๏ พระโสมะยาคะโอ้ อักดก
อาพาธแน่นในอก อัดอั้น
เหยียดแขนยึดเข่าผงก แหงนพักตร์ อยู่พ่อ
เอวแอ่นอึดใจกลั้น ดัดแล้วลมถอยฯ
พระองค์เจ้านวม
(ถอดความ) ฤๅษีโสมะยาคะเกิดแน่นหน้าอก จึงนั่งเหยียดแขน เอามือยึดเข่า ผงกศีรษะแหงนขึ้น พร้อมกับแอ่นเอว และกลั้นลมหายใจ เมื่อดัดตนด้วยท่านี้แล้ว ลมในอกจะบรรเทา
นามโสมะยาคะในที่นี้ ตรงกับโสมยาคฤๅษี ซึ่งใน “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) เมื่อพระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงเกิดข้อสงสัยว่าทานกับพรหมจรรย์ สิ่งใดจะมีอานิสงส์มากกว่า พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ด
“ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”
กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม หรือยังอยู่ใน “กามภูมิ” พระอินทร์ยกตัวอย่างฤๅษีเหล่านี้ในฐานะของท่านผู้ “ก้าวล่วง” คือข้ามพ้นฉกามาพจรไปเกิดยังพรหมโลก
นาม “โสมะยาคะ” ในที่นี้ ตรงกับโสมยาคฤๅษี ซึ่งใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ยังปรากฏนามฤๅษีตนอื่นๆ ในชุดฤๅษีทั้งเจ็ดนี้ด้วย
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ