ในบั้นปลายพระชนมชีพ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๐๕-๒๔๘๖) ทรงหวนระลึกความหลังว่า เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในปี ๒๔๓๔ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขณะนั้นเสด็จในกรมฯ ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เสด็จกลับจากราชการ ณ ทวีปยุโรป ระหว่างทางทรงแวะทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองที่อินเดีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ เมื่อเสด็จยังเมืองชัยปุระ (Jaipur ไจปูร์) แคว้นราชสถาน

ตามรอยฤๅษีดัดตน (1) – ต้นทางชมพูทวีป

“วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อมๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่างๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่า เหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย”

พิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระแห่งนั้น ย่อมได้แก่ อัลเบิร์ตฮอล (Albert Hall Museum) พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดของเมือง ขนานนามเฉลิมพระเกียรติตามพระนามเดิมของสมเด็จพระราชาธิบดีเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII Albert Edward 1841-1910/๒๓๘๔-๒๔๕๓) ผู้ทรงวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสอินเดียขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ 

จนทุกวันนี้ มุมหนึ่งที่ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอล ยังมีตู้กระจกจัดแสดงรูปปั้น “ฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่างๆ” เรียงเข้าแถวกันไว้หลายสิบตน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุดเดิมชุดเดียวกันกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยทอดพระเนตรเมื่อกว่าศตวรรษมาแล้ว

อันเป็นจุดเริ่มต้นความสนพระทัยใคร่รู้เรื่องนี้ ซึ่งจะยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ