เรื่องและภาพ สุชาดา ลิมป์
ราวสิบปีก่อน ภูเก็ตเป็นที่จับตาในฐานะเมืองเก่าที่พยายามฟื้นคืนชีพ
แต่ก็ไม่ง่าย ชาวชุมชนรุ่นเก่า-ใหม่ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก เมื่อนักท่องเที่ยวทั่วโลกหลั่งไหลมาสัมผัสวิถีวัฒนธรรมของลูกหลานเศรษฐีชาวเหมืองแร่ แห่แหนเข้าถึงสถาปัตยกรรมสไตล์ “ชิโน-ยูโรเปียน” ท่ามกลางที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุซึ่งได้รับผลกระทบจากการไม่เคารพสถานที่
ปี ๒๕๖๑ ลูกหลานชุมชนจึงเห็นว่าต้องคืนความสุขให้คนท้องถิ่นบ้าง!
แล้วก็รวมตัวกันร่าง “กฎระเบียบชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ขึ้นใช้ทันที
เรื่องต่อจากนี้คือผลตรวจชีพจรของเมืองและเสียงหัวใจของชาวชุมชน
:: ดีบุกโรยรา–ท่องเที่ยวรุ่งเรือง ::
“สถาปัตยกรรมอาคารชิโน-ยูโรเปียนล้วนคือสมบัติที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุกของบรรพบุรุษ กระทั่งราวปี ๒๕๒๐ ราคาแร่ดีบุกตกต่ำทั่วโลก ธุรกิจเหมืองแร่จึงต้องยุติในที่สุด”
ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ย้อนภาพอดีต
พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าที่พระนครศรีอยุธยา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และมะริด หนึ่งในสินค้าสำคัญคือแร่ดีบุกจากภูเก็ต (ถลาง) ซึ่งเวลานั้นขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช หลังโปรตุเกสเสื่อมอำนาจ ฮอลันดาก็มาทำการค้าตั้งสถานีเก็บสินค้าที่เกาะภูเก็ตเพื่อรับซื้อแร่ดีบุก ปี ๒๒๒๘ ฝรั่งเศสเข้ามาและขอผูกขาดแร่ดีบุกที่ภูเก็ต ความต้องการมีต่อเนื่องจนปี ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิพิทยา สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อควบคุมกิจการแร่และโลหะธาตุ คนทั่วไปเรียก “กรมแร่” แล้วปี ๒๔๔๑ ก็ตั้งกองโลหกิจที่มณฑลภูเก็ตขึ้นแห่งแรก
ปี ๒๕๐๖ นักลงทุนชาวอเมริกันเข้ามาภูเก็ตตั้งบริษัทเพื่อถลุง-ผลิตดีบุกแท่งส่งขายลอนดอน คนไทยรู้จักในชื่อ “ไทยซาร์โก้” การค้าเติบโตต่อเนื่อง ชาวเหมืองนำขี้ตะกรันดีบุกที่คิดว่าไร้ค่าไปถมถนน ถมที่ปลูกสร้างบ้านเรือน บ้านหลังใหญ่ๆ และถนนแทบทุกสายในภูเก็ตจึงล้วนสร้างทับขี้ตะกรันดีบุก กว่าชาวเหมืองจะรู้ว่าขี้ตะกรันเป็นของมีราคาก็ถูกไทยซาร์โก้กดราคาไปมหาศาล ปี ๒๕๒๔ ราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ ที่ขุดพบในภูเก็ตก็ลดปริมาณจนอุตสาหกรรมชะลอ รัฐจึงให้บริษัทหนึ่งสร้างโรงงานถลุงแทนทาลัม และเตรียมเปิดดำเนินการปี ๒๕๒๙ ท่ามกลางเสียงค้านจากท้องถิ่นที่กังวลเรื่องผลประโยชน์ของนายทุนต่างชาติซึ่งละเลยเรื่องมลพิษต่อชาวชุมชนและสิ่งแวดล้อมของภูเก็ต ความขัดแย้งบานปลายสู่การเผาโรงงานแทนทาลัมก่อนเปิดดำเนินการ แต่นั้นธุรกิจเหมืองในภูเก็ตก็ถึงกาลอวสาน
“ยังโชคดีที่มีการท่องเที่ยวทางธรรมชาติมาแทนที่ ซึ่งภูเก็ตมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้เหมืองแร่ คนทำธุรกิจจึงพากันโยกย้ายไปอยู่ตามเกาะแก่งชายหาด ที่มีลูกหลานก็ส่งไปเรียนในเมืองใหญ่ พอเรียนจบก็มีการงานที่ดีในสังคมอื่นจึงไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นครอบครัวใหญ่ที่ภูเก็ตอีก”
ชุมชนเมืองเก่าจึงเริ่มโรยรา สวนทางกับชุมชนชายทะเลที่มีชีวิตชีวาด้วยผู้คน
:: ถึงเวลาอวดอาคาร อาหาร อาภรณ์::
หากไม่ทำอะไรสักอย่าง วันหนึ่งชุมชนเก่าอาจหายจากแผนที่จังหวัด
ปี ๒๕๕๒ ทางเทศบาลนครภูเก็ตจึงเริ่มจัดระเบียบสาธารณูปโภค บำรุงถนน เก็บสายไฟฟ้าลงดิน ปัดฝุ่นทัศนียภาพรอบเมืองเก่าที่มีสถาปัตยกรรมจีนผสมตะวันตก ภูเก็ตผสานปีนัง
“ส่วนในบ้านต้องอาศัยความร่วมใจของชุมชน แต่เราเป็นชุมชนเขตเทศบาล ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงต้องรวมตัวเพื่อหาตัวแทนประสานกับหน่วยงานรัฐ ผมเป็นประธานชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตรุ่นที่ ๒ สานต่อภารกิจฟื้นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ให้เมืองเก่าเป็นที่รู้จักอีกครั้ง”
ปี ๒๕๕๖ ดอน-ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จึงเริ่มผลักดัน “ถนนคนเดินภูเก็ต”
แต่ไม่ง่ายอย่างใจคิด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้ชุมชนเงียบสงบจนชินกลับอึกทึก
“ในสังคมประชาธิปไตยอาจให้ความสำคัญเสียงข้างมาก แต่ที่นี่เสียงข้างน้อยก็สำคัญ ต้องหันหน้าคุยกับผู้เห็นต่าง หาทางออกให้ดีที่สุด เพราะหากวันหนึ่งสูญเสียการท่องเที่ยวไป ชุมชนก็จะยังอยู่ได้”
เริ่มจากเข้าใจภูมิสังคมในอดีต ผู้คนที่นี่อยู่ในฐานะคนเมืองผู้มั่งคั่ง ดังนั้นหากจะขอความร่วมมือพัฒนาเมืองเก่าโดยอ้างการกระตุ้นเศรษฐกิจคงไม่ตอบโจทย์
“ผมจึงใช้วิธีอธิบายว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือส่งต่อมรดกให้ลูกหลานเห็นคุณค่าของบ้านที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ ยังเป็นการจูงใจลูกหลานให้กลับสู่ครอบครัวเพื่อร่วมกันส่งต่อเรื่องราวของตระกูล”
ต่อมาก็ตั้งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตเพื่อผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ปรับปรุงบ้านเรือนให้มีทิศทางเดียวกัน สีสันไม่ฉูดฉาด ร่วมมือกันเปิด “หง่อคาขี่” (ช่องทางเดินใต้อาคาร) อำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรทางเท้า บ้านย่านการค้าที่เคยซบเซาจึงทยอยคืนความคึกคัก ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาจากนักลงทุนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสร่องรอยชุมชนชาวเหมืองอายุกว่าร้อยปีในบรรยากาศชุมชนคนจีน ท่ามกลางที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุซึ่งได้รับผลกระทบจากผู้ไม่เคารพสถานที่
“มีภาพยนตร์ ละคร อีเว้นท์ ถ่ายพรีเวดดิ้ง เข้ามาใช้พื้นที่ชุมชนจนเกิดความวุ่นวาย บางทีตีสองยังมีคนถ่ายรูปส่งเสียงรบกวน รวมไปถึงเรื่องความสะอาดต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไม่บำบัดน้ำเสีย ใช้ขยะย่อยสลายยาก มีการลักขโมย ใช้ยาเสพติด ปี ๒๕๖๑ เราจึงร่าง ‘กฎระเบียบชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ กำหนดกติกาใช้ประโยชน์ให้ส่งผลดีต่อผู้อยู่อาศัยด้วย เช่น ถนนคนเดินต้องสิ้นสุดกิจกรรมตอนสี่ทุ่ม ไฟถนนจะดับตามเวลา ห้าทุ่มต้องคืนสภาพ หลังเที่ยงคืนจะได้คืนความปลอดภัยและสุขอนามัยแก่ชุมชน”
กฎระเบียบที่ว่ายังคุ้มครองขนบประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาเก่าแก่ของชุมชน
“สำหรับภูเก็ตแล้วทรัพยากรธรรมชาติคือต้นทุนด้านการท่องเที่ยว แต่สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมย่านเมืองเก่า และวิถีชีวิตแบบเฉพาะของชาวภูเก็ต รวมถึงปราชญ์ชุมชน จะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม”
สมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต สะท้อนต้นทุนท้องถิ่น
“นอกจากอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปี้ยน เมื่อปี ๒๕๕๘ ภูเก็ตยังได้รับประกาศจากยูเนสโกให้เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร’ ซึ่งเป็นเมืองแรกของอาเซียนและเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองทั่วโลก”
เพราะยูเนสโกเห็นว่าอาหารของชาวภูเก็ตหล่อหลอมจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งชาวบาบ๋า-เพอรานากัน มุสลิม ฮินดู คริสต์ บนพื้นฐานของความเป็นชาวไทยทั้งมวล อาหารหลายอย่างไม่เพียงมีอัตลักษณ์ หากินที่อื่นยากเพราะใช้วัตถุดิบที่มีเฉพาะพื้นที่ บ้างเป็นสูตรลับที่ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว หลายอย่างยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในเทศกาล พิธีการ ความเชื่อ และใช้ต้อนรับแขกเหรื่อเสมอ
อย่างขนม “อังกู๊” คำจีนฮกเกี้ยนหมายถึง “เต่าแดง” ก่อนที่ปัจจุบันจะดัดแปลงไปหลายสี แต่เดิมนิยมใช้แม่พิมพ์เหล็กรูปเต่า-สัตว์ที่มีนัยถึงอายุมั่นขวัญยืน จึงใช้รับขวัญเด็กเกิดใหม่ อวยพรคู่บ่าวสาว หรือบูชาเทพเจ้าในเทศกาลสำคัญ และใช้สีแดง-สีมงคลผสมอาหารเพื่อให้สอดรับกับพิธีที่นำมาซึ่งความเจริญ ขนาดของอังกู๊ใหญ่พอให้แบ่งกินใน ๒-๓ คำ รสหวานมันของไส้สีทองทำจากถั่วเขียวผ่านการต้มสุก กวนกับน้ำตาลจนแห้งแล้วนำมาห่อแป้งข้าวเหนียวที่ผ่านการนวดกับน้ำ น้ำมันพืช และน้ำตาลจนเข้ากันก่อนนำไปกดลงแม่พิมพ์แล้วนำไปนึ่ง ถือเป็นขนมที่หากมาเยือนบ้านเก่าแก่ในช่วงในโอกาสพิเศษที่มีการจัดโต๊ะบูชาเทพเจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษจึงได้สัมผัส-ชิมรสสิริมงคลที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมครอบครัว
“เวลานี้นักท่องเที่ยวสนใจอาหารพื้นถิ่นย่านสตรีทฟู้ดอยู่แล้ว แต่เราเห็นว่ายังขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ จึงวางแผนว่าจะนำ QR Code มาให้ความรู้โภชนาการ เช่น อาหารนั้นมีประโยชน์อย่างไร ให้พลังงานเท่าไร มีข้อระวังอะไรสำหรับผู้มีโรคประจำตัว เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารยิ่งเด่นชัด เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวอยากมาชิมอาหาร และยกระดับการท่องเที่ยวให้ประเทศด้วย”
สมยศเปรยแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
“เรายังมีอัตลักษณ์ด้านการแต่งกายอย่างชุด ‘บ้าบ๋า-ย่าหยา’ ของลูกครึ่งที่เกิดจากสาวภูเก็ตกับหนุ่มฮกเกี้ยน เวลาเข้าออกตามบ้านโบราณจะยังได้เห็นรูปบรรพบุรุษสวมชุดนี้ ปัจจุบันก็สวมในวันสำคัญ”
“เราจึงนำวัฒนธรรมทั้งอาคาร อาหาร อาภรณ์ มาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกันเพื่อแสดงถึงความหลากหลายที่ผสมผสานกันจนงดงาม วิถีเหล่านี้หล่อหลอมมาหลายชั่วอายุคนจนเป็นรากฐานให้คนรุ่นหลังพัฒนาต่อยอดเป็นรายได้ แต่พอเมืองเก่าภูเก็ตเริ่มเป็นเมืองเศรษฐกิจอีกครั้งก็กลับมีคนนอกพยายามเข้ามาจัดการเรา มีการใช้มัคคุเทศน์ต่างถิ่นนำนักท่องเที่ยวมาอธิบายเรื่องราว ทั้งที่ควรเป็นคนชุมชนทำหน้าที่เล่ารากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวด้วย”
คือทัศนะของสมยศ-ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
สอดคล้องกับดอน-ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตแง่ที่หวังให้การท่องเที่ยวก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในชุมชนและไม่ทำร้ายคนพื้นที่
“ที่จะพัฒนาต่อคือเรียกร้องการคุ้มครอง ไม่ให้นโยบายที่ชาวบ้านคิดถูกนำไปชุบมือเปิบ เราอยากจัดการบ้านด้วยตนเอง ไม่ให้คนนอกเข้ามาจัดการ เพราะเราเป็นคนพื้นที่น่าจะรู้เรื่องของเราดีกว่าคนอื่น”
และนั่นกำลังนำไปสู่การจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” ฉบับแรกของภูเก็ต
:: ไปด้วยกัน–ไปได้ไกล::
ทำท่องเที่ยวเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องไปกันทั้งภาครัฐ ประชาชน ภาคีเครือข่าย
“สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมกับพลเมืองภูเก็ต
“เราทำประเด็นขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้สูงอายุ และเรื่องสุขภาพในแต่ละพื้นที่ของชุมชน เมื่อได้เห็นกติกาที่ชาวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตกำหนดซึ่งสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพ จึงอยากนำสมัชชาสุขภาพเข้ามาช่วยขยายโอกาสความสามารถให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีบทบาท”
เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสนใจ “ธรรมนูญชุมชน” ฉบับแรกของภูเก็ต
“การที่ชาวชุมชนเมืองเก่าใช้ธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะ หรือธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันผลักดันมันจะช่วยยกระดับมาตรการให้เกิดขึ้นได้จริง และจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพื้นที่อื่นด้วย”
เป็นความเห็นที่สอดรับกับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
“สิ่งสำคัญของการสร้างประเทศคือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนซึ่งมันมีความหลากหลาย ไม่อาจใช้กฎหมายระดับชาติบังคับกับทุกชุมชน หน้าที่ของรัฐต้องพัฒนาคนในแต่ละชุมชนให้เข้มแข็ง มีศักยภาพในการกำหนดรูปแบบดำเนินชีวิตตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น ให้ชาวบ้านได้สร้างธรรมนูญชุมชนขึ้นใช้ในแบบของตน สำหรับที่นี่ผมคิดว่าสิ่งน่าสนใจคือวิธีบูรณาการด้วยความหลากหลายที่ชาวชุมชนให้ความสำคัญกับสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพของผู้คน ซึ่งเป็นกลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยแท้ ทำให้ผมค่อนข้างแน่ใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในแบบของเมืองเก่าภูเก็ตจะทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”
หมอประทีปยังเห็นว่าในอนาคตบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นจะสำคัญมาก
“วันหนึ่งกฏกติกาต่างๆ ที่ชุมชนร่วมกันเขียนเพื่อกำหนดทิศทางเมืองในแบบที่ตนต้องการอาจเป็นมาตรการหลักแทนที่มาตรการรัฐจากส่วนกลางที่จะลดบทบาทเหลือเพียงการหนุนเสริม เป็นเรื่องน่าภูมิใจมาก และผมก็หวังให้กระบวนการต้นแบบจากที่นี่ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้ขยายผลต่อๆ ไปยังชุมชนอื่นทั่วประเทศ นั่นจึงจะเป็นการเติมเต็มนโยบายระดับชาติอีกที ประเทศจะเดินหน้าจำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งสองทาง ซึ่งขณะที่รอผลสำเร็จระดับชาติ มันก็ย่อมปรากฏผลอยู่แล้วในท้องถิ่น”
ปี ๒๕๖๕ ภูเก็ตเป็นที่จับตาอีกครั้งในฐานะเมืองเก่าที่ขอกำหนดชีพจรตนเอง
หมายเหตุ
ต่อยอดวงเสวนา “เขียนกติกาเมืองเก่า : ความผาสุกที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ ณ ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต