๏ พระมโนชสำนักด้าว ดงยูง ยางแฮ
จิตรพรั่นหวั่นหวาดฝูง มฤคร้าย
กำเริบโรคขบสูง สังเวช องค์เอย
นั่งดัดหัดถ์ขวาซ้าย นบเกล้าบริกรรมฯ

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๑๕) มโนช

(ถอดความ) ฤๅษีมโนช ผู้พำนักอยู่ในป่าดง บังเกิดความหวาดกลัวฝูงสัตว์ร้าย จนโรคปวดศีรษะกำเริบขึ้นอย่างน่าสังเวช ท่านจึงบริกรรม นั่งยกมือขึ้นประนมเหนือศีรษะ ดัดมือซ้ายมือขวาเช่นนี้

ใน “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง เมื่อพระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงเกิดข้อสงสัยว่าการประพฤติทาน หรือการถือพรหมจรรย์ อย่างใดจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ด (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย)

“ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”

กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม หรือยังอยู่ใน “กามภูมิ” พระอินทร์จึงยกตัวอย่างฤๅษีเหล่านี้ในฐานะของท่านผู้ “ก้าวล่วง” ข้ามพ้นฉกามาพจรไปสู่พรหมโลกแล้ว

นาม “มโนช” ในที่นี้ ควรหมายถึงมโนชวฤๅษี เพราะใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ยังปรากฏนามฤๅษีตนอื่นๆ ในชุดฤๅษีทั้งเจ็ดจาก “เนมิราชชาดก” อีก

ส่วนคำว่า “มฤค” ตามปรกติแปลว่า “เนื้อ” หมายถึงกวาง แต่ในตำรา “คำฤษฎี” (พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส / สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร / พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์) อธิบายว่า “พาลมฤคร้าย” หมายถึงราชสีห์และเสือโคร่ง

“ฝูงมฤคร้าย” ตามความในโคลงบทนี้จึงย่อมมีความหมายดุจเดียวกัน คือราชสีห์และเสือ ตามที่ช่างเขียนแสดงไว้สองข้างรูปพระฤๅษีนั่นเอง


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ