๏ วรเชษฐแปลงเปลี่ยนข้อ   ลิขิตสาร
พระรทเรื่องโบราณ   บอกแจ้ง
ไสยาศน์เหยียดเครียดปาน   ฉุดชัก ไว้แฮ
แก้โรคไออกแห้ง   เหือดให้เห็นคุณฯ

พระเพ็ชรชฎา

ตามรอยฤๅษีดัดตน (27) - วรเชษฐ

(ถอดความ) ฤๅษีวรเชษฐ ผู้แปลงข้อความในสาส์นตามท้องเรื่อง “พระรถ” อันมีมาแต่โบราณ ท่านนอนเหยียดร่าง เหมือนกับถูกฉุดดึงกายไว้ ท่านี้ใช้แก้โรคไออกแห้ง

“พระรถเสน” เป็นหนึ่งในเรื่องชุดปัญญาสชาดกที่รู้จักกันดี โดยทั่วไปเรียกกันว่า “พระรถ-เมรี” หรือ “นางสิบสอง”

ความตอนนี้มีว่า พระรถเสนกุมารถูกนางยักษ์ที่เป็นแม่เลี้ยง หลอกให้ถือจดหมายไปยังเมืองของนางเมรี ธิดายักษ์ ข้อความเดิมมีว่า “ถึงกลางวันให้กินกลางวัน ถึงกลางคืนให้กินกลางคืน” คือหลอกให้พระรถเสนไปเป็นภักษาหารของพวกยักษ์นั่นเอง

ระหว่างทาง พระรถเสนแวะพักนอนหลับใกล้อาศรมฤๅษี ฤๅษีแอบเปิดดูจดหมายที่ผูกคอม้าไว้ เกิดสงสาร จึงแปลงความเสียใหม่ เป็น “ถึงกลางวันให้แต่งกลางวัน ถึงกลางคืนให้แต่งกลางคืน” คือให้พระรถเสนอภิเษกกับนางเมรีทันทีที่ไปถึง

ในเรื่อง “พระรถ-เมรี” ที่แพร่หลายทั่วไป ดูเหมือนจะมิได้ออกนามฤๅษีตนนี้ไว้ แต่โคลงบทนี้บอกเราว่า ท่านมีนามว่า “วรเชษฐ”

สำนวนไทย “ฤๅษีแปลงสาร” ที่ใช้กันในความหมายว่า เปลี่ยนข้อความเดิมให้มีความหมายตรงกันข้าม จึงมีที่มาจากฤๅษีวรเชษฐนี่เอง

นอกจากนั้น “ฤๅษีแปลงสาร” ยังเป็นชื่อ “กลอักษร” ของโบราณชนิดหนึ่ง มีตัวอย่างอยู่ในตอนท้ายตำรา “จินดามณี” ของพระโหราธิบดี กลอักษรนี้เป็นการเรียงสลับอักษรแต่ละคำ เอาหลังมาไว้หน้า กลับหน้าไปอยู่ข้างหลัง ดังเช่นตัวอย่าง

๏ กอัรษรวณษกลันวล้ งลพเลพา
อชื่ษีฤๅงลปแรสา บสืว้ไ
ดลัผนยลี่ปเนยพี้เนอลกรกา ยลากบลัก
นสหท่เหล่เบลัห้ใ นอ่านล้หเนปเมษกเ

ถอดกลับเป็นโคลงได้ว่า

๏ อักษรวรลักษณล้วน   เพลงพาล
ชื่อฤๅษีแปลงสาร สืบไว้
ผลัดเปลี่ยนเพี้ยนกลอนการ กลายกลับ
สนเท่หเล่หลับให้ อ่านเหล้นเปนเกษม


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ