ตามรอยฤๅษีดัดตน (๑๖) สุขวัฒน์
๏ เอนกายกรกดเท้า      พักตร์เหิน หาวแฮ
หายที่ซ่นลมเดิร     ขัดข้อง
นามอิษีสุขวัฒน์เจริญ      ฌานเกิด ไผ่ฤๅ
โลกเรียกษีสุขพ้อง      ชื่อผู้เจริญฌาน

กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

(ถอดความ) ท่าเอนตัว เอามือกดเท้า แหงนหน้าขึ้นฟ้า ใช้แก้ลมส้นเท้าที่ขัดข้องให้เดินสะดวก ท่านคือฤๅษีสุขวัฒน์ผู้บำเพ็ญฌานแล้วบังเกิดต้นไผ่ชนิดหนึ่งขึ้น จึงเรียกกันว่า “ไผ่สีสุก” ตามนามของท่าน

คำว่า “อิสิ” (หรือในที่นี้สะกด “อิษี”) เป็นคำภาษาบาลี คำเดียวกับ “ฤๅษี” ในภาษาสันสกฤต ดังนั้น “อิษีสุขวัฒน์” ตามโคลงบทนี้จึงหมายถึงฤๅษีผู้มีนามว่า “สุขวัฒน์” นั่นเอง

ในหนังสือ “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” กล่าวถึงเรื่องฤๅษีสุขวัฒน์กับไผ่สีสุก ไว้ในอวตารปางที่ ๔ มหิงสาวตาร ว่า

“ยังมีพระฤๅษีตนหนึ่ง มีนามชื่อ ฤๅษีสุขวัฒน บำเพ็ญพรตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ มีต้นไม้ไผ่ต้นหนึ่งสูงครอบหลังคาอาศรม ฤๅษีสุขวัฒนจึ่งเอาไม้ไผ่ลำนั้นขึ้นไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึ่งหักไม้นั้นเป็นสองท่อนทิ้งลงมา ท่อนปลายนั้นจึ่งบังเกิดเป็นกระบี่ คือ ชามภูวราช ต้นนั้นเกิดเป็นยักษ์ชื่อ อสุรเวรำ เป็นต้นโคตรต่างมารดาของทศกัณฐ์…แลไม้ไผ่นั้นจึ่งได้มีปรากฏอยู่ว่าไม้ไผ่ฤๅษีสุขจนตราบเท่าทุกวันนี้”

ส่วนเรื่องที่ท่าน “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ ตรี นาคะประทีป ๒๔๓๒ – ๒๔๘๘) ค้นมาได้ และเล่าไว้ในหนังสือ “สมญาภิธานรามเกียรติ์” นั้น มีรายละเอียดเพิ่มเติม คือกล่าวว่าระหว่างที่ฤๅษีสุขวัฒนบำเพ็ญพรตอยู่เชิงเขาไกรลาส เกิดไผ่ต้นหนึ่งขึ้น ยอดสูงเสมอเขาไกรลาส ฤๅษีจึงนำไปถวายพระอิศวร พระอิศวรให้นำไปทำเป็นคันธนู แต่เมื่อทรงลองโก่งดู คันธนูกลับหักเป็นสองท่อน พระอิศวรจึงโยนทิ้งลงบนพื้น ครึ่งบนเกิดเป็นอสูรเวรัมภ์ ครึ่งล่างกลายเป็นพญาวานรนิลเกสร อันเป็นต้นวงศ์ของยักษ์และลิง ที่ภายหลังจะรบราฆ่าฟันกันในเรื่อง “รามเกียรติ์”

ตอนท้ายสรุปความอย่างเดียวกันกับเรื่องที่เล่าไว้ใน “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” คือต่อมา ไผ่ชนิดนั้นจึงได้รับนามว่า “ไผ่สีสุก” ตามนามพระฤๅษีสุขวัฒน

ช่างผู้เขียนภาพจึงตั้งใจวาดกอไผ่เล็กๆ ไว้ข้างพระฤๅษี ตรงตามตำนานนี้ด้วย


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ