อิสีสิงค์หน้ามฤค ฌานมอด ม้วยแฮ
สลบเพื่อนางฟ้ากอด ท่านนั้น
ฟื้นองค์ครั่นครางออด ขาไหล่ ขัดเอย
ยืนย่อบาทบีบคั้น เข่าทั้งโคนขาฯ

พระญาณปริยัติ

esisingh

(ถอดความ) อิสีสิงค์ผู้มีหน้าเป็นกวาง เสื่อมสูญญาณสิ้นจนสลบไปหลังจากถูกนางฟ้าสวมกอด เมื่อฟื้นขึ้นอีกครั้ง ท่านรู้สึกขาขัด ไหล่ขัด จึงยืนย่อขา พร้อมบีบนวดที่เข่าและโคนขา

เรื่องอิสีสิงค์/อิสิสิงคดาบส มีเล่าไว้ในคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ว่าท่านเป็นผู้มีฌานบารมีแก่กล้าจนพระอินทร์เกรงว่าต่อไปภายภาคหน้าอาจกลายมาเป็นคู่แข่งแย่งชิงบัลลังก์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงวางแผนให้นางอัปสรชื่ออลัมพุสา ลงไปทำลายตบะ

อิสิสิงคดาบสเกิดและเติบโตมากับบิดาเพียงลำพังในป่า ทั้งชีวิตไม่เคยพบอิสตรีใด เมื่อแลเห็นนางอลัมพุสาจึงเกิดพิศวงว่านี่คือตัวอะไรหนอ เหตุไฉนจึงมีรูปร่างงดงามเยี่ยงนี้ ครั้นเมื่อนางอลัมพุสาถลาเข้ากอด อิสิสิงคดาบสช็อค แล้วเลยสูญสิ้นฌานที่สั่งสมมาตลอดชีวิตสลบหมดสติไป

โคลงบทนี้จับความตอนเมื่ออิสิสิงคฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง รู้สึกปวดยอกร่างกายอย่างยิ่ง หลังจากนอนแน่นิ่งมาสามปีเต็ม จึงใช้ท่านี้ดัดตนบรรเทาอาการ

น่าสังเกตว่า เรื่องอิสิสิงคดาบสจาก “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” นี้เอง ดูเหมือนเป็นต้นเค้าที่ถูกต่อเติมดัดแปลงให้เป็นเรื่องของฤๅษีตนอื่นๆ ในชุดฤๅษีดัดตนด้วย เช่นนาม “อิสีสิงค์” ซึ่งปรากฏว่ามีฤๅษีอีกตนหนึ่งที่ใช้ชื่อคล้ายๆ กันนี้ คือ “อิสีสิงห์” รวมถึงเรื่องว่ามีฤๅษีผู้ถูกล่อลวงด้วยมารยาหญิงให้เสื่อมถอยจากพรหมจรรย์ ก็ยังเป็นไปในลักษณะเดียวกับฤๅษีกไลโกฏ จากเรื่อง “รามเกียรติ์” อีก

ในตำราภาพฤๅษีดัดตน ช่างวาดรูปนางอัปสรอลัมพุสา นั่งประนมมืออยู่ข้างๆ ฤๅษีอิสีสิงค์ด้วย ตรงตามที่เล่าไว้ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ว่าเมื่ออิสีสิงคดาบสฟื้นตื่นขึ้นหลังจากเวลาสามปีผ่านไป นางอลัมพุสาจึงมาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง แล้วอธิบายเป็นทำนองขออภัยโทษและขอความเห็นใจ ว่าเธอเองตระหนักดีว่าการทำลายตบะของนักพรตย่อมเป็นบาปมหันต์ หากแต่จำใจลงมาปฏิบัติภารกิจ ด้วยไม่อาจขัดคำสั่งพระอินทร์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือหัว นางยังกล่าวด้วยว่า “พระผู้เป็นเจ้าประมาทไปแล้ว หารู้องค์ว่าประมาทไม่”

แปลง่ายๆ คือ “เรื่องนี้หลวงพี่เองก็มีส่วนผิดด้วยนะเจ้าคะ!”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ