นอกจากการหล่อรูปฤๅษีดัดตนตั้งไว้ ณ วัดพระเชตุพนฯ พร้อมศิลาจารึกโคลงประจำภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดโคลงทั้งหมด เขียนลงในสมุดไทยดำ พร้อมภาพวาดรูปฤๅษีดัดตน ท่าทางอย่างเดียวกับที่เป็นรูปหล่อโลหะ เพื่อไว้เป็นคู่ฉบับเทียบตรวจสอบกัน โดยต้นฉบับเดิมที่เป็นสมุดไทยดำยังคงเก็บรักษาไว้ในสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตราบเท่าทุกวันนี้

ตามรอยฤๅษีดัดตน (6) – ไม่ได้มีแค่ที่วัดโพธิ์

ปรากฏความตามบานแพนก (คำนำ) ของโคลงฤๅษีดัดตน ว่าช่างผู้เขียนภาพในสมุดไทยเล่มดังกล่าว ได้แก่ ขุนรจนามาศ จากกรมช่างเขียนซ้าย ร่วมกับหมื่นชำนาญรจนา แห่งกรมช่างเขียนขวา โดยมีขุนวิสุทธิอักษร เป็นอาลักษณ์ ตรวจทานแล้วคัดโคลงลงสมุด แล้วเสร็จเมื่อวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๐๐ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๘๑

ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก็เคยมีรูปชุดฤๅษีดัดตน

ในพระนิพนธ์เรื่อง “เวชชปุจฉา” ของกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๓๒ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ตำรายามีถมไป คือ ในวัดพระเชตุพนท่านจารึกไว้ในแผ่นศิลาเป็นอันมาก หรือที่วัดบวรนิเวศในศาลาฤๅษีดัดตนก็มีอยู่อีกถึงสี่ศาลา จะไปจดไปลอกเอามาแล้วทำขึ้นไว้เที่ยวรักษาโรค…”

ศาลาสี่หลังนี้ตั้งอยู่สี่มุมรอบพระเจดีย์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นศาลาปูน หลังคาทรงเก๋งจีน สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ สมัยเมื่อวชิรญาณภิกขุ (ภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) เป็นเจ้าอาวาส ผนังภายในศาลาเจาะช่องเป็นซุ้มเรียงแถวกัน ประดิษฐานรูปฤๅษีดัดตนขนาดย่อมๆ และประดับแผ่นศิลาจารึกตำรายา

กล่าวกันว่า พระสงฆ์ในวัดร่วมกันสร้างศาลาฤๅษีทั้งสี่หลังด้วยปัจจัยที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งทรงพระประชวรคราวใกล้เสด็จสวรรคต รูปละ ๒๐ บาท

เข้าใจว่าเดิมคงมีภาพฤๅษีดัดตนตั้งไว้ตามช่องจนครบชุดตามจำนวนเท่ากับในวัดพระเชตุพนฯ แต่ปัจจุบัน ฤๅษีดัดตนของวัดบวรนิเวศไม่มีปรากฏให้เห็นแล้ว คงเหลือเพียงแผ่นศิลาจารึกนามฤๅษี กับสรรพคุณของท่าดัดตนแต่ละท่า อยู่เพียงไม่กี่แผ่น

อีกแห่งหนึ่งที่มีรูปฤๅษีดัดตนอยู่บางท่า คือที่ซุ้มข้างประตูกำแพงแก้วรอบอุโบสถ วัดนายโรง ฝั่งธนบุรี มีอายุสมัยในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ถัดมาตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทั้งภาพลายเส้นฤๅษีดัดตนชุดนี้และคำโคลงประกอบภาพ ยังกลายเป็นต้นแบบที่ถูกนำไปวาดซ้ำเป็นจิตรกรรมฝาผนังไว้ ณ ศาลาหลังหนึ่งที่วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในราวปี ๒๔๔๕ หากแต่อาจด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้ช่างเลือกเขียนภาพฤๅษีดัดตนไว้เพียงครึ่งเดียว คือ ๔๐ ท่า จาก ๘๐ ท่าตามตำรา


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ

[s_stat type=”unique” icon=”graph”]

test