๏ เหยียดหัดถ์ดัดนิ้วนั่ง ชันเพลา
แก้เมื่อยขัดแขนเบา โทษได้
ยาคะรูปนี้เอา ยาชื่อ ใส่เฮย
ผสมสี่นักสิทธิ์ให้ ชื่ออ้างอยุทธยาฯ

กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ตามรอยฤๅษีดัดตน (19) - ยาคะ

(ถอดความ) ท่าเหยียดแขนดัดนิ้ว พร้อมกับนั่งยกขาชันเข่าเช่นนี้ ใช้แก้ลมที่ทำให้เมื่อยขัดแขน แสดงแบบโดยยาคะ ผู้เป็นที่มาของ “ยา” ซึ่งเมื่อผสมรวมชื่อฤๅษี (นักสิทธิ์) ทั้งสี่แล้วจึงได้เป็นนามกรุงอยุธยา

ตอนต้นบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงพระอิศวรมีบัญชาให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองถวายเทวราชกุมารในชมพูทวีป พระอินทร์จึงเสด็จลงมา

๏ ครั้นถึงทวีปชมพู
ก็พิศดูไปทั่วทิศา
จึงเห็นในเบื้องบูรพา
ภูมิพื้นพสุธาชอบกล
มีมหานักสิทธ์สี่องค์
ทรงพรตบริกรรมจําเริญผล
หยุดหมู่เทวาพวกพล
ลงจากช้างต้นก็เข้าไป ฯ
๏ เคารพนบนอบพระอาจารย์
ยอกรมัสการแล้วปราศรัย
พระองค์สร้างพรตอยู่ในไพร
ช้านานมาได้สักกี่ปี
บำเพ็ญภาวนารักษาฌาน
แผ่พรหมวิหารทั้งสี่
ยังค่อยเป็นสุขสวัสดี
มีนามชื่อไรพระสิทธา ฯ

เหล่าฤๅษีจึงตอบว่าพวกตนบำเพ็ญตบะมาถึง ๑ แสนปีแล้ว และมีนามได้แก่ อัจนะคาวี-ยุทอักขระ-ทหะ-ยาคะ
เมื่อพระอินทร์แจ้งข่าวว่าพระอิศวรให้มาสร้างเมือง ฤๅษีทั้งสี่จึงขอให้นำพยางค์ต้นของชื่อตน ได้แก่ อัจนะคาวี (อะ) ยุทอักขระ (ยุท) ทหะ (ธะ) และยาคะ (ยา) รวมเข้ากับชื่อของป่าทวาราวดีที่ตรงนั้น ใช้เป็นนามกรุง คือ “ทวาราวดีศรีอยุธยา” นครของพระรามในบทละคร “รามเกียรติ์”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ