๏ พระไชยาทิศเชื้อ      ชฎิลดง
ลมเสียดเส้นสเอวองค์      ขดค้อม
นั่งสมาธิถวัดวง      กรเวียด เอวแฮ
เหยียดหัตถ์ดัดตนน้อม      เหนี่ยวแก้สกลกายฯ

ออกญาโชฎึกราชเศรษฐี

ตามรอยฤๅษีดัดตน ตอนที่ 71 - ไชยาทิศ

(ถอดความ)ไชยาทิศเป็นฤๅษีอยู่ในป่า เกิดลมเอว ทำให้ร่างกายขดค้อม ท่านจึงนั่งขัดสมาธิ ตวัดแขนเป็นวง แล้วเหยียดแขนดัดตน เพื่อแก้ลม

แม้ยังค้นไม่พบฤๅษีนามนี้ในวรรณคดีเรื่องใด แต่ในพระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้าง (พิมพ์รวมไว้ใน “ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑”) ออกนามเจ้าพนักงานสองคนอันมีนามคล้องจองเป็นคู่กัน ได้แก่ขุนศรีไชยาทิตย์ กับขุนสิทธิกรรม ว่า

“ทีนี้จะว่าด้วยอย่างพระภูษาวรรณวิไลพัตร์ อันสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าทรงมาแต่ก่อนนั้น มีอยู่ ๔ อย่าง ถ้าเจ้าพนักงาน คือขุนศรีไชยาทิตย์ ขุนสิทธิกรรม จะเรียนนั้น ให้มีขวัญข้าว คือ บายศรีใบตองแห้งชั้นเดียวหนึ่ง ปลาช่อนต้มตัวหนึ่ง กับน้ำพริกถ้วยหนึ่ง คำนับครูแล้วจึ่งให้บอกกัน”

เนื่องจากนามของฤๅษีที่ถูกคัดเลือกมาใช้เป็น “ผู้แสดงแบบ” ท่าดัดตน มีเป็นจำนวนมากซึ่งคัดเลือกมาจากตำราวิชาคชศาสตร์คชกรรม คือการจับช้างบังคับช้าง จึงเป็นไปได้ที่ราชทินนามชุดคู่คล้องจองของข้าราชการทั้งสองดังกล่าวจะมีที่มาจากนามฤๅษีสองตนอันเกี่ยวเนื่องด้วยวิชาคชกรรม คือ ไชยาทิศ และสิทธิกรรม ดังที่ในลำดับถัดไปของ “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ก็เป็นฤๅษีสิทธิกรรมนั่นเอง

น่าสังเกตว่าบรรดานักปราชญ์ราชกวีผู้แต่ง “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” เลือกสรรถ้อยคำต่างๆ มาใช้เรียกเหล่าฤๅษี ทั้งภาษาสันสกฤต บาลี และคำไทยๆ ได้แก่ ฤๅษี (ผู้เห็น ในรูปคำภาษาสันสกฤต) อิษี (อิสิ ผู้เห็น ตามรูปคำภาษาบาลี) ดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะ) นักสิทธิ์ (ผู้สำเร็จ) โยคี (ผู้ปฏิบัติโยคะ) ชฎิล (ผู้มีมุ่นผมเป็นชฎา) ปริพาชก (ผู้ท่องเที่ยวไป หรือผู้จาริกไป) และชีดง (นักบวชผู้อยู่ในป่า)

แม้คำเหล่านี้แต่เดิมอาจมีความหมายแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดถูกนำมาใช้แทน “ฤๅษี” คงด้วยในฐานะเป็น “กวีโวหาร” ที่ผู้ประพันธ์ต้องแสดงภูมิรู้ ด้วยการสรรหาศัพท์แปลกหรือคำเก่าต่างๆ มาใช้ให้ไม่ซ้ำกัน


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ