เรื่องและภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

3 ทศวรรษนักสู้ดงมะไฟ ชัยชนะและความตายที่ยังไม่มีคำตอบ

หนึ่งใน MOU 23 ข้อของการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 8 พรรค ที่แถลงเมื่อบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 คือข้อ 11 ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

แต่อีกมุมหนึ่งของปัญหาที่ MOU ยังไม่ได้พูดถึง คือความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่ต้องการปกปักรักษาผืนป่าหรือธรรมชาติในท้องถิ่นบ้านเกิด จนหลายครั้งที่ต้องสูญเสียชาวบ้านนักอนุรักษ์ไปในระหว่างการต่อสู้

สารคดีชวนผู้อ่านมารำลึกถึงเส้นทางกว่า 3 ทศวรรษของชาวบ้านดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู กับการปกป้องผืนป่าจากการทำเหมืองแร่หิน

dongmafai04
dongmafai05
dongmafai06

บ่ายวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566

ไม่กี่ชั่วโมงหลังอัยการศาลปกครองสูงสุด จังหวัดอุดรธานี อ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ประกอบกิจการเหมืองแร่หินเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเก่ากลอยและป่านากลาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา

คำพิพากษายืนยันสิ่งที่ชาวบ้านใช้สิทธิต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกใบอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ รวมถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการต่ออายุประทานบัตร ด้วยเหตุผลมุมมองเดียวกับศาลชั้นต้นว่าเป็นกรณีที่ยังมีเหตุความขัดแย้งกับชุมชนซึ่งไม่คลี่คลายจนถึงปัจจุบัน และมีเหตุที่ไม่น่าเชื่อว่ามีมติขององค์การบริหารส่วนตำบลเข้ามารับรองการทำเหมืองอย่างแท้จริง

นับจากชาวบ้าน 78 คน เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้อาจถือเป็นจุดสิ้นสุดบนเส้นทางการต่อสู้ในชั้นศาล แต่นั่นก็ไม่เชิง…

“กูจะกลับมาเอาคืนให้หมด”

เสียงประกาศกร้าวของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ได้ยินทั่วกัน ในวันที่หัวใจอันแห้งผากของคนสู้เหมือง ชุ่มชื่นเบ่งบานขณะเดินลงมาจากศาลปกครอง

dongmafai07
dongmafai08
dongmafai09

ปลายฤดูหนาวบนเส้นเวลายาวนาน 11 ปี

บนที่ราบ นาข้าว ไร่อ้อย สวนยาง และชุมชน แทรกอยู่ระหว่างภูเขาหินปูนตั้งตระหง่าน เดาได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ที่นี่คือทะเล

แต่หากนับย้อนไปเพียงราว 3,000 ปี ภาพเขียนสีแดงบนเพิงผาและผนังถ้ำ คือหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กลองมโหระทึก หม้อ ไห จอบ เสียม หอก ดาบ และเครื่องมือเหล็กอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ถูกค้นพบตามโพรงถ้ำใหญ่น้อยบนเขาหินปูน คือร่องรอยการอยู่อาศัย เป็นหลักฐานของเส้นทางและชุมชนโบราณ

นอกจาก เห็ด หน่อไม้ และของป่าอีกนานาชนิด ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาดูจะมีเหตุมีผลเกินพอที่คนดงมะไฟจะภาคภูมิและพร้อมวางจอบเสียมลุกขึ้นปกป้องหวงแหน

ปีที่ “หนองบัวลำภู” ตั้งขึ้นเป็นจังหวัด มีการเข้าสำรวจภูผายาในปี 2536 เพื่อขอประทานบัตรเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน

ปฐมบทความขุ่นเคืองก็เริ่มก่อรูปก่อร่างนับแต่นั้น ก่อนที่จะบานปลาย ไต่ระดับถึงจุดเดือด

.

ชาวบ้านจากหนึ่ง เป็นสอง สาม สี่ สะสมกำลังคนสู้เหมืองได้หลักร้อย แล้วความสูญเสียก็เกิดขึ้น ต่อจากนั้นเพียงไม่นาน เมื่อชาวบ้านที่เป็นกำลังหลักกลุ่มอนุรักษ์ 2 คน คือนายบุญรอด ด้วงโคตะ และนายสนั่น สุวรรณ ถูกยิงเสียชีวิตใน 2 ปีถัดมา

เมื่อเกิดการคัดค้านครั้งใหญ่ พื้นที่เป้าหมายจากภูผายาถูกเปลี่ยนมาเป็นภูผาฮวก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มีการประกาศพื้นที่เขาผาจันได ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม อีกหนึ่งปีต่อมาในปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และนายสม หอมพรมมา ผู้ประกาศตนเข้าร่วมเคียงข้างกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะถูกยิงเสียชีวิตตามมาเป็นศพที่ 3 และ 4 ท่ามกลางความโศกเศร้าของลูกเมียและเพื่อนร่วมอุดุมการณ์

ศพกำนันทองม้วนถูกบรรจุในโลงและหามขึ้นไปประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด

“เราจะไม่เผาศพกำนันทองม้วนจนกว่าเราจะชนะและได้ตัวผู้กระทำผิด” ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ประกาศ ร่างวีรชนดงมะไฟถูกโบกปูนเก็บไว้ที่ป่าช้าของชุมชนนับจากวันนั้น

ต่อมาในปี 2543 บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ได้อนุญาตประทานบัตรเหมืองหินบนภูผาฮวก เนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวด ท่ามกลางความโกรธแค้นไม่พอใจของกลุ่มผู้คัดค้าน จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาคุ้มกันการขนย้ายอุปกรณ์และเครื่องจักรของบริษัทเข้าพื้นที่ภูผาฮวก

ชาวบ้านฝ่ายคัดค้านจำนวนมากถูกหวดตีด้วยกระบองของเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บหัวร้างข้างแตก เด็กหญิงชายหลายคนที่ตามพ่อแม่ไปร่วมดูเหตุการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเตะและถีบจนกลิ้งตกลงไปในคลองน้ำและดงหนามไมยราบ

ความเกลียดชังถูกบ่มเพาะจนเข้าปี 2544 ชาวบ้านร่วม 400 คน รวมตัวคัดค้านการเข้ามาก่อสร้างในเขตพื้นที่สัมปทาน มีการกล่าวหาว่ากลุ่มผู้คัดค้านบุกเผากระท่อมคนงานจนสุดท้ายชาวบ้าน 12 คน ตกเป็นผู้ต้องหา โดยมี 2 คนที่ถูกจำคุกนานกว่า 6 เดือน

ร่างกายและวิญญาณแห่งภูผาฮวกที่ชาวบ้านเคยได้พึ่งพาหากิน ถูกฉีกกระชากออกจากแรงระเบิด

ชิ้นส่วนแห่งภูผาหินถูกบดหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นายทุนเหมืองได้ซากศพภูเขาไปกองพะเนิน

ความรันทดเศร้าสลดของชาวบ้านผู้เติบใหญ่ด้วยมีภูเขาเลี้ยงดู เป็นที่มาให้เหล่าคนสู้เหมืองปรับขบวนรบ

หันหัวเรือเข้าสู่สังเวียนการต่อสู้ในกระบวนการศาลยุติธรรม…จนได้รับชัยชนะในที่สุด

“กูจะกลับมาเอาคืนให้หมด” เสียงประกาศกร้าวเป็นคำพูดที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ได้ยินทั่วกัน ในวันที่หัวใจอันแห้งผากของคนสู้เหมืองกำลังชุ่มชื่นเบ่งบานขณะเดินลงมาจากศาลปกครอง

สองวันต่อมา…ภรรยากำนันทองม้วน เข้าปัดกวาดที่เก็บร่างและแจ้งข่าวชัยชนะของกลุ่มอนุรักษ์แก่สามีผู้วายชนม์ ที่ป่าช้าข้างภูผา

มีนาคม 2566 วันนี้ผู้พรากลมหายใจ 4 วีรชนคนสู้เหมืองยังคงลอยนวล

dongmafai10
dongmafai11
dongmafai12
dongmafai13

ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา”

17 กุมภาพันธ์ 2566…

3 ทศวรรษ บนสังเวียนการต่อสู้เรียกร้องและความสูญเสียของชาวบ้าน

หญิงสาวร่างบอบบางแต่อัดแน่นด้วยพลังนักสู้ ผู้นำชาวบ้านและสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ร้อยกว่าคน แสดงจุดยืนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่ม

ทุกคนเรียกเธอว่า “อร-มณีนุด อุทัยเรือง”

เธอคือเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ หนึ่งในเด็กหลายคนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตะกระเด็นตกลงไปในคลองน้ำและดงหนามไมยราบ 23 ปี ผ่านไป เธอคือลูกหลานกลุ่มอนุรักษ์ผู้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนคนสู้เหมืองตามรอยนักสู้รุ่นบุกเบิก

เธอคือผลผลิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น…

วันนี้เด็กหญิงผู้แหวกดงหนาม ก้าวขึ้นมาจากคลองน้ำ กำลังนำพาพ่อๆ แม่ๆ นักสู้แห่งดงมะไฟ ทุกเพศวัย ตะโกนประกาศก้องไปทั่วศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา

ปิดเหมืองหิน ฟื้นฟู ภูผา ป่าไม้

พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว”