๏ สมาธิขัดหัดถ์ยุดทั้ง     เพลาเศียร
สะสร่างแสลงลมเวียน ศิรเกล้า
นามธหะพระผู้เพียร ผนวชเนิ่น นานแฮ
ธะอักษรควบเข้า เพิ่มให้นามกรุงฯ

กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ตามรอยฤๅษีดัดตน 25 - ธหะ

(ถอดความ) ท่านั่งขัดสมาธิ มือ (ข้างหนึ่ง) ยันต้นขา (มืออีกข้าง) ดันศีรษะ ใช้แก้ลมเวียนศีรษะ นี่คือฤๅษีธหะ ผู้ออกบวชมาช้านาน เป็นที่มาของตัวอักษร ธะ ในนามกรุง (ศรีอยุธยา)

ธหะ/ทหะ เป็นนามฤๅษีตนที่ ๓ ในสี่ตน ปรากฏอยู่ตอนต้นบทละคร “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ จับความเมื่อพระอิศวรมีเทวบัญชาให้พระอินทร์ลงมาสร้างเมืองถวายเทวราชกุมาร ณ ชมพูทวีป ได้พบฤๅษีสี่ตนบำเพ็ญพรตอยู่ สอบถามได้ความว่าท่านเหล่านี้จำศีลภาวนามาได้ถึง ๑ แสนปีแล้ว และ

อันนามกรเราสี่ตน
รูปชื่ออจนคาวี
องค์นี้ชื่อยุคอัคระ
องค์นั้นชื่อทหะฤๅษี
องค์โน้นชื่อยาคะมุนี
มีตบะพิธีเสมอกัน

พระอินทร์แจ้งแก่เหล่าฤๅษีว่าพระอิศวรให้มาสร้างเมืองตรงนี้ พระฤๅษีทั้งสี่จึงขอให้เอานามของตน ได้แก่ อัจนะคาวี (อะ) ยุทอักขระ (ยุท) ทหะ (ทะ) และยาคะ (ยา) รวมกับชื่อป่าบริเวณนั้น คือ “ทวารวดี” มาเป็นนามกรุง คือ “กรุงศรีอยุธยาทวาราวดี”

อันสืบไปภายภาคหน้าจักเป็นนครของพระรามองค์อวตาร


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ