๏ พระสมุททำท่าดัด ปลาดหลีก เพื่อนแฮ
ขาแยกยกเฉียดฉีก ครากแท้
ใครเห็นจักหัดอีก รอาออก โอษฐเอย
แต่ท่านเดียวดัดแก้ ตะโพกต้นขาแคลงฯ
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
(ถอดความ)ฤๅษีสมุททำท่าดัดตนแปลกกว่าฤๅษีตนอื่น ท่านยกขาแยกฉีกขึ้นทั้งสองข้าง ผู้ใดที่หัดทำท่านี้ตาม ล้วนออกปากว่ายากนักหนา มีเพียงพระฤๅษีท่านเดียวที่ทำได้ ท่านี้ใช้ดัดแก้ตะโพก ต้นขาขัด
ใน “เนมิราชชาดก” (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) เมื่อพระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงเกิดข้อสงสัยว่าระหว่างทานกับพรหมจรรย์ ข้างไหนมีอานิสงส์มากกว่า พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบาย โดยยกตัวอย่างผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ให้พระเนมิราชโพธิสัตว์ฟังว่า “ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”
ฤๅษีทั้งเจ็ดนี้ในบางแห่งระบุว่าล้วนเป็นพี่น้องกันทั้งสิ้น
กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม (ฉ แปลว่า ๖) ได้แก่ ๑. จาตุมหาราชิก ๒. ดาวดึงส์ ๓. ยามา ๔. ดุสิต ๕. นิมมานรดี และ ๖. ปรนิมมิตวสวัตดี
พระอินทร์ทรงยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ดในฐานะท่านผู้ “ก้าวล่วง” คือข้ามพ้นฉกามาพจรไปแล้ว มุ่งหน้าสู่สวรรค์ชั้นสูงกว่า คือพรหมโลก อันปราศจากกามกิเลศใดๆ
นาม “สมุท” ในที่นี้ ตรงกับสมุททฤๅษี ซึ่งใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ยังปรากฏนามฤๅษีตนอื่นๆ ในชุดฤๅษีทั้งเจ็ดนี้ด้วย
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ