๏ เห็นทุกข์เห็นแท้โทษ เบญจขันธ์
คือพระมาฆะนักธรรม์ สถิตย์ถ้ำ
มือยุดฝ่าเท้ายัน ยืนย่อ ตัวนา
เท้าเหน็บเย็นยิ่งน้ำ เหนี่ยวแก้เหน็บหายฯ
พระยาธิเบศร์บดี
(ถอดความ)ด้วยเล็งเห็นทุกข์ภัยแห่งเบญจขันธ์ (อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) พระมาฆะจึงออกบวชเป็นฤๅษี พำนักอยู่ในถ้ำ ท่านยืนย่อตัว พลางใช้มือทั้งสองยุดฝ่าเท้าข้างหนึ่งเอาไว้ เพื่อบรรเทาอาการเท้าเป็นเหน็บ แม้อาการมากกระทั่งเท้าเย็นกว่าน้ำ แต่หากทำท่านี้แล้วจะช่วยบรรเทาอาการได้
นาม “มาฆะ” ในที่นี้ หมายถึงมาฆฤๅษีจาก “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) เมื่อพระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงสงสัยว่าทานกับพรหมจรรย์ สิ่งใดมีอานิสงส์มากกว่า พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายให้ฟังถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ด
“ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”
กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม มีความหมายตามคำ คือ “ฉ” (อ่านว่า ฉะ) คือ ๖ “กาม” แปลว่าความรักใคร่ และ “อาวจร” หมายถึง เกี่ยวข้อง
พระอินทร์ทรงยกตัวอย่างฤๅษีเหล่านี้ในฐานะของท่านผู้ “ก้าวล่วง” คือข้ามพ้นสวรรค์หกชั้นอันเนื่องด้วยความรักใคร่ไปแล้ว เพื่อตอบข้อสงสัยของพระเนมิราช
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ