๏ ชฎิลดัดตนนี้น่า นึกเอะ ใจเอย
ชี้ชื่อสังปติเหงะ หง่อมง้อม
ถวัดเท้าท่ามวยเตะ ตึงเมื่อย หายฮา
แก้กะเอวขดค้อม เข่าคู้โขยกโขยงฯ

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๑๒) สังปติเหงะ

(ถอดความ) น่าประหลาดใจว่าฤๅษีสังปติเหงะผู้แก่ชรา ยังสามารถตวัดเท้าเตะท่ามวยได้ ท่านี้ใช้บำบัดอาการเมื่อยขบ และแก้เอวคดเข่าคู้

สังปติเหงะ/สังปะลิเหงะ เป็นนามพระฤๅษีจากบทละครเรื่อง “อิเหนา”ผู้เป็นที่นับถือแห่งบรรดากษัตริย์วงศ์เทวัญ ท่านมีอาศรม หรือที่ศัพท์วรรณคดีไทยมักเรียกว่า “บรรณศาลา” อยู่ ณ ยอดเขากุหนุงปะราปี เช่นที่กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่อง ว่ายังมีระตู (กษัตริย์) สามพี่น้องอีกวงศ์หนึ่ง (คนละวงศ์กับอิเหนา) องค์พี่ครองเมืองปันจะรากัน องค์กลางครองนครปักมาหงัน ส่วนองค์สุดท้อง คือระตูบุศสิหนา เพิ่งเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับนางดรสา หลังเสร็จงานแต่งงาน ระตูทั้งสามจึงเดินทางกลับเมือง ระหว่างนั้น

๏ มาถึงเนินทรายชายทุ่ง
เชิงกุหนุงปะราปีภูผา
พระแลไปบนยอดบรรพตา
เห็นบรรณศาลาก็ยินดี
จึงตรัสชวนอนุชาชาญชัย
จะแวะขึ้นไปไหว้พระฤๅษี
พลางสั่งให้หยุดโยธี
แทบที่แนวน้ำลำธาร
ทั้งสามองค์ลงจากราชรถ
พร้อมทศโยธาทวยหาญ
ไม่ทรงสีวิกามาศราชยาน
เสด็จเดินไปสถานพระสิทธา ฯ
๏ ถึงบริเวณวงที่จงกรม
พ่างพื้นรื่นร่มด้วยพฤกษา
จึงเข้าไปในบรรณศาลา
ต่างถวายวันทาพระมุนี ฯ
๏ เมื่อนั้น
องค์สังปะติเหงะฤๅษี
เห็นสามทรงธรรม์มาอัญชลี
พระมุนีจึงปราศรัยไป
ดูราบรมบพิตร
มีกิจกังวลเป็นไฉน
ยกพยุหโยธาคลาไคล
มาไยในอรัญกันดาร
อันนิเวศน์เขตขอบบุรีรัตน์
ยังไพบูลย์พูนสวัสดิ์เกษมศานต์
หรือเกิดเหตุเภทภัยพ้องพาน
จึงละราชฐานบ้านเมืองมา ฯ

ฤๅษีสังปะติเหงะหรือสังปะลิเหงะยังเป็นผู้รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้แก่นางบุษบา พร้อมกับรดน้ำมนต์ให้อิเหนาด้วยในคราวเดียวกัน


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ