๏ เพ็ชโองการย่อเท้า เบื้องขวา ยืนเฮย เท้าหนึ่งยกยันขา กดเส้น หัตถ์หนึ่งเหนี่ยวอังสา นิ้วรีด เส้นแฮ กรหนึ่งกุมศอกเคล้น ไหล่เท้าลมถอยฯ
พระสมบัติธิบาล
(ถอดความ)ฤๅษีเพ็ชโองการ ยืนย่อขาข้างขวา ยกเท้าซ้ายขึ้นยันกดเส้นของขาขวา มือข้างหนึ่งเหนี่ยวไหล่ ใช้นิ้วรีดเส้น อีกมือหนึ่งกุมข้อศอก นวดเฟ้นรีดลมให้ออกไป
แม้ยังค้นไม่พบที่มาของนามฤๅษีตนนี้ว่ามาจากวรรณคดีเรื่องใด แต่คำว่า “เพ็ชโองการ” ชวนให้นึกถึงอีกชื่อหนึ่งในคติชาวบ้านไทยคือ “เพ็ชฉลูกัน” หรือ “เพชรฉลูกัณฑ์” ซึ่งเป็นภาษาปากที่เรียกเพี้ยนมาจากชื่อ “พระวิสสุกรรม” หรือ “พระพิษณุกรรม” เทวดาผู้เป็นนายช่างเอกของพระอินทร์ เป็นที่นับถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นครูใหญ่ของช่าง ออกนามว่า “ครูเพชรฉลูกัณฑ์”
นอกจากนั้นแล้ว ทางฝ่ายดนตรีนาฏศิลป์ไทยยังผนวกเอาพระวิสสุกรรมหรือครูเพชรฉลูกัณฑ์ ให้เป็นครูบาอาจารย์ในทางขับร้องลำนำและเป็นเทพผู้สร้างเครื่องดีดสีตีเป่าอีกองค์หนึ่ง ถึงขนาดตั้งเศียรในพิธีไหว้ครูครอบครูด้วย
ไปๆ มาๆ ตอนหลัง ครูเพชรฉลูกัณฑ์ยังถูกคนไทยจับ “บวช” ให้เป็นฤๅษีไปอีกตน อาจเพราะคตินิยมที่นับถือเอาฤๅษีเป็น “ครู” หรือเป็นต้นตำรับวิชาต่างๆ สมัยนี้จึงมี “ฤๅษีเพชรฉลูกัณฑ์” เป็นหนึ่งในบรรดาฤๅษี ซึ่งท่านผู้สนใจในทางไสยเวทวิทยาจะเอ่ยออกนามเมื่อตั้งเครื่องสังเวยบูชา
บางที นาม “เพ็ชโองการ” ของฤๅษีตนนี้ในโคลงภาพฤๅษีดัดตน อาจ “เพี้ยน” มาจากชื่ออื่น ด้วยฝีปากคนไทยอีกกระมัง ?
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ