๏ ฤๅษีวชิรรู้ศาสตร สฤษฎิกาย กบแฮ
ชื่อเทพมณโฑชาย มากชู้
แก้ลมเข่าขาตาย ตึงเมื่อย มึนเอย
เท้าหัดถ์ชันเข่าคู้ ท่าแม้นลม้ายสิงห์ฯ

หลวงชาญภูเบศร์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (22) วชิร

(ถอดความ) ฤๅษีวชิรเป็นผู้มีวิชา ชุบกบขึ้นเป็นนางมณโฑ หญิงมากชู้ ท่านี้ใช้แก้ลมเข่าขาตาย เมื่อยตึง โดยนั่งชันเข่า สอดแขน (เข้าไปใต้เข่า) เอามือเท้ายันมาทางด้านหน้า เหมือนกับท่านั่งของสิงห์

ฤๅษีวชิรา/วชิร กับเรื่องที่กล่าวถึงในโคลงบทนี้ มาจากบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ตอนกำเนิดนางมณโฑ ว่ายังมีฤๅษีสี่ตน นามว่าอตันตา วชิรา วิสูต และมหาโรมสิงค์ ปลูกบรรณศาลาเคียงกัน ณ เชิงเขาหิมพานต์ บำเพ็ญตบะได้ ๓ หมื่นปี ทุกเช้าจะมีฝูงแม่โค ๕๐๐ ตัว มาหยาดน้ำนมใส่อ่างแก้วไว้ถวาย ถึงเวลาฤๅษีมาฉันน้ำนม มักป้อนให้นางกบตัวหนึ่งกินเป็นทานเสมอ วันหนึ่งขณะที่ฤๅษีทั้งสี่ออกป่าหาผลไม้ พบธิดาพญานาคสมสู่กับงูดิน จึงใช้ไม้เท้าเคาะสะกิดเตือนนางนาคให้สำนึกตนว่าเป็นนาคมีชาติตระกูล ไม่สมควรกระทำเยี่ยงนี้ นางนาคผูกใจเจ็บ ย้อนไปคายพิษใส่ในอ่างน้ำนมของฤๅษี นางกบเห็นเข้า ด้วยความกตัญญูจึงสละชีวิต กระโจนลงอ่างน้ำนมพิษจนตาย ฤๅษีกลับมาเห็นเข้าจึงคีบขึ้นมา แล้วชุบชีวิตให้ ก่อนจะซักถามว่าทั้งที่ป้อนนมให้กินอยู่ทุกวัน เหตุใดจึงตะกละตะกรามเช่นนั้น

๏ มาถึงพื้นแผ่นศิลาลาด
ขึ้นนั่งยังอาสน์ที่เคยฉัน
เห็นมณฑกตกม้วยชีวัน
พระนักธรรม์ก็คิดรังเกียจไป
กบนี้มันชาติเดียรฉาน
โลภอาหารล้นพ้นวิสัย
แต่ให้ยังไม่หนำใจ
ลงกินในอ่างจนวายชนม์
แม้นจะไม่ช่วยชีวิต
จะเสียเมตตาจิตจำเริญผล
คิดแล้วฤาษีทั้งสี่ตน
คีบขึ้นเป่ามนต์ก็เป็นมาฯ

เมื่อนางกบเล่าที่มาที่ไปให้ฟัง ฤๅษีนึกเมตตาในความกตัญญู จึงชุบให้มีร่างเป็นสตรีเลอโฉม แล้วตั้งชื่อให้ว่านางมณโฑ ต่อมาเป็นชายาของทศกัณฐ์

จากกลอนบทละคร จะเห็นว่าบางครั้งแทนคำว่า “กบ” ด้วยศัพท์ “มณฑก” (อ่านว่า มน-ทก) อันเป็นรากศัพท์ของนาม “มณโฑ” นั่นเอง ในภาพ ช่างจึงวาดภาพกบไว้ข้างๆ พระฤๅษี ให้เห็นเป็นจริงเป็นจังตามเนื้อเรื่องตอนนี้ด้วย นับเป็นตัวอย่างภาพ “กบ” ในงานจิตรกรรมไทย ซึ่งมีปรากฏให้เห็นไม่บ่อยนัก


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ