๏ มิคาชินทร์มักไต่เต้า      เตร่เตร็จ
ล้มพลาดแพลงแคลงเคล็ด       ขอดเส้น
กัดแก้กอปกละเม็ด      นั่งแบะ บาทเฮย
เข่าหนึ่งชนมือเน้น      นวดเส้นขยำคลำฯ

พระราชนิพนธ์

mikachin

(ถอดความ)ฤๅษีมิคาชินทร์เที่ยวเดินเตร็ดเตร่ไปมา พลาดหกล้มข้อเท้าแพลง ดัดร่างกายท่านี้เพื่อรักษาอาการ โดยนั่งชันเข่าขึ้นข้างหนึ่ง แล้วใช้มือนวดเฟ้นตรงหน้าแข้ง

ใน “มหาชนกชาดก” ฤๅษีมิคาชินทร์ หรือมิคาชินดาบส เป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ถวายโอวาทแก่พระมหาชนกเมื่อตัดสินพระทัยสละราชสมบัติออกผนวช โดยมาซักถามสาเหตุแห่งการออกบวช ว่าเป็นเพราะมีผู้หนึ่งผู้ใดในบรรดาชาวเมืองหรืออำมาตย์ กระทำผิดให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระทัยอย่างใดหรือไม่ พระมหาชนกตรัสตอบว่ามิได้มีเหตุเช่นนั้น แล้วจึงกล่าวแก่ฤๅษีมิคาชิน (อ้างอิงตาม “พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒” ฉบับของมหามกุฎราชวิทยาลัย) ดังนี้

“ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้าเห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสขบกัด ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่แล้วในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นอันมากย่อม ถูกประหารและถูกฆ่าในเพราะกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้จึง ได้บวชเป็นภิกษุ”

มิคาชินะจึงถามต่อไปอีกว่า ที่พระมหาชนกทรงทราบเช่นนั้น ท่านผู้ใดเป็นผู้สั่งสอน

พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า มิได้มีผู้ใดสั่งสอนเลย หากแต่ที่ตัดสินพระทัยออกผนวชครั้งนี้ เป็นเพราะได้เห็นต้นมะม่วงสองต้นในพระราชอุทยาน หรืออาจกล่าวได้ว่าต้นมะม่วงนั้นเองเป็นผู้สั่งสอน

“ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นรุ่งเรืองด้วยสิริ ไปยังพระราชอุทยานด้วยอานุภาพใหญ่ เมื่อเจ้าพนักงานกำลังขับเพลงขับและประโคมดนตรีกันอยู่ ข้าพเจ้าได้เห็นมะม่วงมีผลภายนอกกำแพงพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยเสียงดนตรี พร้อมแล้วด้วยคนร้องและคนประโคม ข้าพเจ้าละต้นมะม่วงอันมีสิรินั้นซึ่งเหล่ามนุษย์ผู้ต้องการผลฟาดตีอยู่ ลงจากคอช้างเข้าไปโคนต้นมะม่วง ซึ่งมีผลและไม่มีผล เห็นต้นมะม่วงที่มีผลถูกคนเบียดเบียนกำจัดแล้ว ปราศจากใบและก้าน แต่มะม่วงอีกต้นหนึ่งมีใบเขียวชอุ่มน่ารื่นรมย์ ศัตรูทั้งหลายจักฆ่าพวกเราผู้มีอิสระ มีศัตรูดุจหนามเป็นอันมาก เหมือนต้นมะม่วงมีผล ถูกคนหักโค่นฉะนั้น เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน ผู้ไม่มีสันถวะคือตัณหา มะม่วงต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทั้งสองต้นนั้นเป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า”

มิคาชินดาบสได้ฟังแล้วจึงถวายโอวาทแก่พระมหาชนกว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาบพิตร ครั้นแล้วก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ