ตามรอยฤๅษีดัดตน (๑๐) – เฉกเช่นโอสถทาน ท่านให้

โคลงสองบทสุดท้ายของส่วน “บานแพนก” (คำนำ) กล่าวถึงขั้นตอนหลังการหล่อรูปฤๅษีดัดตน และจบลงด้วยพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

๏ เสร็จเขียนเคลือบภาคพื้น ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย นามทั่ว องค์เอย
จารึกแผ่นผาพร้อม โรคแก้หลายกลฯ

(ถอดความ) เมื่อหล่อสำเร็จแล้วจึงให้เขียนสีเป็นผิวเนื้อ นำไปตั้งไว้ตามศาลารายทุกหลังโดยรอบเขตพุทธาวาส วัดพระเชตุพนฯ (โคลงออกนามว่า “เชตวัน” ตามนามพระอารามครั้งพุทธกาล) พร้อมกับให้มีศิลาจารึกกำกับว่าเป็นฤๅษีนามใดและท่านั้นใช้บำบัดโรคใดบ้าง

โคลงบทนี้น่าสนใจมาก เพราะระบุชัดเจนว่ารูปฤๅษีดัดตนแต่เดิมเคย “เขียนเคลือบภาคย์พื้น ผิวกาย” หมายความว่า เมื่อผ่านขั้นตอนการหล่อ และขัดแต่งผิวโลหะเรียบร้อยแล้ว ยังมีการระบายสีผิวเนื้อ (รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม) ด้วย เพราะโดยขนบนิยมงานช่างไทยย่อมไม่ปล่อยพื้นผิววัสดุไว้ตามธรรมชาติ แต่มักเลือก “จบงาน” ด้วยกรรมวิธีตกแต่งอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการระบายสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก หรือประดับมุก หากแต่ภาพฤๅษีดัดตน วัดพระเชตุพนฯ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นตา คือมีผิวเป็นสีเทาขาวทั้งองค์ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นเมื่อสีที่เคยทาไว้เดิมชำรุดหลุดล่อนไปหมด โดยเฉพาะในระยะหลัง เมื่อถูกนำมาตั้งตากแดดตากฝนกลางแจ้ง จนกลายเป็นสีสนิมขาว

ในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ สมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ “รูปมนุษย์นานาภาษา” คือคนชาติต่างๆ ๓๒ ภาษา ทำด้วยสังกะสีผสมกับดีบุกเช่นเดียวกับรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ตามเฉลียงศาลารายทั้ง ๑๖ หลัง ศาลาละสองรูป พร้อมด้วยโคลงจารึกลงแผ่นศิลาประจำรูป “บอกชื่อบอกชาติตามนานาเพศ” เท่ากับว่าในศาลาแต่ละหลัง มีทั้งรูปฤๅษีดัดตนพร้อมด้วยศิลาจารึกอยู่ที่เฉลียงด้านหลัง ศาลาละ ๔-๕ ตน กับรูปคนชาติต่างๆ ซึ่งมีศิลาจารึกกำกับเช่นกัน ตั้งไว้ปลายเฉลียงด้านข้างทั้งสองด้าน อีกศาลาละสองรูป

๏ เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น    สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน    ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร    สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียรติยศไว้    ตราบฟ้าดินศูนย์ฯ

(ถอดความ) เพื่อประโยชน์แก่ผู้คนทั้งหลาย เปรียบประดุจทรงทำทานด้วยยา อันเป็นการเพิ่มพูนพระราชสมภารบารมี ให้ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล จึงขอประกาศพระเกียรติยศนี้ไว้ตราบสิ้นดินฟ้า

หลังจากจบส่วน “บานแพนก” แล้ว จากนั้นจึงเริ่มต้นโคลงประกอบภาพฤๅษีแต่ละตน แต่ละบทระบุนามพระฤๅษี (บางตนอ้างถึงประวัติความเป็นมาด้วย) ท่าดัดตน และสรรพคุณของท่า พร้อมทั้งระบุนามผู้ประพันธ์โคลงบทนั้นไว้ด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นิพนธ์โคลงประกอบภาพฤๅษีดัดตน ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ขุนนางข้าราชการ และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์แห่งยุคสมัย ที่ทรงขอแรงให้มาช่วยกันร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งนี้


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ