เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด

อาคารนิทรรศการขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นในทะเลทรายบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ เพื่อรองรับผู้คน 35,000 คนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่มาร่วมงาน COP27

งานประชุมที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์ ครั้งนี้แทบไม่ต่างจากโลกเสมือนของสถานการณ์โลกรวนที่เราเผชิญอยู่

ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มขาดแคลน อาหารไม่เพียงพอต่อผู้เข้าร่วมประชุม แถมยังมีราคาแพงกว่าทั่วไปถึง 3 เท่า (ต่อมาราคาอาหารลดลง 50% หลังจากที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก)

ขยะที่เกิดขึ้นในงานไม่ได้รับการคัดแยก การโดยสารโดยรถบัสเบียดเสียดและไร้การจัดการ

“It could be better. มันดีกว่านี้ได้” เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมงานประชุมเมื่อเราสบตากัน

  • cop27 01 1
  • cop27 02 1

COP27 เวลาแห่งการลงมือทำ

COP ย่อมาจาก Conference of Parties ที่มีสมาชิก 195 ประเทศ การประชุม COP จริงๆ แล้วมี 2 งานด้วยกัน คือ COP ที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ COP ที่เน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจัดแยกจากกันในทุกปี แต่เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก

COP27 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 นี้ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศสมาชิกมีเป้าหมายร่วมกัน คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ถ้าอุณหภูมิสูงไปกว่าตัวเลขนี้ สภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศจะเลวร้ายกว่าเดิม จนเกินจุดที่จะฟื้นฟูกลับมาได้นั้น แปลว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เราก็จะ “จบเห่” กันหมด

การประชุม COP26 ก่อนหน้านี้ที่เมืองกลาสโกล สหราชอาณาจักร ผู้นำนานาประเทศต่างประกาศเป้าหมายของประเทศตัวเองว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (net zero) ให้ได้ภายในปีไหน

รวมถึงเสนอมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ที่ดำเนินการได้จริง และแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบ (Adaptation) ที่จะเกิดขึ้นด้วย

สำหรับปีนี้เรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญคือ การสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพราะประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้ปล่อยมลพิษปริมาณมหาศาล

แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกรวนเป็นอันดับแรก กลับเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา

ยิ่งในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดรุนแรงและถี่ขึ้นอย่างชัดเจน จนไม่สามารถปฏิเสธได้ ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า คลื่นความร้อน ไต้ฝุ่น ความแห้งแล้งที่ขยายตัว จึงมีการเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจ่ายเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมเหล่านี้

“งบกว่า 80% ของประเทศเราต้องใช้ไปกับการบรรเทาสาธารณภัย สร้างบ้านใหม่ ช่วยเหลือผู้คนของเราที่เจ็บปวด บำรุงและสร้างแนวกันคลื่นในแต่ละปี นี่หมายความว่าเราต้องดึงงบมาจากการศึกษา สาธารณสุข หรือการพัฒนาด้านต่างๆ เราต้องการเงินมาช่วยเหลื อไม่ใช่แค่ผลกระทบระยะสั้น แต่ผลกระทบระยะยาวด้วย ปะการังกำลังฟอกขาว ประเทศเล็กๆ ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเราได้รับผลกระทบโดยตรง ปลาในแนวปะการังน้อยลง และผู้คนของเรากำลังไม่มีกิน”

รัฐมนตรีชอว์น เอ็ดเวิร์ด (Shawn Edward) จากประเทศ Saint Lucia พูดถึงผลกระทบที่กลุ่มประเทศหมู่เกาะแคริเบียนกำลังเผชิญอยู่

COP27 ตัวแทนโลกในภาวะวิกฤตเมื่ออนาคตของเราขึ้นอยู่กับ “การเมือง”
  • cop27 04 1
  • cop27 05 1

การเจรจาและการซื้อเวลา

ในเวทีประชุมใหญ่ซึ่งมีการตกลงและเสนอความเห็นของแต่ละประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นด้วยในภาพรวม แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องคุยอีกมาก

จากนั้นจะพัฒนาเป็นร่างเอกสาร ผ่านการทบทวนกันในแต่ละย่อหน้า แต่ละตัวอักษร

ตัวแทนบางประเทศต้องรายงานกลับไปเพื่อตัดสินในบางประเด็นด้วย การประชุมจึงกินเวลาเกือบ 2 สัปดาห์

ส่วนภายนอกห้องประชุม มีนิทรรศการมากมายกว่า 100 บูธที่แต่ละประเทศมาอวดศักยภาพและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งยังมีงานเสวนาย่อย ๆ ในบูธตามแต่ละประเด็นที่หน่วยงานมุ่งเน้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของเยาวชน ความมั่นคงทางอาหาร หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ที่สำคัญในทุก ๆ วันยังมีการประท้วงจากกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกรวน และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในจุดที่คนเล็กๆ อย่างพวกเขาสามารถทำได้

“ฉันทำงานกับชาวบ้าน ชาวประมง เกษตรกร ฉันรู้ว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากสภาพวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างไร พวกเขากำลังถูกผลักให้จนลง และจนลง จากปัญหานี้ ชาวบ้านแทบไม่เหลืออะไรเลย หลังจากภัยพิบัติ พวกเขาสูญเสียบ้าน เสียผลผลิต เสียปศุสัตว์ เสียเรือประมง เรารู้ว่าประเทศร่ำรวยเป็นคนก่อมลภาวะ เป็นต้นเหตุของปัญหา แต่พวกเขาช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก”

“ฉันต้องการให้ COP27 นี้หาทางช่วยเหลือประเทศยากจนให้ได้รับเงินสนับสนุนที่เพียงพอ แต่เราก็ยังไม่เห็นประเทศร่ำรวยตกลงกันได้สักที เขามักจะบอกว่าต้องการข้อมูลมากกว่านี้ เดี๋ยวปีหน้าค่อยตัดสินใจ เดี๋ยวต้องทำแผนแม่บทก่อน ต้องมีวิธีการก่อน แต่เราบอกว่าไม่! พวกคุณต้องตัดสินใจเดี๋ยวนี้ และเรามาพัฒนารายละเอียดกันทีหลัง

“ฉันรู้ว่าพวกเขาเล่นแง่โดยการซื้อเวลา พอมีคนกดดันก็มาประชุมกัน บลา บลา บลา แต่สุดท้ายก็ไม่มีผลลัพธ์ เรามาตรงนี้เพื่อบอกว่าคุณหลอกเราไม่ได้อีกแล้ว พวกเราต้องการการตัดสินใจ”

เทเรซา แอนเดอร์สัน ตัวแทนจาก ActionAID องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมระหว่างประเทศที่ดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนบอกกับเรา ถึงสิ่งที่เธอและเพื่อนๆ มาเรียกร้องในวันนี้

“Pay up, Pay up, Pay up for Loss and Damage
Pay up, Pay up, Pay up for Loss and Damage
Pay up, Pay up, Pay up for Loss and Damage”

คือเสียงของผู้คนที่ก้องดังหน้าที่ประชุมแห่งนี้ เสียงที่อยู่เบื้องหลังบทสนทนาของเรา และเป็นเสียงที่หวังว่าจะมีคนได้ยิน

  • cop27 10 1
  • cop27 09 1
  • cop27 11 1
  • cop27 08 1
  • cop27 07 1
  • cop27 06 1

ผู้นำของความหวัง

“การประชุมครั้งนี้เหมือนจะล่าช้ากว่าครั้งก่อนๆ เพราะว่าผ่านมาครึ่งทางแล้วยังไม่มีร่างข้อตกลงออกมาเลย”

นักเจรจาประเทศจอร์เจียบอกกับฉันในต้นสัปดาห์ที่สองระหว่างที่เรานั่งรถยังไปที่ประชุม

“ฉันคิดว่ากลไกเรื่องการสูญเสียและความเสียหายน่าจะชัดเจนและเริ่มใช้ COP หน้า”

“ประเทศที่ร่ำรวยก็คงจะได้ซื้อเวลาต่อไปอีกไป” ฉันคิดเช่นนั้น

ในวันต่อมาก็มีข่าวให้พอใจชื้น เพราะ 8 ประเทศในยุโรปเดินหน้าสนับสนุนเงินให้กับประเทศที่ได้รับกระทบ โดยให้เหตุผลว่าประเทศเหล่านี้ควรได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

ทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมัน ไอร์แลนด์ สโลวีเนีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และแคว้นวอลลูนในประเทศเบลเยียม ร่วมกันลงเงิน 105.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน “กองทุนเพื่อประเทศที่ยังไม่พัฒนา” (The Least Developed Countries Fund, LDCF) และ “กองทุนพิเศษสำหรับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Special Climate Change Fund, SCCF) ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ โดยหวังว่าการเริ่มต้นนี้จะจุดประกายให้กับอีกหลายประเทศลงเงินในบรรเทาผลกระทบจากโลกรวนมากขึ้น

“ยอดเงินในกองทุนตอนนี้ มันพอๆ กับกำไรจากธุรกิจอาหารสุนัขทั่วโลกเท่านั้น” ตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่งให้ความเห็น

………………

cop27 12 1

“เราจะยังมีความหวังอยู่ไหม?” เป็นคำถามที่ค้างคาใจและวนเวียนอยู่ในหัวของฉันตลอดสองสัปดาห์ และฉันไม่ลืมที่จะถามเทรซาด้วย

“แน่นอนฉันมีความหวัง แม้ว่าทางออกของเราเหลือไม่มาก แต่ฉันเห็นผู้คนตื่นตัวมากขึ้น พวกเขามารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการลงมือทำ ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่เราเห็นรัฐบาลถูกกดดันอย่างนี้

“เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลเป็นงานใหญ่ แต่พลังของผู้คนยิ่งใหญ่กว่า และฉันยังเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

แม้ช่วง 2-3 วันแรกของงานประชุมจะทำให้ฉันรู้สึกหงุดหงิดและสิ้นหวัง

แต่จนถึงวันนี้ พลังของผู้คนที่ยังมีความเชื่อ พลังของผู้คนที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง พลังของเยาวชนที่มีความฝัน ได้ส่งต่อให้กันแม้สถานการณ์ตรงหน้าจะเลวร้ายแค่ไหน