่วนทางฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าและภาพชีวิตชาวบ้าน

ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดตามเทศกาลต่าง ๆ หนูเห็นนักท่องเที่ยวมาที่วัดโบสถ์มากเลย บางทีหนูก็ได้เจอคุณลุงจเร ศรีสุก กำลังทำหน้าที่มัคคุเทศก์จิตอาสา อธิบายประวัติความเป็นมาของวัดให้นักท่องเที่ยวฟังด้วย

คุณลุงจเรมีร่างกายสูงใหญ่ ดูแข็งแรง ชอบปั่นจักรยานไปทั่วเมืองอุทัย แม่บอกว่าคุณลุงเป็นอดีตนายทหารเกษียณ คุณลุงใจดีและก็ชอบถ่ายรูปวิถีชีวิตกับความสุขอันเรียบง่ายของพวกเราชาวอุทัยธานีไปลงในเฟซบุ๊ก กลุ่มสาธารณะวิถีสะแกกรังในทุกวันด้วย

หนูคิดว่าการเป็นจิตอาสาของคุณลุงนี่ดีมาก ๆ นักท่องเที่ยว นักเรียน หรือนักศึกษาที่มาทัศนศึกษาก็ได้รับความรู้ ประทับใจในน้ำใจไมตรีจากเราชาวอุทัย ที่ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ ทำให้หนูก็อยากเป็นจิตอาสาแบบคุณลุงขึ้นมาเลย

sakakrang06
ระฆังใบใหญ่และมณฑปทรงไทยสิริมหามายากุฎาคารบนเขาสะแกกรัง

ริมน้ำสะแกกรังฝั่งตรงข้ามกับวัดอุโปสถารามเป็นตลาดโบราณที่มีชื่อเสียงมานาน ติดตลาดทั้งเช้าและเย็น ชาวบ้านจะตั้งแผงกันตั้งแต่เช้ามืด มีสินค้ามากมาย ทั้งพืชผักสวนครัว อาหาร ขนม ของสดต่างๆ มีปลาสดหลากหลาย โดยเฉพาะปลาแรดที่ขึ้นชื่อของจังหวัด มีวางจำหน่ายทั้งแบบสดและแบบทอด

ปลาแรดมีเนื้อแน่น รสชาติหวาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในแม่น้ำสะแกกรังทำให้ปลาแรดของอุทัยธานีมีรสชาติดีกว่าแหล่งอื่น ๆ ทำอะไรกินก็อร่อย แต่ที่หนูชอบคือปลาแรดทอด

ของดีอีกอย่างหนึ่งมีเฉพาะที่อุทัยฯ คือหน่อไม้จากเขาสะแกกรัง รสชาติอร่อย หวาน กรอบ ฤดูหน่อไม้จะมีขายเยอะเลย คุณยายทองแพว สมัครการค้า คนขายเล่าให้ฟังว่า หน่อไม้บางส่วนจะอัดขวดเอาไว้ขายช่วงฤดูแล้งด้วย

ที่นี่เป็นตลาดที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมมาจับจ่ายและซื้อหาของกินกันอย่างคึกคัก นอกจากจะได้ชมวิวแม่น้ำ ได้สัมผัสบรรยากาศตลาดแบบท้องถิ่นที่มีความเรียบง่าย พ่อค้าแม่ขายยังยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง แถมราคาสบายกระเป๋า

ใครอยากทำบุญใส่บาตรยามเช้าก็มีทั้งแบบบนบกและทางน้ำให้เลือก

หนูเคยทำบุญใส่บาตรที่ตลาดเช้าทั้งสองแบบ แบบบนบกจะมีพระสงฆ์จากหลาย ๆ วัดมาบิณฑบาต ส่วนแบบทางน้ำจะไปรอกันที่แพตรงกันข้ามกับวัดอุโปสถาราม แล้วเวลาประมาณ ๗ โมงเช้า หลวงปู่เจ้าอาวาสจะพายเรือข้ามฝั่งมาชิดแพ ให้เหล่าญาติโยมได้ทำบุญใส่บาตรและรับพร

นับเป็นอีกหนึ่งความสุขของหนูและของใครอีกหลาย ๆ คน เพราะอากาศริมน้ำยามเช้าเย็นสบาย ได้ชมพระอาทิตย์ เห็นเหล่าปลาแหวกว่าย เห็นนกบินมาหลายสายพันธุ์ ที่นี่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีชุมชนท่ามกลางธรรมชาติ ชวนให้ผู้คนติดใจมาเยือนมาก

sakakrang07
พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ

ความสุขของหนูกับสะแกกรังยังไม่จบ เพราะนอกจากแม่น้ำสะแกกรังแล้วอุทัยธานียังมีภูเขาด้วย ชื่อเดียวกันเลย นับเป็นดินแดนแห่งธรณีวิทยาที่น่าสนใจ “Land of Fascinating Geology” ที่หนูภูมิใจขอนำเสนอ

เขาสะแกกรังอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นเทือกเขาหินวางตัวในทิศทางเหนือไปใต้ ยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑๒๐ เมตร สูงประมาณ ๑๘๐ เมตร สันเขาหลังเรียบคล้ายรูปสันมีดอีโต้ ลักษณะธรณีวิทยาเป็นเขาหินดินดาน แทรกสลับด้วยหินทรายเนื้อละเอียด สีน้ำตาลแดง แสดงเป็นชั้นหนาประมาณ ๑๐-๑๒ เซนติเมตร และมีหินเชิร์ตแทรกเป็นรูปเลนส์ มีการวางตัวของชั้นหินในแนว ๒๓๖ องศา เอียงเท ๖๐ องศา รอยแยกมีสองระนาบคือแนว ๒๒ องศา เอียงเท ๓๐ องศา และแนว ๑๑๔ องศา เอียงเท ๔๕ องศา เป็นหินดินดานของหินชุดราชบุรี ยุคคาร์บอนิเฟอร์รัส (อายุประมาณ ๓๖๐-๒๘๕ ล้านปี)

ข้อมูลมาแบบนักธรณีวิทยาเลยใช่ไหม นั่นเป็นเพราะว่าหนูเคยส่งเขาสะแกกรังเข้าร่วมกิจกรรมกับทางกรมทรัพยากรธรณี หนูและแม่เลยต้องค้นหาข้อมูลให้ถูกต้อง ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

บนยอดเขาสะแกกรังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๔๓ มีทั้งพื้นที่ราบและส่วนที่อยู่บนยอดเขา ส่วนพื้นที่ราบเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของอุทัยธานีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ชาวเมืองต่างให้ความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

บ้านหนูไปกราบไหว้และขอพรจากหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์เป็นประจำเลย เป็นความสุขสงบทางใจ

เขาสะแกกรังขึ้นได้สองทาง คือจากลานวัดจะมีบันได ๔๔๙ ขั้นตัดตรงสู่ยอดเขา บันไดนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ แพร่ระบาดมีประกาศยกเลิกการจัดงาน

ประเพณีนี้จำลองเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เปรียบให้เป็นเมืองกัสนคร สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชื่อวัดสังกัสรัตนคีรีก็มีที่มาจากเหตุการณ์นี้

มีคนบอกต่อ ๆ กันมาว่าถ้าเดินขึ้นเขาสะแกกรังด้วยจิตมีสมาธิและศรัทธา จะทำให้สมปรารถนาในสิ่งที่มุ่งหวังด้วย

หนูเองก็เคยเดินขึ้นมาแล้วเช่นกัน แม่เกือบเป็นลมเลย ส่วนพ่อปวดขาไป ๒-๓ วัน แต่หนูไม่มีอาการอะไร แม่เลยบอกว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับคนมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง

ใครไม่อยากเดินขึ้นยอดเขาก็ใช้ทางรถมาจากด้านข้างสนามกีฬาจังหวัดได้

จากบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองอุทัยธานีได้อย่างกว้างไกล มีจุดนั่งพักผ่อนชมวิวหลายจุด และมีศาสนสถานหลายแห่ง มีพระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธรูปเก่าแก่ และพระบรมสารีริกธาตุ ศาลเจ้าจีน

นอกจากนี้ยังมีมณฑปทรงไทยสวยงามนามว่าสิริมหามายากุฎาคาร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อปี ๒๔๔๘ ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อปี ๒๔๔๓ ถือกันว่าเป็น ระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครมาแล้วต้องตีเพื่อความเป็นสิริมงคล

พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริง ก็ประดิษฐานบนยอดเขาสะแกกรังนี้ด้วย

ยังมีห้องนิทรรศการเมืองอุทัยธานี ที่จะทำให้ได้รับความรู้ ได้รู้จักเมืองอุทัยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และถ้าใครเป็นสายผจญภัยอยากจะไปเดินดูหมุดโลก หมุดที่ ๒ ของเอเชีย ก็เชิญเดินเข้าไปดูได้ อยู่บนยอดเขาสะแกกรังนี้ด้วย

สำหรับหนู “สะแกกรัง” จึงเป็นดังมนต์ขลังแห่งความสุข ที่หนู แม่ และพ่อมีความผูกพัน เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่บ้านเราเคารพรัก และหนูคิดว่าชาวอุทัยธานีหลาย ๆ คนก็คงจะมีความรู้สึกนี้เช่นเดียวกัน

ทั้งแม่น้ำ ภูเขา มอบธรรมชาติให้เรารู้สึกสัมผัสได้ถึงความสุข ความสงบ เป็นที่พักผ่อนกาย ใจ ให้ความรู้สึกของคำว่า “บ้านเกิด เมืองนอน”

หนูดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้เกิดมาเป็นลูกหลานสะแกกรัง เป็นเด็กอุทัยธานีที่มีโอกาสเรียนรู้อย่างมีความสุขในวิถีบ้าน วิถีชุมชน ตามบริบทของครอบครัว มีแม่และพ่อคอยอยู่เคียงข้างหนู พร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน และหนูอยากให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.