เมื่อปี ๒๔๕๖ ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระยาพิศณุประสาตรเวช (คง ถาวรเวช ๒๓๙๖–๒๔๕๗) หัวหน้าแพทย์หลวงยุครัชกาลที่ ๕ ผู้เรียบเรียงหนังสือชุด“ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” ได้จัดพิมพ์หนังสือ “แผนตำราหมอนวดและฤๅษีดัดตน” ขึ้น มีรูปประกอบเป็นภาพวาดฤๅษีดัดตนชุดใหม่ ๖๓ ท่า พิมพ์สอดสีอย่างประณีตงดงาม น่าเสียดายที่มิได้ระบุนามช่างผู้วาดภาพต้นฉบับไว้

ท่านเจ้าคุณให้อรรถาธิบายในคำนำว่า “อนึ่งเห็นว่าตำหรับฤๅษีดัดตนก็เปนตำหรับหมอนวดอย่างหนึ่ง จึงได้นำมาลงพิมพ์ในท้ายเล่มนี้” หมายความว่าในวงการแพทย์ฝ่ายไทยได้นับเนื่องเอาฤๅษีดัดตนเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหมอนวด หรือ “นวดไทย” มาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

ตามรอยฤๅษีดัดตน (7) – สู่การตีพิมพ์

หนังสือเล่มนี้ของพระยาพิศณุประสาตรเวชอันมีภาพประกอบพร้อมสรรพ จึงกลายเป็นต้นธารการเผยแพร่ความรับรู้เรื่องฤๅษีดัดตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เช่นเมื่อมีการสร้างอุโบสถวัดกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในปี ๒๔๖๕ ปลายรัชกาลที่ ๖ ช่างเขียนได้คัดลอกภาพชุดฤๅษีดัดตนตามหนังสือ “แผนตำราหมอนวดและฤๅษีดัดตน”ไปวาดแทรกไว้เป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทำนองเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่สาธุชนที่ได้พบเห็น

หลังจากนั้นภาพในตำราฤๅษีดัดตนของท่านเจ้าคุณยังถูกคัดลอกเป็นลายเส้น แล้วนำไปตีพิมพ์ซ้ำโดยไม่ระบุต้นทางที่มา เช่นพบว่ามีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐

ส่วนการตีพิมพ์โคลงฤๅษีดัดตนตามศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนนั้น ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต กรุณาแนะนำว่า ครั้งแรกสุดเท่าที่พบขณะนี้ น่าจะเป็นในหนังสือ “มิวเซียม ฤๅ รัตนโกษ” สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ แต่ฉบับที่ทำให้ข้อมูลเรื่องนี้แพร่หลายกว้างขวาง คือเมื่อมีการจัดพิมพ์หนังสือชุด “ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน” สองเล่มจบ ในงานพระศพพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เมื่อปี ๒๔๗๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยเล่ม ๑ เป็นจารึกประเภทความเรียง คือร้อยแก้ว และเล่ม ๒ เป็นประเภทบทกลอน คือร้อยกรอง อันมีโคลงภาพฤๅษีดัดตนรวมอยู่ด้วย

จากนั้นในปี ๒๕๐๔ เมื่อมีการจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพคุณแม่ชม แจ้งคำขำ ชื่อ “จารึกวัดพระเชตุพน ตอนโคลงภาพฤๅษีดัดตน” ได้ใช้ต้นฉบับโคลงของเดิมจากฉบับพิมพ์ปี ๒๔๗๒ แต่วาดภาพประกอบทั้งหมดใหม่ โดยคุณอุบล อุปลกะลิน นักวาดภาพโฆษณาชื่อดังแห่งยุค ผู้ใช้นามปากกา Chubby (“ชับบี้” แปลว่า จ้ำม่ำหรือตุ๊ต๊ะ) นับเป็นภาพฤๅษีดัดตนฉบับลายเส้นสมัยใหม่

ภาพชุดนี้เองเมื่อมีผู้ไปขออนุญาตจัดพิมพ์ “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” จากกรมศิลปากร จึงกลายเป็นต้นแบบพิมพ์ซ้ำๆ กันต่อมาอีกหลายสิบปี โดยไม่เคยมีการให้เครดิตกับ “ชับบี้” อีกเลย

ส่วนครั้งแรกที่มีการตีพิมพ์ภาพลายเส้นพร้อมคำโคลง “โคลงภาพฤาษีดัดตน” จากต้นฉบับสมุดไทยดำของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เข้าใจว่าเพิ่งเมื่อคราวงานพระราชทานเพลิงศพ นางทองพูน พึ่งสุนทร [คุณแม่ของอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี)] เมื่อปี ๒๕๓๓


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ