วัจนัข
๏ วัจนัขเนาพนัศห้วย    หุบเหว
นอบนบเพลิงเปล่งเปลว    ค่ำเช้า
อาพาธขบขัดเอว     โอ้เทวษ ฉังเอย
เก็งข้อกดตะคากเข้า     ศอกคู้ขมึงทึงฯ

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ถอดความ) ฤๅษีวัจนัข ผู้อาศัยอยู่ในหุบป่าริมห้วย บูชาไฟทุกคืนวัน เกิดเจ็บป่วยเมื่อยขบขัดเอว ทรมานยิ่งนัก จึงใช้การเกร็งข้อ งอศอก กดตรงตะคาก เพื่อรักษาอาการ

ปรากฏนาม “วัจฉนขดาบส” ในวัจฉนขชาดก (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๓” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) ว่าด้วยเศรษฐีกรุงพาราณสีผู้หวังดี ชักชวนให้ดาบสพระโพธิสัตว์ สละเพศนักบวชออกมาเป็นผู้ครองเรือนบริโภคกามเช่นตน ว่า

“ข้าแต่ท่านวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงินและโภชนาหารบริบูรณ์ เป็นเรือนที่มีความสุข ท่านบริโภคและดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวายก็ได้นอน”

เมื่อวัจฉนขดาบสได้ฟังแล้ว จึงกล่าวชี้แจงให้เศรษฐีได้เห็นโทษภัยของฆราวาส คือผู้ครองเรือน ว่า

“บุคคลผู้เป็นฆราวาสไม่มีมานะทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีด้วยแสนยากเล่า”

วัจฉนขดาบส น่าจะเป็นตนเดียวกับฤๅษีวัจนัขตามความในโคลงภาพฤๅษีดัดตนบทนี้

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากโคลงในชุดโคลงภาพฤๅษีดัดตนหลายบท แสดงให้เห็นว่าตามความรับรู้ของคนรุ่นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บรรดาพระฤๅษีย่อมมีถิ่นพำนักอยู่ในป่า บริโภคเฉพาะแต่ผลหมากรากไม้ที่หามาได้ ดังนั้น ประเด็นที่กล่าวถึงในโคลงจึงมักระบุถึงถิ่นที่อยู่อาศัยและกิจกรรมการตระเวนเก็บของป่ามาขบฉันเป็นภัตตาหารเป็นหลัก ส่วนโคลงบทนี้ขยายความต่อไปถึงวัตรปฏิบัติของเหล่าฤๅษี (ตามความเข้าใจของคนไทย) อีกประการหนึ่ง คือการบูชาไฟ (“นอบนบเพลิงเปล่งเปลว”) ซึ่งกระทำเป็นประจำสม่ำเสมอ (“ค่ำเช้า”)

อีกข้อหนึ่งคือ คำว่า “ตะคาก” ในที่นี้เป็นศัพท์โบราณ หนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) พจนานุกรมยุคต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อธิบายว่า “คือกระดูกเหมือนเชิงกราน, ที่สำหรับต่อกันกับบั้นเอวนั้น.” นอกจากนั้นยังเก็บไว้ในคำ “หัวตะคาก” อีกครั้งหนึ่งด้วยว่า “คือกระดูกที่ท้องน้อย, มันติดต่อกับกระดูกต้นขานั้น.”

ล่าสุด “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔” ยังคงเก็บทั้งสองคำนี้ไว้ว่า “ตะคาก” หมายถึง “แง่กระดูกเชิงกรานที่อยู่ใต้บั้นเอว, หัวตะคาก ก็เรียก.”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ