๏ คุกเข่าซ่นติดเข้า    เข่าขยาย
มือประทับกับเพลาหมาย     มุ่งฟ้า
ขัดขาขัดคอหาย     ห่างเมื่อย ลงแฮ
โรมสิงค์สิทธิศักดิ์กล้า     กล่าวนี้นามขนานฯ

พระพุทธโฆษาจารย์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (23) โรมสิงค์

(ถอดความ) ท่านั่งคุกเข่า ส้นเท้าชิดติดกัน เข่าแยกแบะออก วางฝ่ามือไว้ที่หน้าขา แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า ใช้บรรเทาอาการขัดขา ขัดคอ คลายปวดเมื่อย ท่านผู้นี้คือฤๅษีโรมสิงค์

ฤๅษีโรมสิงค์ หรือมหาโรมสิงค์ มาจากบทละคร “รามเกียรติ์”พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ตอนกำเนิดนางมณโฑ จับความว่ายังมีฤๅษีสี่ตน นามว่าอตันตา วชิรา วิสูต และมหาโรมสิงค์ ปลูกบรรณศาลาเคียงกันอยู่ที่เชิงผาหิมพานต์ บำเพ็ญตบะมาได้ ๓ หมื่นปี ทุกเช้ามีฝูงแม่โค ๕๐๐ ตัว มาหยดน้ำนมใส่อ่างแก้วถวายไว้ ฤๅษีมาฉันน้ำนมเมื่อใดก็มักป้อนให้นางกบตัวหนึ่งกินด้วยเสมอ

วันหนึ่งเมื่อฤๅษีทั้งสี่ออกป่าหาผลไม้ พบนางนาคสมสู่อยู่กับงูดิน จึงเอาไม้เท้าเคาะสะกิดให้นางสำนึกตนว่าเป็นถึงนาคราช มีชาติตระกูล ไม่สมควรกระทำเยี่ยงนี้ นาคีผูกใจเจ็บ ย้อนไปคายพิษไว้ในอ่างน้ำนม หวังสังหารหมู่บรรดานักพรต นางกบแอบเห็นเข้า ด้วยความกตัญญูรู้คุณที่ฤๅษีให้ทานน้ำนมกินทุกวัน จึงกระโจนลงพลีชีพในน้ำนมเจือพิษ

ครั้นฤๅษีกลับมาเห็นซากนางกบลอยตายอยู่ จึงชุบชีวิตขึ้นมาไต่ถาม ว่าเหตุใดหนอนางกบเธอจึงตะกละตะกรามเช่นนี้ เมื่อได้ทราบความจริง พระสิทธาทั้งสี่จึงตอบแทนความความกตัญญูนั้น ด้วยการร่วมกันประกอบพิธีชุบนางกบให้กลายร่างเป็นหญิงผู้งามกว่าใครในโลกหล้า พร้อมกับขนานนามเสียใหม่ว่านางมณโฑ ภายหลังได้เป็นชายาของทศกัณฐ์ เจ้ากรุงลงกา

๏ เมื่อนั้น
พระมหาดาบสทั้งสี่
ได้ฟังมณฑกพาที
ยินดีแล้วปรึกษากัน
ชะรอยนางนาคีซึ่งทุจริต
มาคายพิษจะให้เราอาสัญ
นางกบสู้เสียชีวัน
หาไม่เรานั้นจะบรรลัย
อย่าเลยจะชุบขึ้นเป็นหญิง
จะจัดสิ่งที่งามประสมใส่
ให้สิ้นโฉมนางฟ้าสุราลัย
เลิศล้ำกว่าไตรโลกา
ว่าแล้วตั้งกูณฑ์พิธี
อาหุดีเพลิงแรงแสงกล้า
ศรเหลืองเรืองโรจน์โชติฟ้า
พระดาบสเข้านั่งทั้งสี่ทิศ
โอมอ่านคาถามหาเวท
อันวิเศษสำหรับกระลากิจ
เอากบใส่กองเพลิงชวลิต
แล้วชุบด้วยฤทธิ์พระนักธรรม์ ฯ
๏ เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์
พระวิษณุรักษ์รังสรรค์
เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์
งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา ฯ


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ