ตามรอยฤๅษีดัดตน (21) - วิสุทธ
 เสลขกามนามวิสุทธก้อง     ไตรภพ
องค์แอ่นแหงนพักตร์ขบ    ขเม่นฟ้า
กลับแขนกดขาทบ     เน้นนิ่ง อยู่นา
ลมเสียดสารพางค์กล้า     ดับด้วยดัดเองฯ

พระมุนีนายก

(ถอดความ) ฤๅษีวิสุทธผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปในสามโลก (ไตรภพ) นั่งแอ่นตัว แหงนหน้ามองดูท้องฟ้า พลิกแขนมากดขานิ่งไว้ ท่านี้ใช้ดัดแก้ลมทั่วทั้งร่างกายได้ด้วยตนเอง

ฤๅษีวิสุทธ/วิสูต มาจากบทละคร “รามเกียรติ์”บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ตอนกำเนิดนางมณโฑ ว่ายังมีฤๅษีสี่ตน นามว่าอตันตา วชิรา วิสูต และมหาโรมสิงค์ ปลูกบรรณศาลาเคียงกันอยู่เชิงเขาหิมพานต์ บำเพ็ญตบะมาถึง ๓ หมื่นปี

๏ มีนางโคนมห้าร้อย
ปละปล่อยอยู่ในไพรสัณฑ์
ครั้นเช้าก็เข้ามาทุกวัน
ยังบรรณศาลาพระนักพรต ฯ
๏ หยดนมลงไว้ในอ่างแก้ว
เสร็จแล้วก็เที่ยวไปหมด
ถึงเวลาฉันโครส
พระดาบสก็ชวนกันมา ฯ
๏ สี่องค์นั่งเป็นอันดับกัน
ฉันนมเหนืออาสน์แผ่นผา
ให้ทานนางกบเป็นอัตรา
ด้วยความเมตตาปรานี ฯ

ทุกเช้าจะมีฝูงแม่โค ๕๐๐ ตัว มาหยดน้ำนมใส่อ่างแก้วไว้ถวาย เมื่อฤๅษีมาฉันน้ำนมมักป้อนให้นางกบตัวหนึ่งกินเป็นทานเสมอ วันหนึ่งขณะที่ฤๅษีทั้งสี่เดินออกป่าหาผลไม้ พบธิดาพญานาคสมสู่กับงูดิน จึงใช้ไม้เท้าเคาะสะกิดเตือนนางนาคให้สำนึกตนว่า เป็นนาคมีชาติตระกูล ไม่สมควรกระทำเยี่ยงนี้ นางนาคผูกใจเจ็บ ย้อนไปคายพิษไว้ในอ่างนมของฤๅษี

นางกบเห็นเข้า ด้วยความกตัญญูจึงสละชีวิต กระโจนลงลอยตายอยู่ในอ่างน้ำนมพิษ ฤๅษีกลับมาเห็นเข้า จึงชุบชีวิตขึ้นมาสอบถาม (แสดงว่าฤๅษีสื่อสารภาษากบได้) ว่าพวกเราป้อนนมให้กินทุกวันแล้ว เจ้าก็ไม่ควรที่จะอดอยาก เหตุใดจึงตะกละตะกรามเยี่ยงนี้ เมื่อนางกบเล่าความจริงให้ฟัง ฤๅษีเกิดเมตตาในความกตัญญู ทั้งสี่ คืออตันตา วชิรา วิสูต และมหาโรมสิงค์ จึงร่วมกันประกอบพิธีชุบนางกบขึ้นมาให้เป็นนางมนุษย์โฉมสคราญ แล้วขนานนามว่านางมณโฑ (มาจากรากศัพท์ มณฑก ที่แปลว่า กบ) ต่อมาคือพระมเหสีของทศกัณฐ์ เจ้ากรุงลงกา


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ