ทีม Just living
เรื่อง : พิลัยวรรณ อำนวยพร
ภาพ : ชลธิชา ปาละนิตย์
ฝนหยุดตกตอนบ่าย ๒ โมงของวันจันทร์ ฉันมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่งในซอยเล็กๆ ใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ซุ้มประตูเหล็กมีแมกไม้นานาพรรณเลื้อยตามขอบประตู กำแพงหลากสีสัน ทำให้นึกถึงสตรีตอาร์ตที่ร้อยเอ็ดและย่านเมืองเก่าของภูเก็ต แต่ที่นี่ไม่ได้ใหญ่นัก แผ่นป้ายหลายขนาดถูกแต้มด้วยข้อความหลากอารมณ์ ตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลสภาพโทรมนั่งเป็นพนักงานต้อนรับ มีป้ายแขวนคอด้วยประโยคว่า “ห้องว่างให้เศร้า” และป้ายหน้าประตูทางเข้า “Open ตลอดเมื่อเปิดประตู Close เมื่อไฟทุกดวงดับลง แวะมาโสเหล่กันได้” ภาษาถิ่นอีสานเรียกรอยยิ้มตั้งแต่ทางเข้า
บ้านสองชั้นที่ชั้นบนสร้างด้วยไม้ ชั้นล่างก่อปูน สภาพค่อนข้างเก่าแต่กลับสร้างสรรค์ลวดลายคลาสสิกทั่วหลัง ด้วยฝีมือศิลปินเจ้าของบ้าน จนได้รับความสนใจจากผู้ชื่นชอบงานศิลปะแวะเวียนมาประลองฝีมืองานศิลป์อยู่เรื่อยๆ
สัปดาห์ก่อนฉันอ่านข้อความจากเพื่อนที่ส่งมาทางเฟซบุ๊ก บ้านศิลปะของศิลปินในซอย ๓๕ ถูกแชร์ลงโซเชียลฯ ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “บ้านลุงหลอย” โพสต์ภาพวาดบนกำแพงในซอยที่มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนสัญจรพลุกพล่าน เป็นภาพวาดกระป๋องอะไรสักอย่าง ครึ่งกระป๋องด้านบนทาสีแดง ด้านล่างทาสีขาว มีวงกลมสีเหลืองอยู่ระหว่างสีแดงกับสีขาว มีข้อความในพื้นที่สีแดง “ใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น” ในพื้นที่สีขาว “ไล่หนูตีงูเห่า” และวงกลมสีเหลืองมีตัวอักษร “พท” หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทยเพิ่งจบลง
ฉันมาที่นี่พร้อมกับเพื่อนสองคน
เราเดินฝ่าแมกไม้นานาพรรณจากประตูทางเข้ามาถึงบันไดทางขึ้นชั้น ๒ ของบ้าน ซึ่งเป็นบันไดไม้เล็กๆ เก่าคร่ำ พบซิงก์ล้างจานและข้อความ “การล้างจานทำให้คลายเครียดได้”
ฉันคิดว่าลุงหลอยยังไม่มีเรื่องให้เครียด หากดูจากถ้วยชามที่กองพะเนินอยู่ ฮ่าๆ
พบมาเฟียเจ้าถิ่น ตัวสีลาเต้ หุ่นตุ้ยนุ้ย นอนทับกระดาษพร้อมเลขบัญชีธนาคารขอค่าขนมแมวเลีย ผ่านด่านเจ้าลาเต้ขึ้นไปชั้น ๒ พบกับ “ลุงหลอย” ชายหนุ่มผอมสูงมีหนวดที่หน้าตายังไม่ถึงกับต้องเรียกลุง แต่งตัวสไตล์ศิลปินคลาสสิกยุค ๙๐ ผมยาวถูกมัดรวบเรียบร้อย เจ้าของบ้านให้การต้อนรับอย่างดี งานศิลปะหลากรูปแบบจัดแสดงตามห้องต่างๆ ราวกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
ฉันและเพื่อนเช่าห้องฝั่งทิศตะวันออกบนชั้น ๒ เพราะรู้สึกแสงสวยและมองเห็นทิวทัศน์ฟ้าหลังฝนได้ โดยซื้อแผ่นภาพกระป๋องตราลุงหลอยและกระเป๋าผ้าดิบสีขาวมานั่งระบายสี ซึ่งมีป้ายบอกราคา เฟรมผ้าใบ ๑๐๐ บาท กระเป๋าผ้า ๑๐๐ บาท และภาพวาดกระป๋องตราลุงหลอย ๕๐ บาท พร้อมหมายเลขบัญชีและชื่อเจ้าของบัญชี “นายอธิวัฒน์ สังข์เงิน”
“ตามสบายนะครับ” ลุงหลอยเดินมาทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “ที่นี่มีของขึ้นชื่อคือแมวกับศิลปะครับ ฮ่าๆ”
“เดี๋ยวมาคุยด้วยครับ”
“ค่ะ”
“ผมไปอาบน้ำสักครู่ครับ”
“รู้จักกระป๋องซุปของแอนดีไหมครับ” ลุงหลอยเดินมาพร้อมกระดาษหนึ่งแผ่น หลังจากหายไปร่วม ๒๐ นาที
“ไม่รู้จักค่ะ”
“กระป๋องซุปมะเขือเทศเข้มข้นแคมป์เบลส์ ภาพวาดของ แอนดี วอร์ฮอล จุดกำเนิดงานศิลปะแบบป็อปอาร์ต ส่วนมากศิลปินมักเอามาเป็นต้นแบบครับ”
“แต่พอผมวาดหน้าตัวเองลงไป ทำไมเหมือนกระป๋องกาวไม่รู้ ฮ่าๆ” เจ้าของบ้านนั่งลงบนเก้าอี้ไม้ข้างประตูร่วมวงสนทนา รถมอเตอร์ไซค์ในซอย ๓๕ แผดเสียงเป็นระยะ ภาพวาดบนรูปกระป๋องซุปตราบ้านลุงหลอยถูกแต้มจนเกือบจะเสร็จ ถึงเพิ่งรู้ว่าคือกระป๋องซุป
“ผมมีโอกาสได้ไปจัดงานศิลปะช่วยเพื่อนๆ ชื่องาน เด้อครับเด้อ” ลุงหลอยเล่า พลางยกพู่กันออกจากกระดาษเพื่อแต้มสีเพิ่มก่อนระบายลงบนกระดาษอีกครั้ง
“เป็นงานคราฟต์ของรุ่นน้องและเพื่อนๆ จัดแถวโกลบอลเฮาส์ สามแยกวาปีปทุม ก็เลยสนใจอยากทำบ้าง พอดีเห็นซอย ๓๕ กับบ้านหลังนี้ ถูกใจผมมาก แต่อุปสรรคค่อนข้างเยอะ”
“ยังไงเหรอคะ”
“อย่างเพ้นต์กำแพง ทีแรกเขาห้ามนะครับ ตอนผมทำบ้านหลังนี้เขาก็ห้าม เมื่อก่อนจะขอเพ้นต์กำแพงยากมาก หลังๆ ชาวบ้านอาจเห็นว่าสวยดีเลยให้ทำครับ”
“ผมลงไปซื้อกาแฟสักครู่นะครับ” นั่งวาดรูปได้สักพักลุงหลอยก็ขอตัวปซื้อเครื่องดื่ม ฉันก้มมองตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือเวลาล่วงมาบ่าย ๓ โมงแล้ว แต่ฉันยังไม่ได้กินข้าวเที่ยง เลยเอ่ยถาม “ว่าแต่ซื้อข้าวขึ้นมากินบนบ้านได้ไหมคะ”
“ตามสบายครับ”
ฉันกลับมาพร้อมกล่องข้าวมันไก่จากร้านท้ายซอย ๓๕ ร่วมขีดเขียนภาพวาดบนบ้านชั้น ๒ กับเพื่อนและลุงหลอย ศิลปินเจ้าของหอศิลป์แห่งดินแดนปลาแดกวัย ๓๑ ปี
“ลุงหลอยมีชื่อเล่นจริงๆ ว่าหลอยเหรอคะ” ฉันเอ่ยถามพร้อมแกะถุงน้ำซุปข้าวมันไก่
“เป็นฉายาที่อาจารย์ตั้งให้สมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ ผมจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามปี ๒๕๕๗ จริงๆ ผมชื่อ ‘แม็ก’ ชื่อจริงก็ตามชื่อบัญชีโอนเงิน” ลุงหลอยชี้ที่ป้ายแสดงราคาและเลขบัญชี
“แต่ชอบให้คนเรียกลุงหลอยมากกว่า”
“แล้ว…บ้านเกิดลุงหลอยอยู่ที่นี่เลยไหมคะ ขออนุญาตค่ะ” ฉันถามต่อ
“ใช่ครับ ผมเป็นคนบ้านเขวา ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามครับ”
สีน้ำบนจานสีถูกผสมสลับไปมาจนเกิดสีใหม่เรื่อยๆ เจ้าลาเต้กับข้าวคั่วเดินมาคลอเคลียแข้งขาจนลุงหลอยเอ็ดเบาๆ ฉันยังสนใจชื่อลุงหลอยจึงถามต่อ “ทำไมอาจารย์ถึงตั้งฉายาให้ว่าลุงหลอยคะ”
“เขาบอกหน้าผมเดฟมั้งครับ ฮ่าๆ ทรงเติมมาเต็ม ทรงขวัญใจตำรวจอะไรแบบนี้ ฮ่าๆ”คนอีสานเขาจะรู้กันว่า ‘หลอย’ ใช้ได้หลายบริบท”
“เข้าใจค่ะ ฮ่าๆ”
ฉันทราบดี คำว่า “หลอย” ในภาษาอีสานหมายถึง การแอบ แอบทำนั่นทำนี่ ส่วนมากจะเป็นสิ่งไม่ดีมากกว่า สักพักลุงหลอยก็เดินลงไปให้อาหารแมวที่ชั้นล่าง ฉันรีบกินข้าวให้เสร็จเพื่อระบายสีรูปภาพต่อ
สีเหลืองกับน้ำเงินผสมเป็นสีเขียวได้เรียบร้อย ใช้พู่กันบรรจงระบายลงบนกระดาษ พร้อมมอเตอร์ไซค์แผดเสียงผ่านหน้าบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า
ซอย ๓๕ เป็นถนนศิลปะ มีงานอาร์ตจัดขึ้นที่นี่ไม่กี่ครั้ง
ลุงหลอยเล่าว่า อยากให้มีเวิร์กชอปเหมือน Columbo Craft Village แต่ก็มีอุปสรรคมากมาย
“ตรงนี้มีแค่ผมคนเดียวที่ทำงานศิลปะ”
เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดมหาสารคาม นอกจากตะวันแดงหรือวัดป่าวังน้ำเย็น จุดสนใจอื่นที่ลุงหลอยอยากให้คนนึกถึงคือสถานที่สร้างความสุขแห่งนี้
“ผมก็จะทำจนสุดซอย ๓๕ รอหมดฝนก่อน”
ปลายปีอาจได้เห็นศิลปะบนกำแพงใหญ่ที่ท้ายซอยเล็กๆ ซึ่งสร้างสรรค์สีสันด้วยความสุขของคนรุ่นใหม่และจิตวิญญาณของกลุ่มศิลปินที่มีใจรักในลวดลายเดียวกัน
สี่โมงเย็นฉันยังนั่งอยู่บนชั้น ๒ ของบ้านลุงหลอยที่มี…
แมว
ต้นไม้
ศิลปะ
ลุงหลอย
ลุงหลอยปั่นจักรยานออกไปร้านกาแฟประมาณ ๑๐ นาทีก็กลับมา “ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ที่ร้านกาแฟครับ” ลุงหลอยพูดยิ้มๆ พร้อมแก้วกาแฟในมือ
“งานประจำลุงหลอยคือที่นี่ใช่ไหมคะ”
“ผมยังไม่รู้เลยครับว่าอันไหนคืองานประจำหรือไม่ใช่ผมชอบอยู่กับอะไรที่เป็นของตัวเอง แต่ก่อนไม่มีใครรู้จักผมเลย Facebook ก็ไม่มี ไม่ได้แชร์รูปตัวเองหรืองานศิลปะเหมือนทุกวันนี้ ถ้ากลับไปดูความเคลื่อนไหวทางสื่อออนไลน์ คือชีวิตมันเป็นรูปแบบเลยนะครับ”
ฉันฟังน้ำเสียงแสนสบายใจของลุงหลอยที่บ่งบอกวิธีคิด การทำงานศิลปะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับหลายๆ คนทำให้ชีวิตเป็นไปอีกรูปแบบหนึ่ง การเปิดเผยตัวเองในงานศิลปะและบ้านหลังนี้จึงเริ่มขึ้นอย่างบ้าระห่ำ ซึ่งไม่ได้การันตีเลยว่า “ความอยู่รอด” คืออะไร
“ผมชอบพูดคุยกับผู้คน การเปิดบ้านหลังนี้เพราะอยากให้ทั้งตัวเองและคนอื่นเข้ามาเยียวยาความทุกข์หรือนำความสุขจากศิลปะกลับไป แต่เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามา คงกลัวผมครับ ฮ่าๆ”
นักศึกษาที่จบใหม่ ร้อนวิชา
“ผมเคยสอนเด็ก แต่เด็กไม่คุยด้วยครับ คงจะกลัว” ฉัน เพื่อน และลุงหลอยระเบิดหัวเราะพร้อมกัน
“ผมเลยเลิกสอนและมารับจ้างทำงานศิลปะ แต่เงินก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น”
ลุงหลอยเดินทางมาที่บ้านหลังนี้เพื่อ “แค่หาที่นอนครับ” เนื่องจากต้องทำงานในจังหวัดมหาสารคามหลังเรียนจบ
จุดเริ่มต้นของบ้านเกือบร้างจึงกลับมามีสีสัน และด้วยคนรอบข้างชี้แนะให้รังสรรค์สตูดิโอขึ้น ลุงหลอยจึงตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงความอยู่รอด
“พอลุงเปิดพื้นที่ ค่าสีค่ากระดาษก็มีเก็บบ้าง”
“บางคนมาเล่นกับแมว ก่อนกลับเขาก็จ่ายค่าอาหารแมว” ลุงหลอยหัวเราะ
“ทำไมไม่ลองทำคาเฟ่ดูคะ” ฉันพูดเสริม
“มีวางแผนไว้ครับ ผมคุยกับน้องๆ แถวนี้แล้ว ใครสนใจก็มาเปิดได้เลย ดีเหมือนกันครับจะได้ดึงดูดคนทั้งสองทาง”
บ้านเช่าที่ต้องอ้อนวอนขอเจ้าของบ้านวาดงานศิลปะ และเปิดพื้นที่แสดงงานศิลป์ “ศิลปินหรือนักศิลปะท่านอื่นก็มีแวะเวียนมาบ้าง” ฉันพยักหน้าเข้าใจพลางตวัดปลายพู่กันลงบนพื้นที่สุดท้าย…ภาพวาดเสร็จพอดี
“พรุ่งนี้ถ้าฝนไม่ตก มาปั้นดินกันนะครับ”
“ได้เลยค่ะ” ฉันกับเพื่อนตอบรับ
“บ้านลุงหลอย”
ความสุขเกิดขึ้นจากการหาที่นอน
เมื่อสิ่งที่ชื่นชอบมีแรงผลักดันให้มีพลังในการใช้ชีวิต มองต้นไม้ที่ปลูกเอง ให้อาหารแมว ลุกจากที่นอนลงมาล้างจาน ระบายสีภาพวาดที่ยังไม่เสร็จ สูดกลิ่นกาแฟหอมๆ ที่ร้านกาแฟ ปั่นจักรยานไปสวนผัก หรือต้อนรับคนชอบศิลปะ ดื่มด่ำในการพูดคุยกับผู้คน และให้กำลังใจตัวเองเมื่ออยู่คนเดียว
บ้านกึ่งไม้กึ่งปูนหลังนี้ “เปิดตลอด สุข-เศร้า ปิดเมื่อไฟทุกดวงดับลงหรือจนกว่าไฟในใจจะลุกโชติช่วง…”
ศิลปะ #วาดภาพ #หลอย #มหาสารคาม #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส