เมื่อปี ๒๕๔๘ “แม่ช้อยนางรำ” หรือคุณสันติ เศวตวิมล เคยเขียนเล่าในหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ว่าตัวท่านเองมีโอกาสพบเห็น “หน้าผากแม่นาคพระโขนง” เมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อน (นับจาก ๒๕๔๘ คือประมาณช่วงปี ๒๕๒๐) โดยขณะนั้น อยู่ในความครอบครองของ “พระองค์ชายกลาง” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (๒๔๕๖ – ๒๕๓๔) ถือเป็นเครื่องรางของขลังชิ้นหนึ่งในจำนวนมากมายที่ “พระองค์ชายกลาง” ทรงสะสมไว้ในกรุที่วังย่านซอยเสนานิคม บางเขน กรุงเทพฯ
พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ ทรงเล่า (พร้อมหยิบมาให้คุณสันติชม) ว่าท่านได้รับมาจาก “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งทรงเป็นพระประยูรญาติฝ่ายพระมารดา
ตรงนี้อาจต้องขยายความเล็กน้อยว่าพระมารดาของพระองค์ชายกลาง คือพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (หม่อมเจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล) ทรงเป็นพระธิดาใน “สมเด็จวังบูรพา” สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมแม้น
หม่อมแม้นเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจ้าจอมมารดาโหมด พระมารดาของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
พูดอย่างภาษาชาวบ้านคือ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระมารดาของ “พระองค์ชายกลาง” กับกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กัน หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระองค์ชายกลาง” เป็น “หลานลุง” คนหนึ่งของ “เสด็จเตี่ย”
คุณสันติ เศวตวิมล เล่าด้วยว่ายังได้ถ่ายภาพ “หน้าผากแม่นาคพระโขนง” มาลงพิมพ์ ประกอบข้อเขียนในนิตยสารเครื่องรางของขลังฉบับหนึ่งด้วย
ส่วนในหนังสือ “หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับกรมหลวงชุมพรฯ” ของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร (พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๖๓) คุณชายขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า
“ทราบว่าพระองค์ชายกลาง…ได้ทรงนำไปจากวังหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร เมื่อคราวมีการสร้างภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง ผู้เขียนเคยทูลถามท่านหญิงดวงทิพยโชติแจ้งหล้า อาภากร (พระธิดาของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระชายาของหม่อมเจ้าครรชิตพล) ซึ่งพระองค์ทรงยืนยันว่าเป็นความจริง”
คุณชายอภิเดชยังเล่าในหนังสือเล่มเดียวกันนั้นด้วยว่า ต่อมาครั้งหนึ่งมีโอกาสทูลถามเรื่องนี้โดยตรงจาก “ท่านอ้วน” หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล (๒๔๗๙ – ๒๕๖๕) พระโอรสใน “พระองค์ชายกลาง”
“ทรงรับสั่งกับผู้เขียนว่าเคยเห็นปั้นเหน่งหน้าผากที่ว่านี้…แต่หลังจากเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ทราบว่ากะโหลกแม่นาคนี้หายไปไหน”
แม้ว่า “หน้าผากแม่นาคพระโขนง” ที่เคยตกทอดมาสู่กรมหลวงชุมพรฯ จะ “เปลี่ยนมือไปอีกหลายคนจนบัดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด…”แต่ในคลังของหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังคงเก็บรักษา “หน้าผากนางนากพระโขนง” พร้อมทั้ง “หัวกะโหลกนางนาก” อันเป็น “พร็อพ” (property) หรืออุปกรณ์ประกอบฉากชิ้นสำคัญของเรื่อง “นางนาก” (๒๕๔๒) ที่คุณนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับฯ มอบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ
ใครอยากเห็น “ของจริง” ชิ้นนี้ (ที่เคยเข้าฉาก) ตามไปดูได้ที่หอภาพยนตร์ฯ ถนนพุทธมณฑล สาย ๕ จังหวัดนครปฐม ใกล้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สั่งซื้อหนังสือ