เรื่อง : วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
ภาพ : ประเวช ตันตราภิมย์
ไฮเดรนเยียสีฟ้า แทนมิตรภาพ
เบญจมาศสีแดง แทนความรัก
เบญจมาศสีขาว และยิปโซฟิลล่า แทนความภักดี
ดอกไม้ทั้งสามสีบนเวที เป็นสัญลักษณ์สีสองธงชาติสยาม–รัสเซีย คือสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว สานสัมพันธ์ฉันท์มิตรนับศตวรรษ
การเมืองพันธมิตร มิติการเมืองใหม่สมัยอาณานิคม ตั้งแต่ค.ศ. ๑๘๙๑ ครั้งการเยือนกรุงสยามของมกุฎราชกุมารนิโคลัส แห่งรัสเซีย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงสยาม นับเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของสองแผ่นดินฟากฟ้า
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประไทยร่วมกับ Russian Dance Academy “Katyusha” ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนการเต้นบัลเล่ต์รัสเซีย ได้จัดการประกวด National Competition of Decorative Painting ในหัวข้อ “Russian Doll in Thai Dress” ได้คัดเลือกผลงานมาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ ๑ จัดแสดงชิ้นงาน ๓ รูปแบบ คือ ตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซียในชุดไทย, ตุ๊กตาแผ่นไม้ในชุดไทย และภาพวาดระบายสีรำลึกความสัมพันธ์สยาม-รัสเซีย โดยเป็นผลงานจากน้อง ๆ นักเรียน ๓ ช่วงอายุ คือ ๖-๙ ปี, ๑๐-๑๓ ปี และ ๑๔-๑๘ ปี
เมื่อเดินไปถึงลานนิทรรศการภายในหอศิลป์แล้ว ไม่ควรพลาดกับชิ้นงานไฮไลต์ “ตุ๊กตาแม่ลูกดก หรือ มาตรอชก้า (Matryoshka)” เอกลักษณ์คือทำจากไม้ เรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน รูปร่างทรงกระบอก ส่วนหัวโค้งมน ไม่มีแขนยื่นออกมา ตรงกลางโป่ง ด้านในสุดเป็นตุ๊กตาที่มีขนาดเล็กตัวที่สุด ตัวฐานเรียบ ใช้สีวาดลวดลายหน้าตา และเสื้อผ้า ในสมัยก่อนจะวาดเป็นหญิงสาวชาวนา ชาวบ้าน โดยมีผ้าคลุมศีรษะ ต้นกำเนิดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานสองทางคือ บาทหลวงชาวรัสเซียนำเอาตุ๊กตาไม้มาจากเกาะฮอนซู ประเทศญี่ปุ่นมาวาดลวดลายประสานศิลปวัฒนธรรมของรัสเซีย เช่น การประยุกต์เข้ากับไข่อีสเตอร์ หรืออีกข้อสันนิษฐาน ตุ๊กตามาตรอชก้าของรัสเซียได้รับแรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาไม้ของที่ระลึกจากเกาะฮอนซู ประเทศญี่ปุ่น
นับได้ว่านิทรรศการตุ๊กตารัสเซียในชุดไทยนี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการแสดงความสามารถของเยาวชนไทยที่มีฝีมือน่าจับตามอง สามารถต่อยอดไปได้ในอนาคต ตัวอย่างชิ้นงาน ที่หากเดินเข้ามาแล้วเป็นต้องสะดุดสายตา อย่างตุ๊กตาแม่ลูกดกที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครรามเกียรติ์ในฉากหนุมานอมพลับพลาพระราม ซึ่งจะมีตัวละครพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ อยู่ภายในปากหนุมาน นับเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่มีการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ หรือแม้แต่การถ่ายทอดผ่านเทพี หรือพระแม่ที่ปกปักรักษาตามความเชื่อชาวไทย เช่น พระแม่คงคา พระแม่โพสพ สะท้อนให้เห็นความเชื่อตามฤดูกาลเกษตรกรรมของไทย
ด้านซ้ายมือเคียงกัน ตุ๊กตาแผ่นไม้ จะเป็นชิ้นงานที่ประดับบนชั้นวางอัฒจันทร์ทำให้เห็นผลงานได้ชัดเจน ชิ้นงานมีความน่ารัก และสร้างสรรค์ เพราะนอกจากจะมีการระบายสีแล้ว ยังมีการนำวัสดุมาตกแต่งให้ตุ๊กตาแผ่นไม้ใส่ชุดไทย มีสีสันสดใส เครื่องสำอางสีสวย ดูมีชีวิตชีวา อดที่จะเก็บภาพความน่ารักไม่ได้ทีเดียว
ด้านตรงข้ามนั้นเป็นรูปภาพระบายสีถูกจัดใส่กรอบวางล้อมรอบเสาวงกลม แสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ในหนึ่งภาพ มีทั้งภาพแสดงตัวละครรามเกียรติ์ ภาพพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และรัชกาลที่ ๕ ประทับร่วมกัน หรือภาพชาวสยามชาวรัสเซียกำลังเคียงข้างกันและกัน โดยมีการแสดงวัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน สถาปัตยกรรม การบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านจินตนาการเยาวชน สิ่งที่จัดแสดงเหล่านี้ ประกอบสร้างเป็นงานนิทรรศการร่วมสมัยที่สะท้อนกาลเวลา ๑๒๕ ปี ผ่านชิ้นงานศิลป์สัมพันธ์ แห่งสยาม-รัสเซีย
งานจัดแสดงนิทรรศการตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซียในชุดไทย (Russian doll in Thai dress) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น ๑ ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ - ๑๕ มกราคม ๒๕๖๖ ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย