เรื่องและภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์

Fort Canning Park มากกว่า “จุดเช็คอิน” และ “อุโมงค์ต้นไม้”

ตั้งแต่กลางปี 2022 เมื่อนานาประเทศเริ่มทยอยเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตของ “การท่องเที่ยวแบบล้างแค้น” (revenge travel) หลังโควิดบังคับให้อยู่บ้านมา 2 ปี คือ “สิงคโปร์”

ว่ากันว่าหลังสิงคโปร์เปิดประเทศ เที่ยวบินกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ที่นั่งแทบเต็มทุกเที่ยว สถานที่หลายแห่งในสิงคโปร์ถูก Influencer นำมารีวิวใหม่

นอกเหนือจากมารีน่า เบย์, เมอร์ไลอ้อน อีกหนึ่งจุดเช็คอินใหม่ คือ “อุโมงค์ต้นไม้” บริเวณ Fort Canning Park Tree Tunnel ที่เว็บไซต์หนึ่งแนะนำว่าต้องไปแต่เช้า เพราะถ้าไปสายต้อง “ต่อคิวยาว” ราว 50 นาทีขึ้นไป

ในสถานที่จริงก็ดูเหมือนจะเป็นไปตามนั้น เพราะอุโมงค์ที่ว่านี้อยู่บริเวณทางขึ้น Fort Canning Park โดยเป็นอุโมงที่ลอดใต้ถนน Fort Caning Road ที่เชื่อมเข้ามายังสวนฝั่งทิศเหนือซึ่งปรกติเป็นเส้นทางสัญจรของชาวสิงคโปร์ที่มาออกกำลังกายและผ่านไปมาระหว่างสองฝั่งถนนสายนี้ เพื่อเชื่อมไปยังสถานี MRT Dohby Ghaut

จากการสังเกต นักท่องเที่ยวส่วนมากที่ถ่ายภาพตรงจุดนี้เสร็จจะย้ายไปยังจุดท่องเที่ยวอื่นทันที จนน่าเสียดายว่า เพียงแค่เดินขึ้นไปอีกราว 600 เมตร ที่บนเนิน มีนิทรรศการประวัติศาสตร์ของป้อมโบราณและการกำเนิดของสวนสาธารณะแห่งนี้ จัดแสดงเอาไว้อย่างน่าชม

นอกจาก “อุโมงค์ต้นไม้” เราจึงอยากชวนท่านผู้อ่าน อย่าเพียงแค่ไปชักภาพ ลองเดินต่อขึ้นไปอีกสักนิด ไปทำความรู้จัก Fort Canning ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของ “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์”

fortcanning1

กว่าจะเป็น Fort Canning

Fort Canning เป็นจุดยุทธศาสตร์​ของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ​ ด้วยชัยภูมิสูงข่ม คือสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 48 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สูงสำหรับเกาะสิงคโปร์ มองเห็นปากแม่น้ำสิงคโปร์ได้ในมุมกว้าง ทำให้สามารถสังเกตการณ์และพบได้ล่วงหน้า หากมีกองเรือใดจะเข้ามาโจมตีเกาะ ทำให้ที่นี่ได้รับเลือกเป็นที่ทำการรัฐบาลอาณานิคม จนมีอีกชื่อ (ในปี ค.ศ.1824) ว่า Government Hill

ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านั้นอีกนิด ชาวมลายูในพื้นที่เรียกเนินเขานี้ว่า Bukit Larangan (Forbidden Hill) ในฐานะพื้นที่ต้องห้าม โดยจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยของสถานที่ที่น่าจะเป็นพระราชวังของสุลต่านอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยปรากฏในบันทึกของนักเดินทางจีนชื่อ หวัง ต้าหยวน ในชื่อ Danmaxi (Temasek)

เมื่อเซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ มาสร้างอาณานิคมอังกฤษบนเกาะสิงคโปร์ใน ค.ศ.1819 ก็สร้างที่พักแห่งแรกขึ้นที่นี่ และต่อมาได้กลายเป็นที่พำนักของข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์ ร่องรอยของชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาที่นี่ยังปรากฎเป็นพื้นที่สุสานคริสเตียนซึ่งจำแนกได้ 3 ยุคสมัย

fortcanning2

Fort Canning ยามสงคราม

ชื่อ Fort Canning นั้นตั้งตามชื่อข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียคือ Viscount Charles John Canning ในปี ค.ศ. 1861 หลังจากที่นี่เริ่มถูกใช้ในฐานะที่ตั้งทางทหารมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 แต่มันถูกวิจารณ์ว่าระยะปืนใหญ่ที่นำมาตั้งนั้นแทบป้องกันเมืองที่ปากแม่น้ำไม่ได้ อีกทั้งการเป็นจุดอพยพก็ยังทำได้ยาก

ในเวลาต่อมาอังกฤษก็ยังสร้างระบบบังเกอร์ไว้ที่เนินเพื่อป้องกันสิงคโปร์ (Headquarters Malaya Command Operations Bunker) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยภายในประกอบไปด้วยห้องใต้ดิน 30 ห้อง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายใน (The Battle Box)

ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นเอาชนะกองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ได้ก็สวมทับใช้สถานที่นี้ต่อ ภายหลังเมื่อแพ้สงครามกองทัพอังกฤษก็กลับเข้ามา ก่อนจะส่งต่อให้กับกองพันทหารราบที่ 4 ของมาเลเซีย จากนั้นกองทัพสิงคโปร์จึงมารับช่วงไปในปี ค.ศ.1966 โดยระหว่างนั้นมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ (1927) พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (1955) โรงละครแห่งชาติ (1963 / รื้อในปี ค.ศ.1986)

fortcanning3

ความทรงจำแห่งชาติที่ Fort Canning

ในอาคาร Fort Caning Center มีนิทรรศการเล่าความเป็นมาของสิงคโปร์ตั้งแต่ตำนานการพบเห็นสิงโต (Lion) อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์ของประเทศ การมาของอังกฤษ แต่ที่ถูกขับเน้นมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของ Fort Caning กับสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยเหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ ป้อมแคนนิ่งนั้นคือศูนย์บัญชาการใหญ่ของกองกำลังอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเมื่อกองทัพญี่ปุ่นสามารถยึดอินโดจีนและสยามได้แล้ว ก็เดินทัพลงใต้ตีผ่านมาเลเซียลงมาจนถึงสิงคโปร์อันเป็นที่มั่นสุดท้ายของอังกฤษ

เกาะสิงคโปร์ถูกตีจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ โอบเข้ามาทางด้านทิศตะวันตก ตีวงแคบเข้ามาเรื่อยๆ เข้าหาตัวเมืองที่ปากแม่น้ำสิงคโปร์ จนในที่สุดต้องมีการลงนามยอมแพ้ที่ป้อมนี้

หลังสงครามป้อมนี้ถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งหลายหน แต่ความทรงจำของคนสิงคโปร์รุ่นเก่าก็ฝังและผูกพันอยู่กับที่นี่ ด้วยบริเวณป้อมเคยมีโรงละครแห่งชาติ มีสวนสาธารณะ ที่คนสิงคโปร์ในยุคสร้างชาติจดจำกันได้ดีว่ามีหลายเหตุการณ์สำคัญของประเทศจัดขึ้นที่นี่ อาทิ การเลือกตั้ง งานวันชาติ ฯลฯ

การขุดค้นป้อมแคนนิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังทำให้พบว่าสิงคโปร์นั้น “มีประวัติศาสตร์ก่อนปี 1965” อย่างชัดเจน ด้วยการขุดค้นนี้ช่วยให้ความมั่นใจกับสิงคโปร์อันเป็น “ชาติเกิดใหม่” จากการแยกตัวจากมาเลเซียว่าตนเองก็มีความเป็นมาย้อนกลับไปในยุคโบราณเช่นกัน

สำหรับทางการสิงคโปร์ ป้อมแคนนิ่งจึงเป็นมากกว่าสวนสาธารณะและโบราณสถาน หากยังคล้ายกับเป็น “ตัวตน” ในยุคโบราณของประเทศด้วย

fortcanning4

จากป้อมสู่สวนสาธารณะ

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ป้อมแคนนิ่งได้เริ่มถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนสาธารณะโดยมีการรวมกับสวนเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าจอร์จที่ 5 (King George V Jubilee Park) จากนั้นชื่อของพระเจ้าจอร์จก็ถูกลบออกแล้วใช้ชื่อว่า Fort Caning Park ในปี ค.ศ.1981

ในปี ค.ศ.2019 ซึ่งครบ 200 ปี แห่งการก่อตั้งสิงคโปร์ (นับจากปีที่อังกฤษมาถึง) ยังมีการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์คือ Royal Garden พื้นที่ที่เชื่อว่าเคยเป็นพระราชวังมาก่อน Botanic Garden สวนพฤกษศาสตร์ (แห่งแรกบนเกาะสิงคโปร์) และ Jubilee Park ที่มีสนามเด็กเล่น นอกจากนี้ยังมีการสร้าง heritage museum จัดแสดงประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับป้อมในอาคาร Fort Caning Centre ที่เปิดให้เข้าชมฟรี

fortcanning5

Fort Caning Park Tree Tunnel

จุดถ่ายรูปอุโมงต้นไม้เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยหลังจากมี Influencer หลายคนนำภาพมาแนะนำในฐานะของ “จุดเช็คอิน” ที่ควรถ่ายภาพเมื่อไปเยือนสิงคโปร์​ แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการใช้เวลาในการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละคนที่เราจับเวลาได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 15 นาที แถวที่ยาวยังกีดขวางคนเดินเท้าที่จะเดินขึ้นไปยังตัวสวนสาธารณะ ยังไม่นับว่าเวลาถ่ายรูป ผู้ถ่ายยังไม่ยอมให้ใครเข้าไปเกะกะในเฟรมภาพ ทั้งที่บริเวณนั้นเป็น “พื้นที่สาธารณะ” (public space) ของคนเดินเท้า

เพื่อนชาวสิงคโปร์ของเราแนะนำว่า การถ่ายรูปนั้นไม่ผิดแปลก แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การเกรงใจคนเดินที่ต้องใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาด้วย

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสิงคโปร์เพิ่มเติมได้ในสกู๊บ เมื่อสิงคโปร์จะเป็น “เมืองจักรยาน” ใน นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 384 กุมภาพันธ์ 2560