สิบปีหลังการมาเยือนของ “การะฝัด” กับคณะทูตอังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อปี ๒๓๗๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดพระเชตุพนฯ ใหม่หมดทั้งพระอาราม เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่กระทำสำเร็จไว้ตั้งแต่สามสิบกว่าปีก่อนยุครัชกาลที่ ๑ ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก
นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้รูปฤๅษีดัดตนชุดแรกของวัดโพธิ์ฯ สาบสูญไปด้วยการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น
บนผนังทิศตะวันตกของพระวิหารทิศตะวันออก หรือวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนฯ มีแผ่นหินขนาดใหญ่ผนึกติดอยู่ ดูคล้ายเป็นศิลาจารึก หากแต่บนผิวหน้ากลับว่างเปล่า ปราศจากข้อความใดๆ
เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบต้นฉบับลายมือในสมุดไทยดำเล่มหนึ่ง เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ เรื่อง “สำเนาจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๑๙๓ พ.ศ. ๒๓๗๔” จึงสันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นต้นร่างของข้อความที่เตรียมนำไปจารึกไว้ ณ ตำแหน่งดังกล่าว หากแต่อาจเกิดติดขัดด้วยเหตุประการใดประการหนึ่ง จึงมิได้มีการนำไปจารึกไว้ตามที่มีดำริมาแต่เดิม
ข้อความตอนหนึ่งของสำเนาจารึก กล่าวถึงเรื่องรูปฤๅษีดัดตนว่า
“แลก่อแท่นก่อเขาตั้งรูปฤๅษีดัดตนหล่อด้วยสังกสีผสมดีบุกศาลาละห้ารูปบ้างสี่รูปบ้าง จาฤกโคลงสุภาพลงแผ่นสิลาบอกถ้าบอกลม แลขนานนามติดผนังประจำรูปไว้ทุกรูป…สริเปนรูปดาบศแปดสิบสองรูป”
ถอดความเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า (ในศาลารายแต่ละหลัง) มีการก่อแท่น หรือก่อเป็นภูเขาไว้ตั้งรูปฤๅษีดัดตน ที่หล่อด้วยสังกะสีผสมกับดีบุก ศาลาละ ๔–๕ รูป พร้อมกับมีโคลงสุภาพจารึกลงบนแผ่นศิลา บอกท่า กับบอกลม และนามของฤๅษี ติดไว้ที่ผนังประจำทุกรูป รวมแล้วมีรูปฤๅษี (หรือดาบส) ๘๒ รูป
เหตุที่ต้องมีเรื่องของ “ท่า” และ “ลม” เพราะการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยตามแนวทางแพทย์แผนไทยหรือ “แผนโบราณ” อย่างหนึ่งมักอธิบายว่าเกิดเนื่องจาก “ลม” ในร่างกาย เดินไม่ปรกติ จึงต้อง “แก้ลม” ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกิน “ยาลมยาหอม” หรือในกรณีของฤๅษีดัดตน คือต้องบีบดัดนวดเฟ้นร่างกาย แขน-ขา-มือ-เท้า-หน้า-คอ เพื่อ “แก้ลม” ให้ “เสื่อมสิ้น” ไปจากอวัยวะตำแหน่งนั้นๆ
ส่วนสาเหตุว่าทำไมจึงต้องเป็น “ฤๅษี” เข้าใจว่า เป็นเพราะคติโบราณ ถือกันว่าความรู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องถ่ายทอดโดยตรงจากครู ซึ่งตามธรรมเนียมไทย วิชาหลายอย่าง เช่นแพทย์ ทั้งในทางยา หมอนวด และการดัดตน นับถือกันว่ามีครูฤๅษีเป็นต้นทางแห่งความรู้ ในที่นี้จึงมีการคัดเลือก “นามของฤๅษี” จากคลังความรู้หลายแหล่งที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น เพื่อมา “แสดงแบบ” ท่าทางดัดตนสำหรับโคลงชุดนี้
ชื่อฤๅษีจำนวนมากอ้างอิงจาก “รามเกียรติ์” และ “นารายณ์สิบปาง” นอกจากนั้นยังมีชุดที่มาจากบทละครเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่อง “อิเหนา” เรื่อง “อุณรุท” เรื่อง “รถเสน” (พระรถ-เมรี หรือ “นางสิบสอง”) บ้างเป็นนามที่กล่าวถึงในอรรถกถาชาดก มีไปจนถึงที่เป็นนักพรตจากพงศาวดารจีนและนักบุญของคริสต์ศาสนา ส่อแสดงให้เห็นความรับรู้โลกกว้างไกลของคนไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี
แม้กระนั้นก็ยังมีฤๅษีอีกหลายตนในโคลงชุดนี้ ที่ยังสืบค้นหาที่มาของนามไม่ได้ ด้วยอาจมาจากวรรณคดี หรือตำนานที่เคยแพร่หลายในอดีต แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันเสียแล้วในปัจจุบัน
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ