ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เคยพบเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๕ จากกองมหันตโทษ กระทรวงนครบาล ว่าด้วยคดีลักรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่ารวมไว้ในที่นี้ด้วย
เอกสารเรื่องคดีความดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) นายแจ้ง อายุ ๒๙ ปี อยู่บ้านตำบลท่าช้าง กรุงเทพฯ ได้ก่อคดีลักขโมยรูปหล่อฤๅษีดัดตนของวัดพระเชตุพนฯ เอาไปแลกของกิน คำฟ้องระบุว่า (สะกดตามต้นฉบับ)
“เวลาบ่าย ๔ โมงเศศ อ้ายแจ้งเอาสินลาทุบพระฤๅษีที่หล่อทำเป็นรูปดัดตนสำหรับประดับไว้ในวัดพระเชดตุพน แล้วอ้ายแจ้งไปแลกเฃ้าพองเจ็กกิน”
สรุปความตามฟ้องก็คือ นายแจ้งเอาศิลา (หิน) ทุบรูปหล่อฤๅษีดัดตน แล้วเอาชิ้นส่วนที่เป็นโลหะไปแลกขนมข้าวพองของ “เจ๊ก” คือคนจีน มากิน
“ข้าวพอง” เป็นขนมแห้งอย่างหนึ่งของจีน จัดอยู่ในหมวด “เครื่องจันอับ” คำนี้ยังมีเก็บอยู่จนถึงใน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๕๔” อันเป็นฉบับล่าสุด ให้คำอธิบายไว้ว่า “ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวเจ้าทอดน้ำมันให้พอง เคล้ากับน้ำตาลแล้วอัดเป็นแผ่น”
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เล่าไว้ในหนังสือ “กรุงเทพเมื่อวานนี้” ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ท่านเคยเห็นนั้น “มองไปทางไหนก็เห็นแต่เจ๊กอยู่ทั่วไปหมด เริ่มแต่เจ๊กขายข้าวพอง (คือเอาข้าวพองเป็นก้อนๆ ไปขายบ้าง แลกของตามบ้านบ้าง ราคาถูกๆ)” เจ๊กที่ขาย (หรือแลกข้าวพอง) นี้ นับว่าเป็นพวก “หาเช้ากินค่ำ” จะว่าไปก็คงคล้ายกับที่ยุคหลังมี “ซาเล้ง” คือคนถีบสามล้อ เที่ยวเร่รับซื้อขวด เศษเหล็ก เศษกระดาษ พลาสติกแตก กะละมังแตก ตามตรอกซอกซอย
ส่วนในคำรับสารภาพของนายแจ้ง ระบุว่าเกิดเหตุขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคมตรงกัน แต่มีรายละเอียดต่างออกไปเล็กน้อย คือ
“เวลาบ่าย ๑ โมง อ้ายแจ้งไปที่วัดพระเชดตุพน อ้ายแจ้งเห็นรูปพระฤๅษีดัดตนแตกหักย่อยยับอยู่ในพระวิหารคด แล้วอ้ายแจ้งเก็บรวมเอาไปขายเป็นอานาประโยชย…”
นั่นคือนายแจ้งให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือ “ทุบ” ด้วยตนเอง หากแต่รูปฤๅษีดัดตนนั้น “แตกหักย่อยยับ” สุมอยู่ในพระวิหารคดอยู่ก่อนแล้ว เขาเพียงแต่เก็บรวบรวมเอาไปขายเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายนายแจ้งก็ถูกจับกุมคุมขังไว้
ปลายเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) หรืออีกราว ๑๕-๑๖ เดือนต่อมา คดีนี้จึงขึ้นสู่การพิจารณาของศาล
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ