๏ สิทธิกรรมนั่งหน่วงเท้า      ไขว่คอ
หลังขดคู้ตัวงอ      งูบง้ำ
ตึงตลอดสอดมือพอ     ชโลงเข่า ไว้แฮ
แก่กล่อนแห้งกล่อนน้ำ     กล่อนเส้นกล่อนกษัยฯ

พระยาราชมนตรีบริรักษ์

ฤๅษีสิทธิกรรมนั่งเอาเท้ามาพาดคอ พร้อมกับทำตัวงอ พลางเอามือพยุงรั้งเข่าไว้ ท่านี้ใช้แก้ได้ทั้งกล่อนแห้ง กล่อนน้ำ กล่อนเส้น และกล่อนกษัย

(ถอดความ)ฤๅษีสิทธิกรรมนั่งเอาเท้ามาพาดคอ พร้อมกับทำตัวงอ พลางเอามือพยุงรั้งเข่าไว้ ท่านี้ใช้แก้ได้ทั้งกล่อนแห้ง กล่อนน้ำ กล่อนเส้น และกล่อนกษัย

น่าสังเกตว่ามีฤๅษีจำนวนหนึ่งใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ซึ่งมีที่มาจากตำราคชศาสตร์คชกรรม หรือตำราช้าง เช่นกลุ่มที่พบนามในหนังสือ “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” ซึ่งมีเนื้อหาที่มิได้ตรงกับทศอวตารของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ตามคติฮินดูอินเดียนัก แต่ส่วนใหญ่กลับให้ความสำคัญแก่การอธิบายต้นกำเนิดวิชาคล้องช้างและบังคับช้าง มากกว่า

ดังได้กล่าวมาแล้วเมื่อเล่าถึงฤๅษีไชยาทิตย์/ไชยาทิศ ว่ามีราชทินนามคู่กันของข้าราชการสองคนในตำแหน่งที่เนื่องด้วยเรื่องช้าง คือขุนศรีไชยาทิตย์ กับขุนสิทธิกรรม นามทั้งคู่นี้น่าจะมีที่มาจากนามของพระฤๅษีสองตน หากแต่ในขณะที่ยังค้นไม่พบเรื่องราวของไชยาทิศ ทว่ากลับปรากฏหลักฐานของฤๅษีสิทธิกรรมชัดเจน ดังมีภาพวาดฤๅษีสิทธิกรรมรวมอยู่ในหนังสือ “ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์”

แต่น่าแปลกว่า เมื่อไปปรากฏตัวขึ้นในตำราช้าง พระฤๅษีตนนี้กลับกลายเป็น “ฤษีสิทธิพระกรรม” บริวารเบื้องซ้ายของพญาเทพกรรม ตามที่ปรากฏใน “ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑” ซึ่งขยายความว่าพญาเทพกรรมเป็น “เทพเจ้าผู้มีสิทธิอำนาจในเรื่องช้าง บางตำราเรียกว่า เทพกรรม หรือพระกรรมบดีก็มี จัดเป็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากพระพิฆเนศวรและพระโกญจนาเนศวร…มีรูปเป็นเทวดาอยู่ในท่านั่งสมาธิราบบนอาสนะ มี ๖ กร…มีฤษีเป็นบริวาร ๒ ตน คือ ฤาษีทรภาศเทพกรรม หรือธรรมเทพ และฤษีสิทธิพระกรรม”

นามของฤๅษีบริวารของพระเทพกรรมทั้งคู่ บางครั้งเรียกย่อๆ ว่า ฤๅษีทรพัตกับฤๅษีกรรม เช่นที่ไปปรากฏนามร่วมกับเทวดาต่างๆ ในชุดเทวดา ๒๖ พระองค์ซึ่งสถิตอยู่ทั่วกายหัตถิเทพ (เทวดาช้าง) อันมีนามว่า “มาตังคกรีเทพ” (ดูในหนังสือ “หอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาและภูมิปัญญาไทยในวัดโพธิ์”ของ ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต)


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ